เหตุใด? ตลาดทุนไทยต้องขับเคลื่อนสู่ 'ตลาดทุนยั่งยืน'

เหตุใด? ตลาดทุนไทยต้องขับเคลื่อนสู่ 'ตลาดทุนยั่งยืน'

'ความยั่งยืน' ได้เข้ามาอยู่ในกระแสความสนใจของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ลงทุน ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยในปี ค.ศ. 2015 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมาย

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมาย ครอบคลุม 3 เรื่องใหญ่คือ 1. สิ่งแวดล้อม (Environment) 2. สังคม (Social) และ 3. ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ให้ประเทศสมาชิกได้ตระหนักและช่วยกันหาแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาที่สร้างผลลัพธ์ได้อย่างแท้จริง โดยมีกรอบการดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงภายในปี ค.ศ.2030  

ดังนั้น ในภาพใหญ่ของ 'ความยั่งยืน' จึงมักจะมีหัวข้อเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและบริโภค การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การอนุรักษ์ทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศน์บนบก การยุติความยากจน คุณภาพการศึกษา ความเสมอภาค และการเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ความปลอดภัย ความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการไม่เอาเปรียบระหว่างกัน เป็นต้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ก.ล.ต. เผย 4 ยุทธศาสตร์ พัฒนาตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล”

ย้อนรอย ‘NUSA’ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกเตือน!

 

'ตลาดทุนไทย'ต้องนำแนวทาง ESG ผนวกเข้ากับองค์กร

ปัจจุบัน การดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะไปที่ผลประกอบการเท่านั้น แต่ยังขยายผลออกไปเป็น Triple bottom lines (3Ps) ได้แก่ Profit, Planet และ People

โดยอยู่ภายใต้นโยบายการดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ซึ่งจะช่วยควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีสที่ประเทศไทย ร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงดังกล่าว

ในภาคตลาดทุน บริษัทต่างๆ เริ่มนำแนวทาง ESG ผนวกเข้าไปตั้งแต่ในวิสัยทัศน์ พันธกิจองค์กร การกำหนดทิศทาง นโยบาย กลยุทธ์ การบริหารจัดการความเสี่ยง และถ่ายทอดลงมาสู่กระบวนการทำงานจริง เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ลงทุนทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของ Global Sustainable Funds เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าเกือบ 2.74 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.5% จากสิ้นปี 2565 สูงกว่ากองทุนทั่วโลกที่มีการเติบโต 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

เหตุใด? ตลาดทุนไทยต้องขับเคลื่อนสู่ \'ตลาดทุนยั่งยืน\'

สำหรับตลาดทุนไทย มูลค่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อความยั่งยืน ( ESG Product) เช่น green bond, social bond, sustainability bond และ sustainability-linked bond มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นับตั้งแต่ปี 2561 ที่ ก.ล.ต. ออกกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน

 

ก.ล.ต.พัฒนาตลาดทุนไทยสู่ 'ตลาดทุนความยั่งยืน'

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยังมีส่วนสำคัญในตลาดทุนไทยในการขับเคลื่อนเงินลงทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนโดยการผนวกปัจจัยด้าน ESG ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์และบริหารจัดการลงทุนเพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 มีกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1 พันล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

ทําไมสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องให้ความสําคัญในเรื่อง 'ความยั่งยืน' อีกทั้งในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ได้ดำเนินการอะไรในเรื่องนี้ไปแล้วบ้าง

มีคำตอบชัดเจนอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ตลาดทุนเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามรับรองวาระดังกล่าว ตลาดทุนยั่งยืนจึงมีความหมายตรงตามตัวคือ เป็นตลาดทุนที่จะยืนหยัดพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ 

แน่นอนว่าประเทศไทย และคนไทยทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้อย่างเหมาะสมตามบริบทของตนในฐานะของแหล่งระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงการภาครัฐในการพัฒนาประเทศ และเพื่อการขยายธุรกิจของภาคเอกชน รวมทั้งยังเป็นแหล่งออม และลงทุนเพื่อความมั่งคั่งของประชาชน

ตลาดทุนจะมีความยั่งยืนได้จำเป็นต้องมีผู้เล่นในตลาดที่มีความยั่งยืนเช่นเดียวกัน ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริมภาคธุรกิจซึ่งรวมถึงผู้ออกหลักทรัพย์ (issuer) ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง ตลอดจนผู้ลงทุนได้ตระหนัก และให้ความสำคัญกับการผนวก ESG เข้าไปในกลยุทธ์การดำเนินงาน และต้องมีการปฏิบัติจริงที่วัดผลได้ โดยภาคธุรกิจสามารถเปิดเผยข้อมูลบริษัททั้งที่เป็นข้อมูลด้านการเงินและ ESG รวมไว้ในแบบรายงานฉบับเดียวหรือที่เรียกว่า One Report เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจของ stakeholder ที่เกี่ยวข้อง

ก.ล.ต. ยังมุ่งเน้น และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการเพื่อความยั่งยืน และนำไปสู่การสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญ เช่น การดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และการกำหนดนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รักษาระบบนิเวศน์ให้เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายในระดับประเทศและในระดับโลก ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ธุรกิจต้องมีการเปิดเผย ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความรับผิดชอบของธุรกิจแล้ว ยังเพิ่มความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ และลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุนอีกด้วย

สิ่งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนเมื่อได้เล็งเห็นแล้วว่า บริษัทที่พวกเขาสนใจลงทุนนั้นมีแผนการดำเนินงานที่มีเป้าหมายสู่ความยั่งยืนที่ชัดเจน เมื่อภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเท่ากับว่า บริษัทจดทะเบียนและหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทยมีศักยภาพและความน่าลงทุนจะสามารถดึงดูดผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้อย่างเชื่อมั่น ส่งผลให้ตลาดทุนไทยเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศชาติบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์