ฤาขยะกำพร้า จะช่วยแก้ปัญหาพลังงาน? | วนิดา ชูอักษร

ฤาขยะกำพร้า จะช่วยแก้ปัญหาพลังงาน? | วนิดา ชูอักษร

การเติบโตของการซื้อขายของออนไลน์ ทำให้ขยะประเภทพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือที่เรียกกันว่า Single Use Plastic เพิ่มปริมาณมากขึ้นมหาศาล และส่วนใหญ่มีสภาพเป็น ขยะกำพร้า

“ขยะกำพร้า” เป็นขยะที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ “จัดการขยะกลางทาง” หรือการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ปรับปรุงสภาพให้มีคุณลักษณะเหมาะสมต่อการจัดการ

เนื่องจากขยะเหล่านี้ไม่มีที่ไป เป็นขยะที่ไม่มีใครเอา ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือไม่คุ้มค่ากับการรีไซเคิล แม้แต่ซาเล้งเองก็ไม่รับซื้อ ส่งผลให้ปริมาณขยะกำพร้ามีปริมาณมากขึ้น และเกิดปัญหาขยะตกค้าง 

ส่วนขยะประเภทพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อนส้อม ถุงพลาสติก ถ้วยพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก วัสดุกันกระแทก กล่องโฟม หรือบรรจุภัณฑ์ ขยะพวกนี้ถูกทิ้งเป็นขยะทั่วไป รอการนำไปกำจัด เช่นเดียวกับขยะประเภทเศษผ้า เศษกระดาษ ซองขนม เสื้อผ้าเก่า และที่นอนเก่า 

จากการศึกษาองค์ประกอบขยะมูลฝอยทั่วประเทศ ปี 2564 ของกองการจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ขยะกำพร้ามีมากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักของขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด

เฉพาะในกรุงเทพมหานครที่มีขยะเกิดขึ้นกว่าวันละ 10,000 ตัน มีองค์ประกอบเป็นพลาสติก และกระดาษที่ไม่สามารถรีไซเคิลถึงร้อยละ 21.7 ของน้ำหนัก

ปลายทางของขยะเหล่านี้มักจะไปสู่หลุมฝังกลบขยะ ซึ่งนับวันจะมีพื้นที่ในการฝังกลบลดลง และเป็นที่ทราบกันดีว่าหลุมฝังกลบขยะไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นใหม่ ทุกคนต่างเบือนหน้าหนี เพราะปัญหากลิ่นเหม็นและแมลง รวมทั้งปัญหาน้ำเสียและก๊าซที่เกิดขึ้น

ทำให้มักได้รับการต่อต้านหรือร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่อยู่เสมอ หรือหากขยะกำพร้าเหล่านี้กำจัดไม่ถูกวิธี หรือไม่ถูกฝังกลบก็ลงเอยสู่ทะเล

ซึ่งต้องรอเวลาอย่างน้อย 100-500 ปีกว่าจะย่อยสลาย และขนาดที่เล็กลงของขยะเหล่านี้อาจกลายเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศต่อไป

ฤาขยะกำพร้า จะช่วยแก้ปัญหาพลังงาน? | วนิดา ชูอักษร

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนทุกคนตระหนัก เข้าใจ และให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ ขยะเหล่านี้จะไม่ถูกทิ้งเป็นขยะกำพร้า เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้สามารถนำขยะกำพร้า ที่ไม่มีใครเอาเหล่านี้กลับมาแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อใช้ประโยชน์ได้

โดยแนวทางในการจัดการขยะกำพร้าที่มีความเป็นไปได้ และมีประสิทธิภาพ เป็นการนำขยะมาแปรรูปเป็นพลังงาน (Waste to Energy) ในรูปของเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel; RDF)

เชื้อเพลิงอัดแท่งซึ่งจะกลายเป็นพลังงานทดแทน เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งมีอยู่จำกัดและใช้แล้วหมดไป เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

จากการศึกษา ขยะกำพร้ามีค่าพลังงานความร้อนสูงกว่า 3,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำทางเชื้อเพลิงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

และหากเป็นขยะกำพร้าที่มีการปรับสภาพ เช่น การล้างทำความสะอาด การทำให้แห้ง การคัดแยก และการตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ยิ่งมีค่าพลังงานความร้อนสูงมากขึ้นกว่า 5,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม ซึ่งเทียบเท่าถ่านหินเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ลักษณะสมบัติของขยะกำพร้าที่มีน้ำหนักเบา ทำให้สามารถอัดเพิ่มความหนาแน่น ช่วยให้ขนส่งได้สะดวกมากขึ้น

ปัจจุบันมีโครงการขยะกำพร้าสัญจร ซึ่งมีหน่วยงานในส่วนของภาคเอกชนและจิตอาสา ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการรับขยะกำพร้าไปเป็นเชื้อเพลิง ประชาชนสามารถรวมกลุ่มนัดหมายเพื่อนำขยะกำพร้าบริจาคตามวัน เวลา และสถานที่

โดยจะมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของโครงการให้บริการขนขยะ และเตรียมพาหนะขนไปยังโรงงานเพื่อแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งขยะกำพร้าซึ่งผ่านกระบวนการแปรรูปโดยการคัดแยก บดย่อยและบีบอัด เป็นเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยอัดแท่ง แล้วจะถูกส่งไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า และโรงงานปูนซีเมนต์ต่อไป

นอกจากนี้ ขยะกำพร้าเองสามารถเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับขยะประเภทอื่นๆ เช่น กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน กากชา กากกาแฟ

ฤาขยะกำพร้า จะช่วยแก้ปัญหาพลังงาน? | วนิดา ชูอักษร

โดยปกติกากตะกอนเหล่านี้ จะผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยการฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวกากตะกอนเองมีพลังงานความร้อนเพียง 2,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม แต่หากนำมาแปรรูปเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งร่วมกันระหว่างขยะกำพร้าและกากตะกอน ค่าพลังงานความร้อนจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 4,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมที่อัตราส่วนเท่ากัน

แต่อย่างไรก็ตามในกระบวนการเผาต้องควบคุมอุณหภูมิ และระยะเวลาการเผาใหม้ให้เหมาะสม มีระบบกําจัดมลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อกําจัดมลสาร ป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศ เช่น คาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไดออกซิน (Dioxin)  เป็นต้น

ในอนาคตหากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำขยะกำพร้ามาเป็นเชื้อเพลิงอย่างแพร่หลาย จะเป็นการแก้ปัญหาขยะตกค้าง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รวมทั้งเพิ่มทางเลือกทางด้านพลังงาน และเป็นการนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีกด้วย.