เกษตร เคาะแผนรับมือโลกร้อนฉบับใหม่ ประกาศใช้ปลายปีนี้

เกษตร เคาะแผนรับมือโลกร้อนฉบับใหม่ ประกาศใช้ปลายปีนี้

เกษตรฯ ลุยต่อแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ 2566-2570 เตรียมประกาศใช้ปลายปีนี้ ยก5 แนวทางพัฒนาสร้างสมรรถนะ ภูมิคุ้มกันให้ภาคการเกษตรไทย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ว่า จากการที่ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2560 – 2565 ได้สิ้นสุดลง ประกอบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

เกษตร เคาะแผนรับมือโลกร้อนฉบับใหม่ ประกาศใช้ปลายปีนี้ เกษตร เคาะแผนรับมือโลกร้อนฉบับใหม่ ประกาศใช้ปลายปีนี้

กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความสำคัญ จึงมอบหมายให้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร โดยมีนายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ขึ้น

 

 สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ได้ยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570ขึ้น โดยการสนับสนุนของโครงการ Support Programme on Scaling up Climate Ambition on Land Use and Agriculture through NDCs and NAPs ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ มีวิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรไทยมีสมรรถนะและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนพื้นฐานของสารสนเทศและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย” 

ประกอบด้วยประเด็นการพัฒนา 5 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 ยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรแนวทางที่ 2 มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

แนวทางที่ 3พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญในการปรับตัวและการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแนวทางที่ 4 พัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคเกษตรและส่งเสริมความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภาคส่วนและทุกระดับ และแนวทางที่5 ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสศก.  กล่าวว่า  5 แนวทางการพัฒนา ได้กำหนดกิจกรรมให้ครอบคลุม  เช่น แนวทางที่ 1 ยกระดับการปรับตัวด้วยเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ เช่น การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การทำประกันภัยผลผลิต การทำเกษตรผสมผสาน เพิ่มการยอมรับและปรับใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความเพียงพอและการเข้าถึงแหล่งน้ำ และระบบนิเวศ

แนวทางที่ 2 สนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำที่สอดคล้องกับNDCและLong-term Strategies (LTS)สนับสนุนด้านการตลาดสินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำ แนวทางที่ 3 พัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรและความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มองค์ความรู้และงานวิจัย พัฒนาฐานข้อมูลและถ่ายทอดองค์ความรู้

แนวทางที่ 4 สร้างความตระหนักรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ การUpskillและReskillเกษตรกรให้มีความรู้และได้ทดลองฝึกปฏิบัติจริงเกี่ยวกับวิธีการปรับตัวที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาและจัดหานักวิจัยรุ่นใหม่ 

และแนวทางที่ 5 ยกระดับการบูรณาการกับหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น พัฒนาหลักสูตรด้านClimate Changeที่ทันสมัยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ และการสนับสนุนทางด้านการเงิน ส่งเสริมและสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคเกษตร ส่งเสริมให้หน่วยงานระดับกรมในกระทรวงเกษตรฯ จัดทำแผนรองรับClimate changeของตนเอง ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนากฎระเบียบ กฎหมาย แรงจูงใจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับพฤติกรรม เช่น จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในระดับภูมิภาค หรือ จังหวัด ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และการเงินมาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวและลดการปล่อยGHGในภาคเกษตร เป็นต้น

หลังจากนี้ สศก. จะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในปีงบประมาณ 2566 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อรับทราบจากนั้น จะประกาศใช้ภายในปี 2566 

อย่างไรก็ดี แผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคเกษตร เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายNDCsของประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ว่าประเทศไทยจะยกระดับเป้าหมายNDCsจากเดิม 20-25% เป็น30-40% ในปี ค.ศ. 2030