วิบากกรรมกุ้งไทยกับความเป็นกลางทางคาร์บอน | มารุต สุขสมจิตร

วิบากกรรมกุ้งไทยกับความเป็นกลางทางคาร์บอน | มารุต สุขสมจิตร

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ออกตัวแรงด้วยการใช้กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM)

CBAM นำมาใช้ปรับราคาสินค้านำเข้าให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงในกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU  โดยมีการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า 5 กลุ่มแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม 

มาตรการนี้ทำให้ทุกประเทศที่ค้าขายกับสหภาพยุโรปต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน หันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาด EU ได้

สำหรับสินค้าเกษตรแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่ถูกกำหนดให้ต้องเสียภาษีคาร์บอน แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการนำเอามาตรการเก็บภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้อย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ประเทศไทยซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในการเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก ต้องเตรียมรับมือกับมาตรการดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม

 ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งเคยเป็นธุรกิจสำคัญที่สร้างและนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท แม้ว่าในปัจจุบันจะประสบปัญหาไม่สามารถผลิตกุ้งทะเลได้ตามเป้าหมายก็ตาม แต่ธุรกิจดังกล่าวก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมหากมีการนำเอามาตรการเก็บภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้

วิบากกรรมกุ้งไทยกับความเป็นกลางทางคาร์บอน | มารุต สุขสมจิตร

ไม่เช่นนั้นธุรกิจนี้ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรจำนวนมากอาจถึงคราววิบัติได้ โดยหนึ่งในทางเลือกเพื่อการเตรียมความพร้อมก็คือ การปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

ความเป็นกลางทางคาร์บอน "Carbon neutrality" คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น

จากผลการศึกษาของกรมประมงระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเลี้ยงกุ้งทะเลเกิดจากกิจกรรมการผลิตอาหาร (55 %) การใช้พลังงานไฟฟ้า (43 %) ส่วนที่เหลือมาจากการผลิตลูกพันธุ์ และอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาที่ระบุว่าการเลี้ยงกุ้งขาวแบบหนาแน่น จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.33 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่าต่อผลผลิตกุ้ง 1 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าการผลิตข้าว (ข้าวเปลือก) เกือบสามเท่า
           

ทางเลือกในการปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แบ่งออกได้เป็นสองแนวทาง แนวทางแรก คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

โดยต้องเน้นการให้อาหารอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ (Feed Conversion Raito: FCR) บริหารจัดการการให้อากาศตามความเหมาะสม ใช้โซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับเครื่องเติมอากาศ

แนวทางที่สอง คือการเพิ่มการดูดซับและเก็บกักก๊าซเรือนกระจกให้มากยิ่งขึ้น โดยเกษตรกรสามารถใช้การปลูกพรรณไม้ชายเลนภายในพื้นที่ฟาร์ม เช่น โกงกาง แสม ลำพู เพื่อดูดซับและเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยคาร์บอนไดออกไซด์จะไปสะสมอยู่ในส่วนต่างๆ ของต้นไม้ในรูปของมวลชีวภาพ

ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายฉบับระบุว่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล หรือ บลูคาร์บอน (Blue carbon) เป็นวิธีการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพรรณไม้ชนิดอื่น

โดยมีการรายงานว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกเก็บกักโดยป่าชายเลนเนื้อที่ 1 ไร่ (ศึกษา ณ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี) จะมีค่าเท่ากับ 17.66 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ซึ่งเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากผลผลิตกุ้งขาวที่เลี้ยงแบบหนาแน่น น้ำหนัก 4.07 ตัน 

วิบากกรรมกุ้งไทยกับความเป็นกลางทางคาร์บอน | มารุต สุขสมจิตร

แต่แนวทางที่เสนอเพื่อปรับตัวมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะไม่สมบูรณ์ได้ หากขาดการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากองค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่จะช่วยกำหนดวิธีการในการคำนวณการดูดซับและเก็บกักก๊าซเรือนกระจก สร้างระบบการรับรองที่เหมาะสม ไม่เพิ่มภาระแก่เกษตรกร

ในขณะเดียวกันเกษตรกรที่สนใจจะนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนสามารถดำเนินการได้ทันที โดยเก็บหลักฐาน และบันทึกข้อมูลสำคัญๆ

เช่น ใบเสร็จค่าไฟฟ้า สมุดบันทึกการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ใบแจ้งข้อมูลอาหารกุ้ง (FIF Form) ของกรมประมง ภาพถ่ายบันทึกชนิดและจำนวนต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ฟาร์มที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ปีที่เริ่มปลูก เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบหากเริ่มมีการนำมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้ และไม่ให้มาตรการเหล่านี้กลายเป็นอุปสรรคในการส่งออกในอนาคต

  ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) ให้ได้ในปี ค.ศ.2065 โดยการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ

ธุรกิจผลิตกุ้งทะเลเป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจจำนวนมาก ที่จะต้องขยับและให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่ เพื่อไม่ให้วิบากกรรมมาถึงโดยไม่มีการเตรียมการใดๆ.