อบก. ชูเทคโนโลยี คำตอบแก้ปัญหา Climate Change

อบก. ชูเทคโนโลยี คำตอบแก้ปัญหา Climate Change

อบก. เผยทางออกฝ่าวิกฤติ Climate Change สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดูดกลับ กักเก็บ โดยใช้เทคโนโลยี หนุนการลงทุนภายในประเทศ คาร์บอนเครดิต สร้างอีโคซิสเต็มทำให้เกิดอินโนเวชั่น สู่ความสมดุลด้านกลไก

วานนี้ (28 มิถุนายน 2566) เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวในช่วงบรรยายพิเศษ Climate Insight & Action ภายในงาน Climate Tech Forum : Infinite Innovation…Connecting Business to Net Zero จัดโดย 'กรุงเทพธุรกิจ' ร่วมกับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) โดยระบุว่า ปัญหา Climate Change เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมจนมาถึงวันนี้ก็ยังปล่อยอยู่ ปัจจุบัน พบว่า ภาพรวมในประเทศต่างๆ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5 หมื่นล้านตันต่อปี

 

สิ่งที่กำลังกังวล คือ หากไม่หยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเกิดภัยพิบัติที่น่ากังวล และที่สุดแล้วต้องหาความเป็นกลางทางคาร์บอน เลิกปล่อยให้เร็วที่สุด ปล่อยให้น้อย และเก็บ รวมถึงต้องพึ่งเทคโนโลยี ลดให้เร็ว ถูก และทำให้ทุกคนเข้ามาร่วมกันได้ เทคโนโลยีจึงเป็นคำตอบ ซึ่งแนวทางที่ทำกันมาก คือ การลด ถัดมา คือ การดูดกลับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ต้นไม้ แต่หากทำไม่ได้ต้องใช้เทคโนโลยีทำงานแทน และอีกส่วนหนึ่ง คือ การปรับตัว เช่น หลายเมืองมีเทคโนโลยีที่ทำให้อยู่ได้ภายในสภาพอากาศร้อน

 

“เทคโนโลยีที่ทั่วโลกสนใจในวันนี้ จะเน้นในเรื่องของไฟฟ้า เพราะก๊าซเรือนกระจกมาจากการเผาฟอสซิลเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น จะลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาได้ คือ เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม พลังงานสะอาดยังมีข้อจำกัด ทำให้ฟอสซิลจะยังถูกใช้อยู่ ส่วนหนึ่งจะต้องถูกเปลี่ยนเป็นพลังสะอาดอย่างไฮโดรเจน และ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ (Carbon Capture) โดยในอนาคตกำลังมีการลงทุนค่อนข้างมาก”

 

อบก. ชูเทคโนโลยี คำตอบแก้ปัญหา Climate Change

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า ในประเทศที่มีฟอสซิล มีแหล่งพลังงานอยู่ ทำอย่างไรไม่ให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น การดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) และ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) เป็นคำตอบ

 

ขณะที่เดียวกัน ประเทศไทยเองก็ยังมีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม น้ำ แสงแดด ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ฟอสซิลยังต้องใช้อยู่ เทคโนโลยีเป็นโอกาส และควรจะเป็นประโยชน์กับคนไทย เริ่มจากการผลิตในประเทศ และนำมาใช้ เพื่อไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วที่สุด ใช้เทคโนโลยีที่มาจากทรัพยากรของคนไทย ใช้องค์ความรู้ให้ได้มากที่สุด และเริ่มรณรงค์ให้เกิดการลงทุนในประเทศ

 

“หากสามารถทำให้เกิดการลงทุนในประเทศ และทำให้ SMEs ต่างๆ มาประกอบร่างกันในประเทศได้ก็จะยิ่งดี ไม่ว่าจะเรื่องไฮโดรเจน อยากให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศทางการแข่งขัน โปรเจกต์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่ใช้เงินทุน ดังนั้น วันนี้จำเป็นที่ประเทศจะต้องมีกฎหมาย ซึ่งที่กำลังออก คือ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการผลักดันให้ผู้ลงทุนโปรเจกต์ดีๆ ได้รับประโยชน์ เช่น คาร์บอนเครดิต ขณะที่ ผู้ปล่อยต้องรับผิดชอบมากขึ้น ต้องวัดคาร์บอนฟรุตพรินต์ และอาจจะต้องมีภาระภาษี ภาระค่าปรับ และเรื่องอื่นๆ เป็นอีโคซิสเต็มที่ทำให้อินโนเวชั่นเกิด และเกิดสมดุลจากกลไก”

 

อบก. ชูเทคโนโลยี คำตอบแก้ปัญหา Climate Change

 

เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เรากำลังเรียกร้องว่า การลงทุนเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศด้วย ในลักษณะเงินได้เปล่าหรือทำความดีแล้วนำเครดิตไปแลก และมองว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็น่าจะเข้ามาสนับสนุนประเทศไทยให้เกิดโครงการดีๆ เหล่านี้ และทำให้คนไทยสามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีด้วยคนของเรา มีโอกาสเกิดการลงทุน เป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอี

 

“เทคโนโลยีไม่ได้เป็นคำตอบแค่ Climate แต่ทำให้คนไทยสามารถตอบโจทย์เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสใหม่ๆ ให้กับทั้งบริษัทใหญ่ที่มีต้นทุนในเชิงการเงิน การลงทุน รวมถึงบริบทขององค์กรในภาพใหญ่ บรรลุเป้าหมาย และทำให้เกิดอีโคซิสเต็มในประเทศ เทคโนโลยีสำคัญและมีประโยชน์ แต่จะไม่มีประโยชน์เลยหากคนไทยเราไม่สามารถทำให้เป็นเครื่องมือทำให้ประเทศเราแข่งขันได้ และตอบโจทย์ทุกอย่าง”

 

ท้ายนี้ เกียรติชาย กล่าวว่า มาตรฐานการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลมาตรฐานโดย อบก. นับว่าเป็นมาตรฐานสากล ทั้งการวัดในระดับประเทศ ระดับองค์กร ระดับจังหวัด ไปจนถึงการจัดกิจกรรม หากภาคเอกชน มีความสนใจเรื่องคาร์บอนเครดิต อบก. มีความยินดี และอยากให้ทุกคนมามีส่วนร่วมในการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีความเป็นกลางทางคาร์บอน