“กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออล” ส่งคืนความหลากหลายชีวภาพไทย - โลก

“กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออล” ส่งคืนความหลากหลายชีวภาพไทย - โลก

“ความหลากหลายทางชีวภาพ” มีความจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งต่อการต่อกรกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นที่มาของ และเป้าหมายที่สำคัญของกรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออล ว่า ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก Kunming-Montreal Global biodiversity framework

 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของโลกในการหยุดยั้ง และลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวสําคัญที่จะช่วยให้บรรลุวิสัยทัศน์ของโลกคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้อง และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ภายในปี ค.ศ.2050 

 พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวในงาน กิจกรรมวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity) ว่า การบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย พ.ศ.2567 – 2590 เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน สร้างขีดความสามารถ และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และวิชาการ รวมถึงประสานความร่วมมือ และผสานการทำงานกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องในการระดมทรัพยากรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และวางแผน การติดตามผล การรายงาน และการทบทวนเป้าหมายของประเทศ

“ความเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพต่างก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น จากแรงขับเคลื่อนที่เกิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ และปัญหาทั้งสองต่างทวีความรุนแรงส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน” 

ยกตัวอย่าง Biodiversity Loss ต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน การใช้ประโยชน์เกินขีดจำกัด เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งยิ่งใหญ่

ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต้องมีการกำหนดทิศทางบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย 1.ลดภัยคุกคามที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ป้องกัน และลดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ภาวะมลพิษ รวมถึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม และการควบคุมกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น รวมถึงลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

2.พัฒนาเครื่องมือและกลไกบริหารจัดการ อย่างการสำรวจชนิดพันธุ์ และระบบประเมินสถานภาพสิ่งมีชีวิต ควบคุมกิจกรรมในพื้นที่ ที่มีความสำคัญ รวมถึงอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ และพันธุกรรม ส่งเสริมการผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาศักยภาพในการจัดการระดับพื้นที่พัฒนา และปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบ และ 3.การอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย(Thailand Biodiversity Information Facility: TH-BIF) จัดทำแผนงานแบบบูรณาการ และใช้เทคโนโลยีในการติดตามและเฝ้าระวัง “กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออล” ส่งคืนความหลากหลายชีวภาพไทย - โลก

 

สำหรับ กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นของการดำเนินการในทุกระดับเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ กรอบงานฯ ได้จัดทำโดยอาศัยแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ.2011 - 2020 เป็นพื้นฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถนำไปสู่การมีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ภายในปี ค.ศ.2050 

โดยจะเป็นกรอบในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกที่ต่อเนื่องจากแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2011 - 2020 และเป้าหมายไอจิ(Strategic Plan for Biodiversity (2011-2020) and the Aichi Biodiversity Targets)

ที่สิ้นสุดลง เมื่อปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ค.ศ.2018 ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 14 (COP 14) 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงโดยภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และธุรกิจความหลากหลายทางชีวภาพเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการดํารงชีวิตของมนุษย์ ความอุดมสมบูรณ์ของโลก และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างสมดุลระหว่างการดํารงชีวิตกับธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพช่วยสนับสนุนระบบและวัฏจักรของทุกชีวิตในโลก มนุษย์ได้พึ่งพิงความหลากหลายทางชีวภาพหลายด้าน อาทิ อาหาร ยารักษาโรค พลังงาน อากาศและน้ำสะอาด การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติการสันทนาการ และการสร้างแรงบันดาลใจทางวัฒนธรรม

การกำหนดเป้าหมาย หรือกรอบการทำงานเป็นสิ่งที่ดีแต่จะให้ดีที่สุดต้องสามารถเปลี่ยนจากข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติให้ได้ เพื่อที่จะทําความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนมา มีอากาศ และน้ำสะอาด มีความมั่นคงทางอาหาร จํากัดการแพร่ระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนบนโลกใบนี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์