เอกชนและประชาชน กับ คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

เอกชนและประชาชน กับ คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

เมื่อประเทศไทยเราต้องการที่จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน เราก็ต้องหาทางดึงเอาคาร์บอนที่ปล่อยออกไปกลับคืนมา หนึ่งในมาตรการที่ให้ประโยชน์ได้หลายอย่างคือการใช้พื้นที่ป่าไม้ของรัฐมาเป็นแหล่งปลูกต้นไม้

แต่ป่าเป็นของหลวง ไม่ใช่ของเอกชน

ต้นไม้สังเคราะห์แสงโดยดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาสร้างเป็นราก ใบ กิ่ง ต้น ดอก ผล ฯลฯ ถ้าเราต้องการเอาคาร์บอนที่ป่าดูดจับไว้นั้นมาเคลมเป็นคาร์บอนเครดิตและเอามาซื้อขายกัน  ก็จะมีคำถามตามมาว่าเครดิตนั้นควรเป็นของใคร  ของรัฐ ของกรมป่าไม้ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของบริษัทเอกชนที่ลงไปปลูกป่า ของชุมชนแถวนั้น หรือของใคร

กรมป่าไม้จึงได้ทำหนังสือไปปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ถามว่าถ้าเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐหนึ่งๆมาช่วยฟื้นฟู ปลูกป่า  รวมทั้งดูแลรักษาเป็นเวลาสิบๆ ปีจนไม้เติบใหญ่  

เขาจะสามารถมาขอสิทธิ์แบ่งปันผลประโยชน์ด้านคาร์บอนเครดิตจากกรมป่าไม้บ้างได้ไหม  ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่กฤษฎีกาวินิจฉัยและตอบกรมป่าไม้มาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ว่าสามารถทำได้

เอกชนคือใคร  มูลนิธิเป็นเอกชนไหม

    หากเราเปิดพจนานุกรมของราชบัณฑิตสภา จะพบว่าท่านให้คำจำกัดความของคำว่าเอกชนว่าเป็น “บุคคลคนหนึ่ง” นั่นคือ คนแค่คนเดียวก็เป็นเอกชนได้  ส่วนอีกหนึ่งคำจำกัดความ ท่านใช้ในการขยายความว่า "...ส่วนบุคคล ไม่อิงของรัฐ  เช่น โรงพยาบาลเอกชน"  

นั่นหมายถึง "ภาคเอกชน" อันรวมถึงบริษัทเอกชนรวมทั้งมูลนิธิและสมาคมตามที่เราเข้าใจๆกันอยู่แล้วนั่นเอง  นั่นคือ แม้จะไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แต่องค์กรภาคเอกชนเหล่านี้ก็สามารถมาขออนุญาตปลูก ฟื้นฟู รักษาป่า และขอแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากรัฐในฐานะเจ้าของที่ดินได้ 

ประชาชนมีสิทธิ์ขอแบ่งปันเครดิตนี้ได้ด้วยไหม

    เมื่อสักครู่ผมได้แจงไว้แล้วว่าเอกชนหมายถึงคนคนเดียว (ที่ไม่ใช่ภาคเอกชน) ก็ได้  ดังนั้น คน(ไทย) คนเดียวก็สามารถขออนุญาตจากกรมป่าไม้เฉกเช่นเดียวกับภาคเอกชนและมูลนิธิ ฯลฯ  เข้าไปปลูก ฟื้นฟู และรักษาป่า  รวมทั้งขอแบ่งปันเครดิตคาร์บอนได้ด้วยเช่นกัน

แต่นั่นมันเป็นแค่ทางทฤษฎีเพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนคนหนึ่งจะทำงานใหญ่เช่นนั้นได้โดยเฉพาะเรื่องการหาบริษัทที่ปรึกษามาประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิต  

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือการชักพาให้ชาวบ้านมารวมกลุ่มกันเป็นภาคประชาชนอย่างเป็นกิจลักษณะ ซึ่งทั้งมหาดไทยและกรมป่าไม้ต่างมีประสบการณ์ด้านนี้กันอยู่มากมายแล้ว  เรื่องนี้จึงมิใช่อุปสรรคแต่อย่างใด

ทำไมต้องมีภาคประชาชนที่ได้ประโยชน์นี้ด้วย
    ผมแค่มีข้อสังเกตส่วนตัวว่าหากไม่ย้ำเตือนเรื่องนี้กันไว้พวกคนข้างบนมักจะลืมพวกชาวบ้านไปอย่างที่เป็นๆกันมาอยู่บ่อย โดยผมมีเหตุผลสนับสนุนประเด็นนี้อยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ

1.  กลุ่มคนในองค์กรภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจ รวมทั้งมูลนิธิและสมาคม จะไม่สามารถลงพื้นที่และปฏิบัติงานในพื้นที่ป่าเป็นเวลาสิบๆ ปีได้ด้วยตัวเองได้จริง

เขาจำต้องใช้วิธีจ้างชาวบ้านในละแวกมาทำงานแทน ชาวบ้านจึงได้เพียงค่าแรงเป็นรายได้ แต่ไม่มีส่วนในการได้ประโยชน์หรือรายได้จากการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตนี้ นี่เป็นความไม่ยุติธรรมที่จะถ่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น

2.    ยิ่งหากองค์กรเหล่านั้นใช้แรงงานต่างชาติที่ค่าแรงต่ำกว่ามาแทนการจ้างคนไทย  นี่ก็จะยิ่งสร้างปัญหาทางสังคมมากขึ้นและแก้ไขยากขึ้น

3.    เอกสารของกรมป่าไม้ชี้แจงข้อดีของโครงการปลูกและฟื้นฟูป่า ว่ามีอยู่ 5 Wins คือ 

Win 1 ชุมชนได้ประโยชน์จากป่าที่สมบูรณ์ขึ้น

Win 2 ภาคธุรกิจได้ภาพลักษณ์ที่ดีและได้สิทธิแบ่งปันคาร์บอนเครดิต

Win 3 ภาครัฐได้พื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวเพิ่ม  

Win 4 ประเทศลดปัญหามลพิษหมอกควัน PM2.5  ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น 

Win 5 ประเทศมีส่วนร่วมในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งมีผลสืบเนื่องไปยังการไม่ถูกกีดกันในการทำการค้ากับนานาชาติ

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า Wins ทั้งหมดนี้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น

 ดังนั้น ในกติกาที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อการใช้ประโยชน์คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้นี้นั้น เราต้องชัดเจนที่จะไม่ลืมภาคประชาชนและต้องให้เขามีสิทธิ์ได้ประโยชน์จากโครงการช่วยโลกครั้งนี้ในสัดส่วนที่มากด้วย

แบ่งสัดส่วนกันเท่าไรจึงเหมาะสม
    ระเบียบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กำหนดให้แบ่งให้บุคคลภายนอก 90% อปท. 5% และกรมทช.เอง 5%  แต่สำหรับในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน และสปก. ของกรมอื่น เท่าที่ค้นมาผมยังหาตัวเลขไม่ได้  

แต่หากเรายึดตัวเลข 90% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ที่ ทช.แบ่งให้กับบุคคลภายนอกเป็นหลัก แล้วหากเรามากำหนดต่ออีกว่าบุคคลภายนอกนั้นหมายถึงเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นนิติบุคคล ผมก็คงต้องขอให้พิจารณาส่วนนี้ให้ถี่ถ้วนเพื่อความเป็นธรรม โดยอาศัยกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นมาพิจารณากฎเกณฑ์การแบ่งปันนี้  

หลักการก็ควรมีเพียง 1)กรมป่าไม้ เจ้าของพื้นที่ 2)กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 3) องค์กรบริหารก๊าซเรือนกระจก(อบก.) ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต  4)กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่  5)ตัวแทนภาคเอกชน และ 6)ภาคประชาชน

     ถ้ากรรมการที่ตั้งขึ้นนี้เข้าใจหลักการการแบ่งปันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และตั้งกฏเกณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ภาคประชาชนผู้ที่ลงแรงจริง    การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยก็จะเกิดขึ้นได้สมตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้วางไว้

แล้วภาคประชาชนทำได้เองจริงหรือไม่
    มีชุมชนที่เข้มแข็งอยู่ไม่นัอยในประเทศ สามารถทำงานนี้ได้ แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบันยังมีอีกหลายชุมชนที่อาจทำได้ไม่ดีเพราะชาวบ้านเองยังเข้าใจเรื่องประโยชน์นี้ไม่มากพอและขาดแรงจูงใจรวมทั้งทักษะในการจัดการที่ดี  

ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นโดยกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายชุมชน หรือ community policy lab รวมทั้งมาตรการ upskill และ re-skill ให้ชาวบ้านสามารถทำสิ่งนี้เองได้จริง.