พลาสติกรีไซเคิลสู่บรรจุภัณฑ์ สัมผัสอาหารได้ไหม?

พวกเราส่วนใหญ่คงเคยมีประสบการณ์กับอาหารและเครื่องดื่มสะดวกบริโภคกัน อย่างข้าวกล่อง ชานมไข่มุก หรือ น้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น ล้วนใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็น กระดาษ แก้ว และพลาสติก

 พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่นิยมใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มเป็นอันดับต้นๆ เพราะมีความแข็งแรง คงทน น้ำหนักเบา เก็บอาหารและเครื่องดื่มได้ดีโดยไม่เสียคุณภาพ และยังขึ้นรูปเป็นแบบต่างๆ ได้ง่าย ที่ผ่านมาเรานิยมขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากพลาสติกที่ผลิตขึ้นใหม่ หรือพลาสติกบริสุทธิ์ (virgin plastic) 

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีชีวิตใหม่ (new normal) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการทำงานที่บ้าน (Work from home) เพิ่มขึ้น รวมถึงร้านค้าเองมีมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อโรค 

ด้วยการงดใช้และให้บริการภาชนะของทางร้าน ปรับเปลี่ยนมาใช้ภาชนะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งมากขึ้น ส่งผลให้เกิดขยะจากพลาสติกในปริมาณที่เพิ่มสูงมาก

และด้วยความที่พลาสติกส่วนใหญ่มีความคงทน ย่อยสลายได้ยาก การกำจัดพลาสติกมักทำด้วยการเผาทำลายซึ่งมีส่วนเพิ่มแก๊สเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงเป็น “ภาวะโลกเดือด” ดังที่องค์การสหประชาชาติออกมาเตือนเมื่อไม่นานนี้

เพื่อลดปัญหาปริมาณขยะพลาสติกที่สูงขึ้น  เราอาจพยายามลดปริมาณขยะจากพลาสติกได้ด้วยหลักการ reduce-reuse-recycle  ตามหลักระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งหมายถึงการลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ 

ในกรณีบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มนั้น ด้วยปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ ทำให้การรีไซเคิลพลาสติกเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

ขั้นตอนในการรีไซเคิลพลาสติก จะเริ่มจากการล้างทำความสะอาดสารที่อาจปนเปื้อนออก แยกสี และบดให้เป็นเกล็ดหรือเม็ด และนำกลับไปขึ้นรูปเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆต่อไป เช่น การรณรงค์นำพลาสติกที่ใช้เป็นขวดน้ำมารีไซเคิลแล้วผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งกรณีนี้เราอาจไม่กังวล

แต่หากจะนำพลาสติกรีไซเคิล หรือพลาสติกที่แปรใช้ใหม่ (recycled plastic) มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่ม เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า พลาสติกเหล่านี้มีคุณภาพ ความปลอดภัยที่ดี ไม่มีสารตกค้างที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อพลาสติก ซึ่งอาจแพร่กระจายเข้าไปสู่อาหารหรือเครื่องดื่มที่บรรจุอยู่ภายใน ส่งผลลบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

พลาสติกรีไซเคิลสู่บรรจุภัณฑ์ สัมผัสอาหารได้ไหม?

ประเด็นการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารและเครื่องดื่มนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ของประเทศไทย  

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศกระทรวง ฉบับที่ 435 พ.ศ. 2565 เรื่องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก โดยประกาศดังกล่าวได้กำหนดภาชนะบรรจุอาหาร ไม่ว่าด้วยการใส่ หรือห่อ หรือ ด้วยวิธีใดๆ และรวมถึงฝาหรือจุกที่ทำจากพลาสติกบริสุทธิ์ และพลาสติกที่แปรใช้ใหม่ ครอบคลุมชนิดพลาสติกที่นิยมใช้ ถึง 13 ชนิด

โดยมีการกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน เช่น ความสะอาด การไม่มีจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรค และการไม่มีสารอันตรายที่แพร่กระจายออกมาในปริมาณที่มีผลต่อสุขภาพ โดยมีการกำหนดปริมาณที่ยอมให้แพร่กระจายสู่อาหารได้ เช่น

1) คุณภาพหรือมาตรฐานการแพร่กระจายทั้งหมดจากภาชนะไปสู่อาหารของพลาสติกจำนวน 13 ชนิด ปริมาณสูงสุดต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อตารางเดซิเมตร 

2) คุณภาพหรือมาตรฐานการแพร่กระจายโลหะหนัก จำนวน 19 ชนิด โดยกำหนดให้ต้องตรวจไม่พบโลหะบางชนิด หรือต้องมีปริมาณไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดขึ้นตามชนิดของโลหะ

3. คุณภาพหรือมาตรฐานการแพร่กระจายสารไพรมารีแอโรแมติกแอมีนส์  จำนวน 22 ชนิด โดยกำหนดให้ต้องตรวจไม่พบ (โดยมีขีดจำกัดในการตรวจวัด = 0.002 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)

จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มีการกำหนดปริมาณสารต่าง ๆ  ในพลาสติกในปริมาณที่ต่ำมากเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

หากพลาสติกรีไซเคิลมีคุณภาพตรงตามเกณฑ์ประกาศดังกล่าว ผู้บริโภคก็มั่นใจได้ว่าจะมีความปลอดภัยจากการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลนี้ ซึ่งทางเอกชนก็มีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก เกิดกระแสเมกะเทรนด์การใช้พลาสติกรีไซเคิลผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

พลาสติกรีไซเคิลสู่บรรจุภัณฑ์ สัมผัสอาหารได้ไหม?

เช่นในกรณีเครื่องดื่มอัดลมน้ำดำระดับโลก ที่เริ่มจำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุในขวดทำจากพลาสติกพีอีที รีไซเคิล (rPET 100%) เมื่อช่วงต้นปี 2566 ในประเทศไทย 

ด้วยความที่การกำหนดมาตรฐานตามประกาศนี้เป็นไปอย่างเข้มงวด นั่นคือพลาสติกรีไซเคิลต้องไม่มีหรือมีปริมาณสารอันตรายที่แพร่กระจายสู่อาหารได้ในระดับที่ต่ำมาก ๆ ทำให้การตรวจวิเคราะห์สารเหล่านี้ว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นสูงที่มีขีดจำกัดในการตรวจวัดต่ำมาก

เช่น การวัดปริมาณโลหะด้วยเครื่อง Inductively coupled plasma mass spectrometry (ICP-MS) การวัดสารไพรมารีแอโรแมติกแอมีนส์ ด้วยเครื่อง liquid chromatography-mass spectrometry (LC-MS) 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยชั้นสูง (TUCSEAR) ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบแก่บุคคลทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ได้เตรียมความพร้อมเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อให้บริการวิเคราะห์การทดสอบตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็น การระบุชนิดของพลาสติก การทดสอบเชื้อจุลินทรีย์ การทดสอบปริมาณโลหะหนัก การทดสอบสารประกอบต่างๆที่เป็นอันตราย หรือ อาจแพร่กระจายเข้าสู่อาหารได้ ซึ่งสามารถใช้ในการควบคุมคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคต่อไป 
   พลาสติกรีไซเคิลสู่บรรจุภัณฑ์ สัมผัสอาหารได้ไหม?                                

 ผู้เขียน 
ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย และ อนุวัฒน์ รัศมีสมศรี

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)