UBE ยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงรับเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ

UBE ยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงรับเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ

UBE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2566 มีรายได้ 1,252.47 ล้านบาท ขาดทุน 106.64 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงไตรมาสที่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนประจำปี ทั้งโรงงานเอทานอลและโรงงานผลิตแป้งสำปะหลัง ประกอบกับการหยุดโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังชั่วคราว

สุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เอทานอล แป้งมันสำปะหลัง ฟลาวมันสำปะหลัง รวมถึงผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อื่นๆ เปิดเผยว่า “ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/2566 ถือว่ายังได้รับปัจจัยกดดันจากภายนอกโดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงและอุปทานมันสำปะหลังที่ขาดแคลนในพื้นที่อุบลราชธานี จากผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ช่วงฤดูกาลผลผลิตที่ออกมามีจำนวนลดลง และหมดเร็วกว่าทุกปี ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศชะลอตัว ส่วนการทำกลยุทธ์การตลาดของผลิตภัณฑ์ฟลาวมันสำปะหลังในประเทศ ภายใต้แบรนด์ทาสุโกะ (Tasuko) ยังเดินหน้าเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ส่วนการเดินตามเป้ากลยุทธ์ด้านนวัตกรรม วิจัยและพัฒนา มีความคืบหน้าของความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ ความร่วมมือกับ บริษัท ไบโอม จำกัด (Biom) ในการพัฒนาเทคโนโลยีเอนไซม์ เป็นต้น เพื่อช่วยลดต้นทุน และคุณภาพการผลิต ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังและฟลาวมันสำปะหลัง สู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่มีความหลากหลายให้กับลูกค้าในการนำไปใช้มากขึ้น ด้านธุรกิจเอทานอลได้มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนประจำปี เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถนำวัตถุดิบในสต็อกเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ทันเวลาตามความต้องการของลูกค้าจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ทำให้การเดินทางเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจของอุบลไบโอเกษตร ไตรมาสนี้มีการเติบโตจากผลิตภัณฑ์กาแฟ”

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/2566 ของ UBE สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมที่ 1,252.47 ล้านบาท ลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยขาดทุนสุทธิที่ 106.64 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานเอทานอลและโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังตามแผนประจำปี และการหยุดโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังชั่วคราว จากการขาดแคลนวัตถุดิบมันสำปะหลัง

            “สำหรับทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลัง คาดผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวจากสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบที่บางพื้นเริ่มมีการเก็บเกี่ยวและมีวัตถุดิบเข้าสู่โรงงาน โดยผลผลิตมันสำปะหลังฤดูกาลใหม่ที่เริ่มเข้าตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3/2566 นี้ ทำให้โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ และในปีนี้การหยุดซ่อมบำรุงโรงงานเอทานอลและโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังไม่มีค่าใช้จ่ายเกินงบประมาณ พร้อมผลิตเต็มกำลังรองรับสถานการณ์ฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากงานวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังที่กล่าวข้างต้น บริษัทฯ ยังเดินหน้างานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเอทานอล ที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เอทานอลเป็นส่วนผสม โดยใช้ฐานชีวภาพในการพัฒนาตามแนวคิดที่รัฐบาลส่งเสริม และต้องการให้ประเทศไทยเป็น BIO HUB OF ASIAN ในปี 2570 บริษัทฯ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ BCG Model และการนำงานวิจัยและเทคโลยีการเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน มาพัฒนาส่วนต้นน้ำคือ เกษตรกร ควบคู่ไปกับความร่วมมือที่ต่อเนื่องกับกรมวิชาการเกษตร และ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เพื่อสร้างการเติบโตที่ครอบคลุมทุกมิติอย่างยั่งยืน” 

 

โดยปริมาณวัตถุดิบได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2565 ในพื้นที่อุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ผลผลิตลดลงเมื่อเทียบกับฤดูกาลก่อนหน้า อย่างไรก็ดี คาดการณ์ผลประกอบการจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3/2566 จากสถานการณ์วัตถุดิบที่เริ่มคลี่คลายและโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ขณะที่ ธุรกิจเอทานอลและธุรกิจกาแฟยังเติบโต ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งเดินหน้างานวิจัยและพัฒนา ต่อยอดธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง ให้สอดรับตามแผนกลยุทธ์ธุรกิจ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมฐานชีวภาพของประเทศ ควบคู่กับการบริหารจัดการวัตถุดิบด้วยกลยุทธ์สร้างกลไกการเพิ่มผลผลิต เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุมทุกมิติ