'บีไอจี' แนะ 3 แผนมุ่งสู่ความยั่งยืนชู 'ไฮโดรเจน' ตัวเลือกสำคัญ

'บีไอจี' แนะ 3 แผนมุ่งสู่ความยั่งยืนชู 'ไฮโดรเจน' ตัวเลือกสำคัญ

"บีไอจี" ชี้ปัญหา "Climate Change" สำคัญ แนะ 3 แผน สู่ความยั่งยืนชู "ไฮโดรเจน" ตัวเลือกสำคัญ ผสานความร่วมมือทุกภาคส่วน สร้างอีโคซิสเต็ม หนุนเป้า Net Zero

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวในงาน “SUSTAINABILITY FORUM 2024”  ในหัวข้อ "ถอดสูตรธุรกิจ สู่ความยั่งยืน Digital Innovation for Sustainability" จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า บีไอจี เป็นบริษัทในเครือแอร์โปรดักส์ (Air Products) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม  

ทั้งนี้ เมื่อพูดเรื่องเป้าหมายความยั่งยืน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบทุกภาคส่วน ซึ่งทุกคนบอกว่ามาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทุกองค์กรต่างพยายามตั้งเป้าหมาย เงื่อนไข และเวลาในการกำหนดเป้าหมายสู่ Net Zero

ล่าสุด บีไอจี ได้ร่วมแชร์เทคโนโลยีผ่านเวที COP28 ซึ่งปีนี้ได้เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญอีกเรื่องคือ เรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งยิ่งทำมากก็ยิ่งมีค่าใช้จ่าย แน่นอนว่าการทำธุรกิจจึงมีต้นทุน แต่อีกข้างที่บีไอจีมองคือ โอกาส ผ่าน 3 แผนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งต้องนำมาเพื่อความเติบโตขององค์กร ต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องมาสู่โอกาสที่ได้ดูแลสังคม และมีความปลอดภัย ดังนั้น หากตอบโจทย์ 3 เรื่องจะสร้างความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ได้เกิดมาหลายทศวรรษ ที่เปลี่ยนจากไม้เป็นฟืน มาถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเกิดภาวะโลกร้อน จึงต้องเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดเป็นพลังงานสะอาด และอีกหลายเทคโนโลยี ซึ่ง บีไอจีจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

 

ทั้งนี้  บีไอจี ได้นำ เอาเทคโนโลยี Climate Technology มาช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนวัตกรรม อาทิ เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน Carbon Capture and Storage : CCS, ไฮโดรเจน ซึ่งใช้ในรูปของพลังงาน, ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำมาให้ผู้บริโภคได้ใช้ และยั่งยืน และการนำเอา ไบโอ เซอร์คูลาร์ กรีน มาเป็นไบโอเบส ให้ง่ายขึ้น ซึ่งบีไอจีตั้งเป้า Net Zero ปี ค.ศ.2050 ปัจจุบันลดได้แล้ว 25% 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ 1.การลงมือทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ 2.ลงมือแล้วต้องทำให้ใหญ่ เพราะต้นทุนพลังงานสะอาดยังแพง และ 3.ทำเป็นคนแรก ดังนั้น บีไอจีจึงต้องทำโดยสิ่งที่ทำคือ ไฮโดรเจน ซึ่งขณะนี้ได้ทำในรูปแบบพลังงาน เป็นเชื้อเพลิงให้กับยานยนต์ เครื่องบิน อุตสาหกรรมเหล็ก และเคมี ที่ต้องใช้พลังงานสูง

นอกจากนี้ การที่ไฮโดรเจนถือเป็นธุรกิจใหญ่ปัจจุบันมีการผลิตใช้ในต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา และไทยราว 3 ล้านตันต่อปี และมีแผนเพิ่มอีก 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนในไทยลงทุน 45 ล้านดอลลาร์  ซึ่งการลงทุนในอเมริกา จะใช้วิธีผลิตเป็นแอมโมเนียเพื่อขนส่งได้ทั่วโลก

"ในไทยเราสามารถทำคาร์บอนต่ำ 95% โดยร่วมกับกลุ่ม ปตท. โตโยต้า ลดการปลดปล่อยกำมะถัน เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของไทยที่ อ.บางละมุง โดยโตโยต้านำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) มาทดสอบใช้งานให้บริการรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี สำหรับนักท่องเที่ยว และผู้โดยสารในพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง และปีหน้าโตโยต้าจำนำรถบรรทุกมาใช้งานอีก 50 คัน" 

นายปิยบุตร กล่าวว่า อีกเทคโนโลยี คือ แพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ตรวจจับว่าภาคอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนปริมาณเท่าไร รวมถึงการตรวจจับการใช้พลังงาน วิธีการลดคาร์บอนในรูปแบบตามความเหมาะสมของธุรกิจ และซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มของบีไอจีได้ 

นอกจากนี้ ยังมีโปรดักต์ที่ออกร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยเดินเครื่องโรงงานแยกอากาศ (Air Separation Unit: ASU) ที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากที่ปัจจุบันพลังงานความเย็นจาก LNG ถูกปล่อยทิ้งโดยไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ สามารถผลิตก๊าซอุตสาหกรรมจากความเย็นจากกระบวนการแปรสภาพ LNG อาทิ ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน  จะลดคาร์บอนมากกว่า 50% รวมถึงยังร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ใช้ออกซิเจนช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 50% 

"บีไอจี จะทำคนเดียวไม่ได้ แต่จะทำเรื่องที่เชี่ยวชาญ นำความต่างของทุกคนมาร่วมกันสร้างอีโคซิสเต็ม เพื่อให้เกิด สโคป สเกล และสปีด ซึ่งเราทำกับทุกภาคส่วนทั้งภาคพลังงาน ภาครัฐ แม้แต่ภาคสตาร์ตอัป"

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์