ครม.ให้ปรับบึงเสือดำที่มักกะสัน รับแผนพัฒนาไฮสปีด 3 สนามบิน

ครม.ให้ปรับบึงเสือดำที่มักกะสัน รับแผนพัฒนาไฮสปีด 3 สนามบิน

“รถไฟความเร็วสูง” หรือ ไฮสปีด เป็นความท้าทายทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการคมนาคม ที่ไทยกำลังใช้ความพยายามอย่างมาก ที่จุดบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ เรื่อง การพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำ ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (มักกะสัน)

คณะรัฐมนตรีรับทราบการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (มักกะสัน) ด้วยการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำ ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

โดยเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ซึ่งกำหนดให้ รฟท. ต้องส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อเป็นพื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน (พื้นที่ TOD มักกะสัน) ประมาณ 140 ไร่ ซึ่งภายในพื้นที่ดังกล่าวมีบึงขุดของ รฟท. เพื่อใช้ระบายน้ำที่มีปริมาตรความจุน้ำ 17,250 ลูกบาศก์เมตร (บึงเสือดำ) จึงเป็นบึงที่เข้าข่ายลักษณะตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2532 ที่กำหนดให้ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ให้หน่วยงานนั้นๆ พิจารณาสร้างระบบกักเก็บน้ำที่มีปริมาตรการกักเก็บไม่น้อยกว่าเดิมมาทดแทน

จากนั้นเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 รฟท. สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (สนน.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่ TOD มักกะสัน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในหลักการให้ปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร (โรงพยาบาล) จากเดิม 12,800 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มอีก 17,250 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 30,050 ลูกบาศก์เมตร โดยดำเนินการขุดเพิ่มความลึกของบึงให้สามารถรองรับความจุน้ำที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนพื้นที่กักเก็บน้ำของบึงเสือดำ และพัฒนาระบบระบายน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ของ รฟท. ทั้งนี้ ในการปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อขยายความจุของบึงข้างโรงพยาบาล โดยไม่กระทบต่องบประมาณ และเงินร่วมลงทุนของรัฐ ซึ่งเอกชนคู่สัญญาเห็นชอบการดำเนินการดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ไม่ขัดข้องในหลักการการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำ โดยใช้การเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำของบึงของโรงพยาบาล และระบบระบายน้ำเพิ่มเติมการขุดลอกคลอง และการก่อสร้างแนวคลองระบายน้ำใหม่เชื่อมบึงมักกะสัน ขนาด 3.50 X 4.00 เมตร ความยาวประมาณ 250 เมตร ซึ่งทำให้มีปริมาตรกักเก็บน้ำ และระบบระบายน้ำไม่น้อยกว่าเดิม 

“แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามที่ประชุม กพอ. ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 มีมติรับทราบ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำ ต่อไป”

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเดิมมีกำหนดเริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปี 2565 และกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 มีสัญญาณว่าโครงการจะล่าช้าออกไป และทำไม่ได้ตามไทม์ไลน์ระยะเวลาที่กำหนด

เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อ 1 มี.ค.2566 ยังไม่มีการพิจารณาร่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีพีซึ่งได้มีการเจรจาเสร็จแล้ว

ด้าน รฟท.ได้ย้ำพร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการให้กับเอกชนตามที่สัญญาระบุไว้ โดยส่วนแรกที่จะส่งมอบ คือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว ส่วนช่วงพญาไท - บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเคลียร์พื้นที่ เร่งการเวนคืนในช่วงราชวิถี การแก้ไขปัญหารื้อย้ายท่อน้ำมัน ซึ่งมั่นใจว่าพื้นที่โครงการจะมีความพร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมด 100% ภายในเดือนมิ.ย.2566

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์