ผู้บริโภคเลิกซื้อ กะทิไทย อ้างทารุณกรรม“ลิง”เก็บมะพร้าว

ผู้บริโภคเลิกซื้อ กะทิไทย อ้างทารุณกรรม“ลิง”เก็บมะพร้าว

อุตสาหกรรมส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว จี้รัฐแก้ PETA ยังจวกไทยไม่หยุดปมใช้ลิงเก็บมะพร้าวทำผู้บริโภคเผ่นกระทบส่งออก แนะจ้างล็อบบี้ยิสหวังหยุดปัญหาจากสาเหตุ

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เปิดเผยว่า องค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA)  ยังคงเผยแพร่ข้อมูลการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทยเพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์กะทิ โดยร้องขอให้ผู้บริโภคหยุดการซื้อสินค้าจากประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐลดการซื้อสินค้าและเป็นสาเหตุให้ผู้นำเข้าหรือคู่ค้าในตลาดปลายทางทั้งสหรัฐและยุโรป สอบถามมายังเอกชนผู้ผลิตและส่งออกกะทิในประเทศไทย ซึ่งเอกชนได้ชี้แจงแล้วว่าไม่มีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในอุตสาหกรรม ขณะที่สวนมะพร้าวรุ่นใหม่จะใช้พันธุ์มะพร้าวที่มีลำต้นเตี้ยจึงไม่จำเป็นต้องใช้ลิงเพื่อเก็บมะพร้าวอีกต่อไป แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

“เรากินส่วนแบ่งตลาดกะทิพร้อมรับประทานสัดส่วน 80% ทั่วโลก แต่ตอนนี้กำลังถูกกระแสว่าไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวมาทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องการซื้อสินค้าจากไทย  ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลและเอกชนร่วมกันออกหนังสือรับรอง“Monkey Free Plus”ให้เอกชนแต่ละรายว่าไม่มีการทารุณกรรมสัตว์ในกระบวนการผลิต แต่PETA ก็ยังไม่หยุดเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว” 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เอกชนหลายรายได้ชี้แจ้งข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นว่าหากปล่อยสถานการณ์เป็นไปอย่างนี้คู่แข่งจาก ฟิลิปปินส์ และศรีลังกาอาจชิงส่วนแบ่งตลาดไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อยากให้ภาครัฐเข้ามาทำการล็อบบี้องค์กรเอกชนดังกล่าวให้เปิดรับข้อมูลและเผยแพร่เนื้อหาที่ตรงกับสถานการณ์จริงเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและเลิกการไม่ซื้อสินค้ากะทิจากประเทศไทย นอกจากนี้ จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์สินค้าอื่นๆของไทยด้วย 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์  ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ระเบียบทางการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ แต่เป็นดีมานด์จากผู้บริโภคเองที่มีสิทธิจะเลือกซื้อหรือไม่เลือกซื้อสินค้า ทำให้การแก้ปัญหายอมรับว่ามีความซับซ้อน ดังนั้น การใช้หน่วยงานภาครัฐเจรจาอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะทั้งภาครัฐและเอกชนต่างอธิบายและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว 

“สถานการณ์จริงก็ไม่ได้มีการนำลิงมาใช้เก็บมะพร้าวแล้ว เป็นแต่เพียงวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ไม่ใช่การทรมานสัตว์แต่เป็นการผูกพันระหว่างคนเลี้ยงกับลิงเท่านั้น แต่การเผยแพร่ข้อมูลต่างๆไปก็ดูเหมือนจะไม่ได้มีการรับฟัง หรือพยายามทำความเข้าใจ ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องใช้การล็อบบี้อย่างตรงจุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้เผยแพร่เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายซึ่งทุกฝ่ายกำลังดำเนินการในช่องทางที่สามารถทำได้อย่างเต็มที่”

 ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์กะทิจากมะพร้าวของไทย ยังไม่สามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐและอังกฤษได้ หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) ยังคงเผยแพร่ข้อมูลอุตสาหกรรมมะพร้าวและกะทิของไทย ยังบังคับใช้ลิงเก็บมะพร้าว ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ และหนทางเดียวที่จะหยุดการบังคับใช้แรงงานลิงได้ คือ การหยุดซื้อกะทิจากไทย จนส่งผลให้ทั้งห้างสรรพสินค้า ห้างซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐ และอังกฤษ นำผลิตภัณฑ์กะทิของไทยออกจากชั้นวาง พร้อมกับขึ้นข้อความเตือนผู้บริโภคว่า “อย่าซื้อกะทิจากไทย” และบางห้างถึงกับระบุแบรนด์สินค้ากะทิของไทยด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ส่งผลต่อเนื่องให้ห้างซูเปอร์มาร์เก็ต และเครือข่ายหลายแห่งในอังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป ยกเลิกนำเข้ากะทิไทยด้วยเช่นกัน และล่าสุด เว็บไซต์ peta.org.uk เผยแพร่ข่าวเมื่อเดือนมี.ค.66 ระบุ HelloFresh บริษัทจัดจำหน่ายอาหารนานาชาติในอังกฤษ ยกเลิกขายกะทิจากไทย เช่นเดียวกับผู้จัดจำหน่ายอาหารรายใหญ่อื่นๆ ของอังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลไทย ทูตพาณิชย์ของไทยในประเทศต่างๆ รวมถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กะทิของไทย ได้ร่วมมือกันชี้แจงทำความเข้าใจกับคู่ค้า ผู้นำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับการส่งออกสินค้ากะทิข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า  ปี 2560-2564 มีการส่งออกเฉลี่ยปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นปี 2562 ปริมาณ 12,764 ล้านบาท ปี 2563 ปริมาณ 13,286 ล้านบาท ปี 2564 ปริมาณ 13,328 ล้านบาท 

ส่วนผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยปีละประมาณ 788,000 ตัน โรงงานแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว 15 โรง ซึ่งทั้งหมดเป็นกะทิ 113,000 ตัน 70% บริโภคภายในประเทศ ที่เหลือก็ส่งออก