ถอดสูตร “ปัญจวัฒนาพลาสติก” “เน็ตซีโร่” ต้องติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก

ถอดสูตร “ปัญจวัฒนาพลาสติก” “เน็ตซีโร่” ต้องติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก

“ไทยกำลังอยู่จุดเปลี่ยนผ่าน ขณะนี้โลกเปิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังอยู่จุดเดิม ตีกรอบสิ่งที่ทำ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ รวมถึงทั้งประเทศด้วย”

รายการ SUITS Sustainability ถอดดสูตรความสำเร็จซีอีโอ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วิวรรธน์ เหมมณฑารพ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW หนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของไทย โดยบริษัทได้รับประเมินหุ้นยั่งยืนของตลาดหลกทรัพย์แห่งประเทศไทย ESG Rating “A” ปี 2566

สำหรับปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์พลาสติก 4 กลุ่ม ประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น, บรรจุภัณฑ์นมและนมเปรี้ยว, บรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำยาเคมี และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยการดำเนินธุรกิจให้ความสำคัญกับความยั่งยืนครอบคลุมใน 3 มิติประกอบด้วย 

1.มิติสังคม โเน้นความปลอดภัยและชีวอนามัยที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงมีการฝึกอบรมพนักงาน การพัฒนาและมสวนรวมกับชุมชน เพื่อสร้างความพึงพอใจชุมชน และมากกว่า 80% ของพนักงานในโรงงานเป็นคนในพื้นที่

2.มิติสิ่งแวดล้อม เน้นการจัดการพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณการใช้น้ำ การจัดการของเสีย รวมถึงการบำบัดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่ Zero Waste

3.มิติเศรษฐกิจ เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ดีพัฒนากลยุทธ์การเติบโตอย่างมีคุณภาพร่วมกับคู่ค้าผ่านการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงความยั่งยืน

“วิวรรธน์” ให้คำอธิบายเทรนด์ความยั่งยืนทำให้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเป็น ”ผู้ร้าย“ ว่า ปัจจุบันวัสดุหลักที่ผลิตแพคเกจจิ้ง ได้แก่ แก้ว กระดาษ โลหะ (อลูมิเนียม, เหล็ก) และพลาสติก ซึ่งมีข้อดีข้อเสียและหน้าที่ต่างกัน โดยหน้าที่พื้นฐานคือเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยและรักษาอายุการใช้งาน

ทั้งนี้ วัสดุแต่ละประเภทเดิมออกแบบว่าเหมาะกับงานแบบใดและต้นทุนเท่าใด แต่ปัจจุบันประเด็นสิ่งแวดล้อมสำคัญและต้องนำมาพิจารณาเพราะวัสดุบางต้นทุนถูกแต่อาจมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูง

“ในอดีตปุ๋ยเคยใช้บรรจุภัณฑ์เป็นแก้ว เพราะต้นทุนถูกกว่าพลาสติกเกรดพิเศษที่ป้องกันการกัดกร่อนของสารเคมีได้ แต่แก้วไม่สะดวกเมื่อนำมาใช้งานจริง ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับเกษตรกร ขณะที่พลาสติกราคาแพงแต่ก็มีปัญหาการรีไซเคิล”

สุดท้ายเป็นกระบวนการปลายทางที่แต่ละอุตสาหกรรมต้องแข่งขันกัน ทั้งแก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก ในการดูแลตลอดวงจรซัพพลายเชน ด้วยทฤษฎี ‘Circular Economy’ หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรปริมาณเท่าเดิมแต่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2 เท่า ด้วยการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ อาทิ การวิจัยวัสดุใหม่ โลจิสติกส์ การรีไซเคิล

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องเริ่มจากกระดุมเม็ดแรกก่อน คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่จะผลิตใหม่ (Re-design) โดยย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แกลลอนน้ำมันเครื่องบรรจุ 5 ลิตร มีน้ำหนัก 300 กรัม หรือ 3 ใบ 1 กิโลกรัม ด้วยแนวคิดออกแบบให้แข็งแรงทนต่อการขนส่ง แต่ปัจจุบันพัฒนาเทคโนโลยีเม็ดพลาสติกและการออกแบบทำให้ใช้เนื้อพลาสติกน้อยลง 40% หรือน้ำหนักถังอยู่ที่ 5 ใบ 1 กิโลกรัม แต่แข็งแรงเหมือนเดิม

กระบวนการถัดมา คือ “การรีไซเคิล” เริ่มที่การรีไซเคิลของเสียในกระบวนการผลิต โดยนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดของเสีย และสุดท้ายคือการนำกลับมาใช้ใหม่ (Re-use) บางอย่างนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่บางอย่างยังไม่คุ้มค่า เช่น พลาสติกที่ใช้กับอาหารที่ยังกังวลความปลอดภัยและความสะอาด ส่วนนี้ก็จะเป็นพลาสติกใช้แล้วที่นำกลับมารีไซเคิลได้

ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีโครงการจัดเก็บขยะพลาสติกบริเวณคลองเตยที่มีขยะมาก โดยใช้แอปพลิเคชันติดต่อรับซื้อ-ขาย รวมทั้งใช้วางแผนกำหนดเส้นทางโลจิสติกส์สำหรับรถที่เข้าไปเก็บพลาสติกส่งโรงงาน ซึ่งพลาสติกที่เก็บได้นำมาทำถนนแทนยางมะตอยได้ ซึ่งได้หารือกระทรวงคมนาคมกำหนดสเปควัสดุสร้างถนน โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“การเปลี่ยนมาผลิตแบบ Circular ต้องพร้อมทั้งเครื่องจักร กระบวนการออกแบบและคุณสมบัติของวัตถุดิบ ซึ่งแต่ละส่วนต้องพัฒนาพร้อมกัน“

การนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อใช้แทนยางมะตอยจะเป็นการสร้างวัสดุใหม่ที่อยู่ถาวรโดยไม่สร้างขยะใหม่ และมีความยุ่งยากน้อย แต่ทำให้มูลค่าเพิ่มจากการรีไซเคิลต่ำ ไม่เหมือนการรีไซเคิลแล้วเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วมีหลายวิธีขึ้นกับการคำนวณต้นทุนและค่าเสียโอกาส

ทั้งนี้ การใช้พลาสติกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้สินค้าบางอย่างพยายามเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษ แต่มีข้อจำกัดการใช้งานบางอย่าง โดยบริษัทนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยคงความสะดวกสบายและการใช้งาน

สำหรับการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ของบริษัทโฟกัสที่การลดในกระบวนการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าน้อยลงใช้น้ำน้อยลง และมีของเสียน้อยลง แต่กระบวนการผลิตพลาสติกยังสร้างคาร์บอนฟุตปริ้นท์ 

“เราให้ความสำคัญตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก เพื่อลดการสร้างคาร์บอนตั้งแต่ต้นทาง คือ การออกแบบใหม่ ลดใช้ทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ยังประหยัดต้นทุนด้วย ทำให้คาร์บอนที่ส่งต่อให้ลูกค้าต่ำที่สุด”

จุดแข็งของบริษัทอยู่ที่ความชำนาญในการผลิตระดับอุตสาหกรรมด้วยระบบ TPM: Total Productive Maintenance ซึ่งเป็นแนวความคิดที่กำหนดวัฒนธรรมองค์กร ทั้งในการดูแลคน เครื่องจักรและการผลิตที่ใส่ใจคุณภาพ 

“ทุกวันนี้ภาคธุรกิจพูดถึงความยั่งยืนตลอดเวลา เรามองว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่เป็นความสมดุลของผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทั้งลูกค้า สังคม ซัพพลลายเออร์ พนักงาน ผู้ถือหุ้น โดยบริษัทเติบโตควบคู่ความยั่งยืน”

นอกจากนี้ กำลังพัฒนาสายการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ อาทิ กระปุกให้ความชื้น (Oxygen Humidifier) อยู่ในกระบวนการขอใบอนุญาต อย. ผลิตภัณฑ์ โดยขายเชิงพาณิชย์ครึ่งหลังปี 2567 รวมทั้งวางแผนว่าตั้งแต่ปี 2567 บริษัทจะเติบโต 15% จากปกติขยายตัว 10% จากกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์และซักรีด รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จะรุกตลาดไทยและในอาเซียน

“ไทยกำลังอยู่ในจุดการเปลี่ยนผ่าน ขณะนี้โลกเปิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายังอยู่ในจุดเดิม ตีกรอบสิ่งที่ทำธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ รวมถึงทั้งประเทศด้วย”