“โลกร้อน”ฉุดจีดีพีไทย “เวิลด์แบงก์” ห่วง "แล้ง" ทำอีอีซีสิ้นเสน่ห์ดึงทุน

“โลกร้อน”ฉุดจีดีพีไทย “เวิลด์แบงก์” ห่วง "แล้ง" ทำอีอีซีสิ้นเสน่ห์ดึงทุน

ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นนับเป็นความรุนแรงที่สร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับประเทศไทย อัตราการเติบโตที่น่าสนใจ คาดว่าปี 2567 จะเติบโต3.4-3.6 % โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

 ประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทาย ของภาวะโลกร้อน ประชากรสูงอายุ แรงกดดันการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ความถี่ของภัยแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม  

ฟาบริซิโอ ซาร์โกเน่ ผู้จัดการ ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์  เปิดเผยถึง"รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย" จัดทำโดย ธนาคารโลก ประจำเดือนมิ.ย.2566 ในหัวข้อ "การรับมือกับภัยแล้ง และอุทกภัย"- เพื่อสร้างอนาคตที่อยู่รอดและยั่งยืน" ว่า

 “รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการน้ำ  ซึ่งดัชนีความรุนแรงน้ำท่วมของไทย อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกคือ มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกับปี 2554 ที่ต้องใช้งบประมาณแก้ไขปัญหามากกว่า 10% ของ GDP ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือเพื่อนำพาทุกภาคส่วนผ่านพ้นปัญหานี้ไปด้วยกัน”  

 เชลลีย์ แมคมิลแลน  ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการธนาคารโลก กล่าวว่า  ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม มีแนวโน้มความรุนแรง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความถี่มากขึ้น สร้างความเสียหาย ทำให้ จีดีพีโลก ถดถอยหายไปเฉลี่ย 3.7% ต่อปี มูลค่าประมาณ  6,000 ล้านดอลลาร์ 

“โลกร้อน”ฉุดจีดีพีไทย “เวิลด์แบงก์” ห่วง \"แล้ง\" ทำอีอีซีสิ้นเสน่ห์ดึงทุน “โลกร้อน”ฉุดจีดีพีไทย “เวิลด์แบงก์” ห่วง \"แล้ง\" ทำอีอีซีสิ้นเสน่ห์ดึงทุน

 

สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ที่คิดเป็น 50% ของจีดีพีของประเทศ มีพื้นที่ต่ำกว่าทะเล จึงเสี่ยงมากที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จึงต้องปกป้องพื้นที่เหล่านี้ไม่ให้เสียหาย โดยในปีที่ผ่านมา ไทยยังมีปัญหาน้ำท่วมอยู่ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในแก้ไขปัญหา สถานการณ์นี้ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็นศูนย์กลางของที่ศักยภาพของเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นจึงต้องมีแผนป้องกันที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน  

สำหรับประเทศไทยมีหน่วยงานด้านน้ำมากถึง 40 หน่วยงานภายใต้ 4 เสาหลัก คือ1. ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำปี 2561ถือว่าเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของไทย ควบคุมการบริหารจัดการ 22 ลุ่มน้ำ มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับประเทศ และระดับลุ่มน้ำ การกำหนดการใช้น้ำของประเทศไทย ตามลำดับความสำคัญ เพราะกิจการ การใช้น้ำแต่ละประเภท ในแต่ละลุ่มน้ำซึ่งมีบริบทไม่เหมือนกัน 2.แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี 3.พิจารณาด้านอุทกภัย และน้ำท่วม 4.นวัตกรรมและเทคโนโลยี

แอนโทนี่ เอ็ม วาตานาเบะ  ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน  บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด(มหาชน) ​​​กล่าวว่า ปีนี้ก็จะทำต่อเนื่องในด้านการเก็บน้ำ และน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งในเมือง และชนบทที่มีพื้นที่ต่ำกว่าทะเล ใต้เส้นทางน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาอินโดรามา ได้ทำพันธกิจกับองค์กรสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของธนาคารโลกด้วยเช่นกัน เพื่อปล่อยสินเชื่อ และลดผลกระทบทางน้ำ

สำหรับไทยในภาพรวมในเรื่องความเสี่ยงของน้ำอยู่ที่ตำแหน่งที่ 45 จาก 141 ประเทศ ดังนั้นจึงต้องการเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการใช้น้ำ ทางอินโดรามาได้ทำโครงการสเกลแบนที่โรงงานในระยองสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 50% 

บุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าวว่า ปีนี้ไทยได้เข้าสู่ภาวะเอลนีโญแล้ว และจะคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 แผนต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงปรากฏการณ์นี้รวมไว้ด้วย โดยการทำงานระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอนาคต 

ชูชาติ สายทิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะวอเตอร์ จำกัด และคณะกรรมการน้ำ และสถาบันสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า  ปัจจุบัน ภาคตะวันออกมีการใช้น้ำเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ จากปีละ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 5,700 ล้านลบ.ม. ปี 2570  และแผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน พบว่ามีน้ำหายไปจากอ่างเฉลี่ย  7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในปีนี้ ช่วงเดือนม.ค. หายไป 10.6 ล้านต่อวัน ดังนั้นความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำจะมีมากขึ้น 

“ภาคอุตสาหกรรมจะต้องรับภาระในการลดกำลังการผลิต หรือหาทางปรับแผนการผลิต เพราะปริมาณการส่งน้ำมีน้อยลง ดังนั้นภาคเอกชนจึงสร้างแหล่งน้ำขึ้นมาเอง รีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ และประหยัดน้ำ” 

การสร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำต้องขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วนเพราะมีงานให้ทำตั้งแต่ การพัฒนาแหล่งน้ำจากผิวดินใต้ดิน การทำน้ำจืดจากน้ำทะเล การรีไซเคิลน้ำ และการสร้างโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำ การทำให้อากาศไม่เปลี่ยนแปลงรุนแรงด้วยการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะทุกสิ่งที่เผชิญในตอนนี้คือ ผลจากมือมนุษย์ในอดีต และทุกสิ่งที่จะเผชิญในอนาคตคือ ผลจากน้ำมีมนุษย์ในวันนี้ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์