ทำไม ‘หอยนางรม’ ถึงเป็น ‘เครื่องกรองน้ำ’ แห่งท้องทะเล ?

ทำไม ‘หอยนางรม’ ถึงเป็น ‘เครื่องกรองน้ำ’ แห่งท้องทะเล ?

หลายคนอาจรู้จัก “หอยนางรม” ในฐานะอาหารทะเลขึ้นชื่อของไทย แต่รู้หรือไม่? นอกจากจะเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว ประโยชน์อีกอย่างของพวกมันก็คือ “เปลือกหอยนางรม” ซึ่งเป็นเครื่องกรองน้ำตามธรรมชาติชั้นดีที่ทำให้ “น้ำทะเล” ใสสะอาด

Key Points:

  • หอยนางรมเป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีโภชนาการทางอาหารสูง และมีคอเลสเตอรอลต่ำ
  • นอกจากคุณค่าทางอาหารแล้ว หอยนางรมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยเป็นทั้งเครื่องกรองน้ำและแนวกั้นคลื่นตามธรรมชาติ
  • จากความนิยมบริโภคหอยนางรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการจับหอยนางรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะจากเปลือกหอยนางรมมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม

หอยนางรมไม่ได้เป็นแค่หนึ่งในเมนูสุดโปรดของใครหลายคนเท่านั้น แต่พวกมันยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะ “เปลือกหอยนางรม” ถือว่าเป็น “เครื่องกรองน้ำ” ตามธรรมชาติ ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้น้ำทะเลใสสะอาด พูดได้ว่าพวกมันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก ทำให้ในบางประเทศไม่นิยมจับหอยนางรมมารับประทาน รวมถึงมีประกาศห้ามจับหอยนางรมเพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งให้ยังคงสมบูรณ์อยู่เสมอ

ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบรับประทาน “หอยนางรม” เป็นพิเศษ โดยเฉพาะการนำมาปรุงเป็นเมนูสุดแซ่บอย่าง หอยนางรมทรงเครื่อง, ยำหอยนางรม หรือ หอยนางรมกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ด ชาวประมงจึงจับหอยนางรมจากทะเลไทยมาจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่คนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ก็นิยมออกไปเก็บหอยนางรมตามชายฝั่งมารับประทานเช่นเดียวกัน เนื่องจากตามชายหาดของต่างประเทศ เช่น สวีเดน นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ หรือ เดนมาร์ก มีหอยนางรมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในอดีตผู้คนในกลุ่มประเทศเหล่านั้นไม่นิยมบริโภคหอยนางรมเหมือนในปัจจุบัน

แม้ว่าในอดีตหอยนางรมอาจจะยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไร แต่ในปัจจุบันหลายประเทศก็เริ่มหันมาบริโภคหอยนางรมมากยิ่งขึ้น ต้องบอกก่อนว่า.. การบริโภคหอยนางรมไม่ใช่เรื่องผิด แต่การทิ้ง “เปลือกหอยนางรม” ที่ไม่ถูกวิธีนั้น เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้! เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างขยะจากเศษอาหารที่มากขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย เนื่องจากเปลือกหอยเหล่านี้ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้น้ำในทะเลใสสะอาด จึงทำให้ชายฝั่งทะเลบางแห่งเริ่มมีการรณรงค์ไม่ให้เก็บหอยนางรมไปกิน แต่ควรอนุรักษ์พวกมันให้อยู่คู่ทะเลต่อไปเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ทำไม ‘หอยนางรม’ ถึงเป็น ‘เครื่องกรองน้ำ’ แห่งท้องทะเล ? ภาพหอยนางรมตามธรรมชาติ จาก Billion Oyster Project

  • ประโยชน์ของ “หอยนางรม” เมนูโปรดใครหลายคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลที่ “หอยนางรม” กลายเป็นเมนูยอดนิยมตลอดกาลนั้น เป็นเพราะว่าเนื้อของมันมีรสชาติอร่อย และสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นอาหารทะเลที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์อีกด้วย

หอยนางรม มีชื่อสามัญ ว่า Oyster อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ เช่น สังกะสี ทองแดง วิตามินบี 12 วิตามินดี โปรตีน และโอเมก้า 3 ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้น หอยนางรม 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 68 แคลอรี แต่มีโอเมก้า 3 สูงถึงประมาณ 672 กรัม และยังมีสังกะสีประมาณ 600% วิตามินบีประมาณ 300 % และ ทองแดงอีกประมาณ 200 % ต่อปริมาณที่ร่างกายควรจะได้รับ และที่สำคัญยังมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าอาหารทะเลอื่นๆ เพราะหอยนางรมดิบปริมาณ 85 กรัม มีคอเลสเตอรอลเพียง 21 มิลลิกรัมเท่านั้น แต่ในขณะที่ปลาแซลมอนมีคอเลสเตอรอลอยู่ที่ประมาณ 54 มิลลิกรัม และกุ้งมีมากถึง 166 มิลลิกรัม

  • คืนหอยนางรมสู่ทะเล เพื่อสร้างแนวกันคลื่น และกรองน้ำให้สะอาด

จากปัญหาขยะเปลือกหอยนางรมที่เพิ่มขึ้น จากร้านอาหารต่างๆ ในหลายเมืองทั่วโลก ซึ่งหากนับเฉพาะในนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ก็มีร้านอาหารซีฟู้ดมากกว่า 75 แห่งเลยทีเดียว ทำให้มีขยะจากอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในอดีตการกำจัดเปลือกหอยนางรมนั้นไม่ได้ถูกทิ้งลงทะเล แต่ใช้วิธีการเผาทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง และจากความต้องการบริโภคหอยนางรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการจับหอยนางรมในปริมาณที่มากเกินไป (Overfishing) ทำให้ประชากรหอยนางรมในธรรมชาติมีจำนวนลดลง

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า หอยนางรมมีประโยชน์ในด้านอื่นที่สำคัญไม่แพ้เรื่องโภชนาการทางอาหาร นั่นก็คือพวกมันช่วยทำหน้าที่กรองน้ำทะเลให้ความใสสะอาด และสามารถเป็นแนวกันคลื่นตามธรรมชาติ

ดังนั้นเมื่อ “หอยนางรม” มีจำนวนลดน้อยลงก็ส่งผลต่อปัญหาทางระบบนิเวศเช่นเดียวกัน จากปัญหาดังกล่าวทำให้ในปี 2014 ชาวนิวยอร์กได้รวมตัวกันสร้างโปรเจกต์ “The New York Harbor Foundation” ขึ้น เพื่อนำเปลือกหอยนางรมจากร้านอาหารต่างๆ มารีไซเคิลเป็นบ้านหลังแรกให้กับตัวอ่อนหอยนางรม เพื่อสร้างปะการังหอยนางรมให้เป็นระบบกรองน้ำตามธรรมชาติ เพราะหอยนางรมหนึ่งตัวสามารถกรองน้ำได้ 30-50 แกลลอนต่อวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเพาะพันธุ์และนำหอยนางรมกลับสู่บ้านเกิด เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำให้ได้ภายในปี 2035

นอกจากเปลือกหอยนางรมจะเป็นเครื่องกรองน้ำแล้ว พวกมันยังคอยให้สารอาหารและให้ที่อยู่อาศัยแก่ปลาและปะการังในบริเวณนั้นอีกด้วย และที่สำคัญยังมีหน้าที่ในการเป็นกำแพงป้องกันพื้นที่ชายฝั่งจากคลื่นและพายุ เนื่องจากเปลือกหอยนางรมในปริมาณมากๆ สามารถบรรเทาความรุนแรงของคลื่นให้ลดลงได้ ดังนั้นเมื่อบริเวณลุ่มน้ำเค็มที่เริ่มสูญเสียหอยนางรมไป ก็จะได้รับความเสียหายจากพายุได้ง่ายขึ้น

หลังจากโปรเจกต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกสู่สังคม ก็ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจความเป็นอยู่ของหอยนางรมมากขึ้น โดยมีโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลเพิ่มขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ โครงการ “Billion Oyster Project” ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ ที่เน้นไปที่การเก็บเปลือกหอย (ส่วนหนึ่งก็รับมาจากร้านอาหาร) นำมาทำเป็นโขดหินตามชายฝั่งเพราะนอกจากจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากพายุแล้ว ยังมีความหวังว่าการกลับมาอยู่ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของหอยนางรมนั้น จะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรหอยนางรมได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจาก “ลูกหอยนางรม” ที่เพิ่งเกิดนั้น จำเป็นต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในเปลือกหอยนางรมเปล่า เพื่อไม่ให้ตัวเองร่วงลงสู่พื้นดินในท้องทะเลและตายในที่สุด

เพราะฉะนั้นแล้ว นอกจากจะสร้างแนวกันคลื่น เพื่อกรองน้ำทะเลให้สะอาดแล้ว เปลือกหอยนางรมเหล่านี้ยังทำให้ลูกหอยนางรม สามารถมีอยู่ชีวิตอยู่กับธรรมชาติต่อไปได้นานขึ้น ซึ่งวิธีการนำเปลือกหอยนางรมกลับสู่ทะเลก็คือ นำเปลือกหอยที่ได้มาไปตากแดดก่อนหนึ่งปี แล้วนำไปใช้ในการฟักตัวอ่อนหอยนางรมที่สถานอนุบาลหอยนางรม เพื่อเลี้ยงให้โตประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนจะนำกลับสู่ทะเล

สำหรับปัญหาประชากรหอยนางรมที่ลดลงนั้น ไม่ได้มาจากการที่มนุษย์นำไปบริโภคอย่างเดียว แต่ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมันก็ถูกทำลายลงไปเช่นเดียวกัน จากปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคในหอยนางรม รวมถึงปัญหาแนวปะการังที่ถูกทำลายลง จนพวกมันไม่มีที่ยึดเกาะตามธรรมชาติ เปรียบเสมือนไม่มีบ้านให้อาศัยอยู่ พวกมันจึงอยู่รอดได้ยากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะปัญหาใดก็ตามที่ทำให้หอยนางรมมีจำนวนน้อยลง ย่อมมีมนุษย์เข้าไปเป็นตัวการก่อปัญหาเสมอ เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถเริ่มได้ง่ายๆ ทั้งจากปัจเจกบุคคลและการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

อ้างอิงข้อมูล : GreeneryBillion Oyster Project, Green Digitallibrary และ พบแพทย์