NRF ชี้ SDGs + BCG หนทางดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

NRF ชี้ SDGs + BCG หนทางดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

NRF ชี้ หนทางดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สู่ Race to Net Zero ภาคธุรกิจ ต้องตอบโจทย์ SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 Climate Action และเป้าของ BCG ชู Sustainable Value Chain สร้างความยั่งยืน ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

 

แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) กล่าวในช่วงเสวนา Panel Discussion: BCG MODEL : Key Success to Sustainable ภายในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า นโยบาย BCG เป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาประเทศไทยเป็นปัญหาคล้ายๆ กับหลายประเทศที่กำลังพัฒนา ในปี 2030 เป็นเป้าใหญ่ของ SDGs ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้แต่ละประเทศไปสู่เป้าเดียวกัน และให้แต่ละบริษัทไปสู่เป้านั้นด้วย ในแนวทางที่สอดคล้องกัน

 

ตอนนี้เส้นทางการเดินไปถึงจุดนั้น ใกล้ปี 2030 เรายังไปไม่ถึง 50% ของเป้า เราขาดการลงทุน 4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน BCG หากดูแนวทางการพัฒนาแต่ละประเทศ หากดูแต่ละเศรษฐกิจที่กำลังมุ่งเน้นเป้าใหญ่ที่สุด คือ Race to Net Zero ซึ่งในส่วนของ BCG อาจจะขาดความแม่นยำในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

 

NRF ชี้ SDGs + BCG หนทางดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

 

 

“แม้ว่าเราจะต้องการ Science , Technology และ Innovation แต่เงินตอนนี้อยู่ Green Finance ไม่ว่าประเทศจีน เกาหลี และหลายๆ ประเทศมุ่งสู่สิ่งแวดล้อมเป็นกุญแจสำคัญ ดังนั้น มองว่าหากเราเติมเรื่องของ E (Environment) ได้จะดี หากประเทศไทยก้าวหน้าเรื่อง SDGs เป้าหมายที่ 13 เรื่องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเป้าของ BCG มองว่าจะดึงดูดการลงทุนในต่างประเทศไหลเข้ามา”

 

ยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับ NRF วางแผนห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ปี 2018 นับเป็นบริษัทแรกที่เซ็น Race to Net Zero ขณะเดียวกัน การเป็น Business Model ที่เป็นแนวดิ่งนับเป็นความท้าทาย ‘แดน’ เล่าว่า เรามีต้นน้ำที่เป็นภาคการเกษตร กลางน้ำคือ อุตสาหกรรมการผลิต และปลายน้ำคือ การลงทุนอีคอมเมิร์ซ และร้านค้าปลีก ที่อังกฤษ เพื่อลดต้นทุนในการกระจายสินค้า พยายามทำให้เป็น Sustainable Value Chain

 

NRF ชี้ SDGs + BCG หนทางดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็มาติดกับดักที่ ต้นน้ำ คือ ภาคการเกษตร ตอนนี้จึงมีลงทุนสตาร์ตอัปหลายบริษัทในต่างประเทศ และสิ่งที่เจอคือ อุปสรรคทางเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่อาจจะยังทำไม่ได้ นำมาซึ่งการเริ่มโครงการ Biomass ที่ภาคเหนือ ร่วมกับเกษตรกรทั้งอยู่ และไม่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน 1 หมู่บ้าน 200 กว่าครัวเรือน โดยนำของเหลือจากการเกษตรที่จะต้องเผา มาแปรรูปด้วยกระบวนการที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือปล่อยน้อยมากเพียง 1% และสิ่งที่ได้ คือ Biocarbon ฝังในไร่การเกษตร สิ่งที่จะได้ คือ Carbon Removal Certificate โดย 1 หมู่บ้าน คาดว่าจะสามารถสร้าง Carbon Remover Certificate ราว 4,200 เครดิต เท่ากับ 1 โรงงานขนาดเล็กของ NRF และคาดว่าจะสามารถเข้าสู่ Net Zero ได้ อีกทั้ง ยังทำให้ผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น 30% ภายใน 3 ปี เพราะศักยภาพของดินเก็บน้ำได้ดีขึ้น เป็นเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ และหากหมู่บ้านสำเร็จก็จะมีการกระจายไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ

 

“ทั้งนี้ ข้อเสนอภาครัฐ ยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลี ซึ่งเขามีกลยุทธ์ภาพใหญ่ คือ Green Growth เพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร และใช้อุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ของเกาหลี ต่อสู้โลกร้อน ในปี 2020 โดยมีการพูดถึงเอไอ อีวี เทคโนโลยีทั้งหมดที่จะต่อสู้โลกร้อน ขณะเดียวกัน งบของรัฐบาลลงทุนใน Green Plan ราว 2% ของ GDP เป็นการลงทุน และโฟกัสในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ในอีโคซิสเต็ม และการร่วมเอกชน เป็นโมเดลที่น่าสนใจ ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนได้เพราะเป้าเขาชัดมาก” แดน กล่าว

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์