Thailand Taxonomy คู่มือสู่โลกสีเขียว

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านน่าจะเคยรับทราบข่าวว่าประเทศไทยมีความเปราะบางต่อผลกระทบเชิงลบจาก “ภาวะโลกรวน” หมายความว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับที่มากกว่าประเทศอื่น

อันนำไปสู่การเกิดภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง อาทิ ฝนตกหนัก ไฟป่า น้ำท่วม หรือภัยแล้งที่นับวันจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าในอดีต ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับ 9 ของโลกจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วระหว่างปี พ.ศ. 2543 - 2562 ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงของประเทศที่สูงมาก โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรภาคธุรกิจในประเทศไทยจึงจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด

แน่นอนว่าหากเราจะให้ทุกภาคส่วนของทั้งประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันได้อย่างสอดคล้องตรงกัน เราจะต้องมีมาตรวัดความก้าวหน้าแบบเดียวกันและต้องพูดภาษาเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ หากเราจะติดป้ายของสิ่งใดว่ามีสีเขียว ความเขียวของสิ่งนั้นควรจะเป็นเขียวที่เราเห็นตรงกันว่าเขียวจริงๆ อย่างชัดเจน ไม่ใช่เขียวน้อยแต่อมเหลืองหรือน้ำตาลมากๆ เป็นต้น ซึ่งการติดป้ายดังกล่าวเราจะหมายถึงการติดป้ายกิจกรรมเศรษฐกิจว่า “รักโลก” มากน้อยเพียงใดเพื่อใช้วัดความก้าวหน้า หรือที่เรียกกันว่า Taxonomy นั่นเองครับ

ข่าวดีคือเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันกำหนดและเปิดตัว Thailand Taxonomy หรือมาตรฐานการจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นมาตรวัดกลางด้านสิ่งแวดล้อมที่เราต่างรอคอยกันมานาน เพื่อให้เป็นแนวทางการจัดประเภทหรือจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจว่ามีระดับของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการกล่าวเกินจริง (Greenwashing) ของธุรกิจในด้านการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม โดยภาคการเงินจะสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อจัดสรรเงินทุนแก่ธุรกิจ และต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนในอนาคตได้ อาทิ ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bonds) สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Loans) เป็นต้น

สาระสำคัญของ Thailand Taxonomy ในระยะแรกจะมุ่งเน้นเฉพาะภาคพลังงานและภาคขนส่ง ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมากที่สุดของประเทศไทย กล่าวคือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดโดยคิดเป็นเกือบร้อยละ 70 ของปริมาณทั้งหมดที่ถูกปล่อยแต่ละปี

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการนำวิธีการจำแนกและจัดหมวดหมู่กิจกรรมแบบระบบไฟจราจร (Traffic Light System)  มาใช้เพื่อประเมินระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ละกิจกรรม เป็นการติดป้ายบอกสีที่แตกต่าง อาทิ กิจกรรมใดสี “เขียว” กิจกรรมใดไม่เขียวแต่ออกสี “เหลือง” หรือแม้กระทั่ง “แดง” เป็นต้น จะช่วยเน้นย้ำและกระตุ้นเตือนองค์กรต่างๆ ให้เริ่มปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือกระบวนการดำเนินงานเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี

กิจกรรมสีเขียว หมายถึง กิจกรรมที่แทบไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน ซึ่งช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมาก อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมหรือการดำเนินการของบริการขนส่งที่ใช้เรือระบบไฟฟ้า

กิจกรรมสีเหลือง หมายถึง กิจกรรมที่ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิอยู่ในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง อาทิ การพัฒนาหรือปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานของการจ่ายไฟฟ้าให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยล

กิจกรรมสีแดง หมายถึง กิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับกิจกรรมในระดับสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่สามารถประเมินได้ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้ รวมถึงเป็นกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับเส้นทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปัจจุบัน อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายตามความตกลงปารีสที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม จากข้อมูลล่าสุดในปี 2565 ปรากฏว่าอุณหภูมิของโลกเราได้เพิ่มขึ้นถึง 1.1 องศาเซลเซียสไปแล้ว ดังนั้น เอกสาร Thailand Taxonomy นี้ จึงถือเป็น “คู่มือการเดินทาง” และหมุดหมายสำคัญบนถนนแห่งความยั่งยืนซึ่งจะนำพาประเทศไทยมุ่งสู่ความยั่งยืนได้รวดเร็วและทันต่อเวลายิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับ Taxonomy อื่นๆ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะ ASEAN Taxonomy ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและตอกย้ำให้กับนักลงทุนเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในทุกมิติสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคการเงินมีความเข้าใจและเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันแล้ว องค์กรต่างๆ ก็จะสามารถนำคู่มือนี้ไปใช้อ้างอิงในกระบวนการกำหนดนโยบาย วางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจที่เป็นมาตรฐานเดียวและสอดคล้องกัน อันจะเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างราบรื่น พร้อมทั้งบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทันต่อพลวัตของโลกนั่นเองครับ