“ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”เทรนด์ใหม่ ดีมานด์และซัพพลายที่เติบโตร่วมกัน

“ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”เทรนด์ใหม่    ดีมานด์และซัพพลายที่เติบโตร่วมกัน

“กิจกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว”ได้ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนหนึ่งของโจทย์ที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังขับเคลื่อนตัวเองเพื่อไปสู่ความยั่งยืน นำไปสู่เทรนด์ใหม่ ที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”

ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ 

ข้อมูลจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ระบุว่า  การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว ที่เป็นทางเลือกในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง เมื่อเทียบกับ การท่องเที่ยวแบบปกติ ในขณะที่นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่มีส่วนร่วม ในการลดโลกร้อน โดยยังคงไว้ซึ่งความสะดวกสบายและความสุขที่ได้รับจากการท่องเที่ยว

คาร์บอนที่เกิดจากการท่องเที่ยวนั้นมาจากการเดินทาง 75% แบ่งออกเป็น การเดินทางโดยเครื่องบิน 40 % การเดินทางโดยรถยนต์ 32% การเดินทางวิธีอื่นๆ 3%  บริการและกิจกรรมจากที่พัก 21% กิจกรรมต่างๆ จากการท่องเที่ยว 4% 

คาดการณ์ว่า ภายในปี 2578 ปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการท่องเที่ยว จะเพิ่มสูงถึง 130%  แต่หากเกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำคาดการณ์ดังกล่าวอาจกลายเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดได้ 

จิระวดี คุณทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในงาน GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S” จัดโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จากัด (มหาชน) (GC) ว่า ปัจจุบันเทรนด์ของโลกที่นักท่องเที่ยวต้องการการเดินทางแบบยั่งยืนสูงมากขึ้น เป็นจำนวน 69% ของนักท่องเที่ยวบนโลก 

โดย ททท. ได้มีโครงการมากมายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติตื่นตัวขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้เกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อมต่างๆรวมถึงเรื่อง“การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายในการส่งต่อความรู้เรื่องดังกล่าวในประเทศไทยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขาดสื่อและคอนเทนท์ที่เป็นความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับยุโรปที่มีความพร้อมมากกว่า แต่ททท.ได้มีการร่วมมือกับสื่อ เพื่อที่จะให้ความรู้กับคนไทยเรื่องของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และเปลี่ยนแปลงการพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคน

“ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”เทรนด์ใหม่    ดีมานด์และซัพพลายที่เติบโตร่วมกัน

นอกจากนี้มีการรณรงค์เรื่องของสิ่งแวดล้อมและสร้างมาตราฐานใหม่ให้กับการท่องเที่ยว โดยให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ Sustainable Tourism Goals ซึ่งสามารถให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้นรวมถึงสามารถประเมินตัวเองว่าอยู่ในระดับไหนในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

ขณะเดียวกัน เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวนั้น ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น  การใช้พลาสติกให้น้อยลง การใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น การใช้รถไฟฟ้าในการท่องเที่ยว  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันเพื่อลดคาร์บอนได้อย่างยั่งยืน

ชวาล คงทรัพย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด กล่าวว่า การจัดการพื่้นที่ได้นำแนวคิดการอยู่ร่วมกับป่าไม้ธรรมชาติและชุมชน เข้ามาส่วนร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชยางพารา และชาอู่หลง ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ รวมถึงพืชอื่นๆอีกมากมายเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางธรรมชาติ 

โดยสิงปาร์คมีหลักการดำเนินงานดังนี้ 1.ทำเพื่อสังคม 2.อยู่ได้ด้วยตัวเอง และช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนและเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยสิงปาร์คมีพื้นที่สีเขียว 5,000 ไร่และแหล่งน้ำ 1,000 ไร่ ที่เหลือเป็นป่าที่อนุรักษ์

 “การสร้างความหลากหลายของธรรมชาติ ควบคุมปัจจัยต้นทุนของการใช้พลังงานและปัจจัยการผลิต ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าในการนำนักท่องเที่ยวทำกิจกรรมต่างๆ และใช้งานในฟาร์ม ซึ่งพบว่าเป็นการลดต้นทุนและสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น” 

    ภาวิดา โวเวลส์ ผู้ร่วมก่อตั้งเบสแคมป์ เทรล โพรวิชั่น เบสแคมป์ เทรล ฮับ กล่าวว่า การท่องเที่ยวยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ส่งเสริมให้คนรู้จักประหยัดทรัพยากรและลดขยะในชีวิตประจำวันผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ก่อนต่อยอดไปสู่ภาพรวมของเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป 

ดีมานด์ต่อการท่องเที่ยวที่ยังยืนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเมื่อผู้ประกอบการเห็นประโยชน์ของการลดคาร์บอน ลดขยะ และลดต้นทุนได้ในที่สุด ก็เป็นเส้นกราฟสองฝั่งทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่จะเติบโตไปด้วยกันบนเส้นทางความยั่งยืน