“ความไม่มั่นคงด้านอาหาร”สิ่งท้าทาย เป้าหมาย"ครัวไทยสู่ครัวโลก

“ความไม่มั่นคงด้านอาหาร”สิ่งท้าทาย       เป้าหมาย"ครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อโลกยังต้องเผชิญ กับภาวะโลกร้อน ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของโลกยังปั่นป่วน ซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามทำให้ องค์การการค้าโลก หรือWTO กังวลเรื่อง“ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ในขณะที่ไทยผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ ต้องเตรียมรับมือเพราะเป็นไปได้ทั้งโอกาสและปัญหาด้านการผลิต

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า  ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ เพื่อผลักดันไทยเป็นครัวโลก เนื่องจากไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้มากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกสุทธิในระดับโลก

 

“ความไม่มั่นคงด้านอาหาร”สิ่งท้าทาย       เป้าหมาย\"ครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อย้อนหลังการส่งออกสินค้าเกษตรปี 2563 – 2565 พบว่าในปี 2563 ไทยส่งออกไปโลกเป็นมูลค่า 1,193,161 ล้านบาท ปี 2564 ที่ 1,679,778 ล้านบาท และ 2565ที่ 1,679,778 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 1,425,864 ล้านบาท และมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18.65% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาคการเกษตรของไทย ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าปัจจัยการผลิต ในขณะที่ราคาปุ๋ยทั่วโลกมีราคาแพง อีกทั้งยังมีความกังวลถึงความขาดแคลน กระทรวงเกษตรฯ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยใช้ในการเกษตร โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ ปริมาณ 5.4 ล้านตัน เพื่อการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 882 อำเภอ 77 จังหวัด ระยะเวลาโครงการ ต.ค. 2564 – ก.ย. 2565 โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก

โครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟในพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่ปี 2561-2565 ได้ส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ ดำเนินการลดการเผา และไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกข้าว ข้าวโพด ในพื้นที่ 68 ตำบล ใน 37 อำเภอ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง และตาก เพื่อเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการเศษวัสดุจากพื้นที่เกษตร นำไปทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานแทนการเผา

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูง “4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี” และเร่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพให้ได้ 5 ล้านตัน เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี

ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์พิจารณาปรับราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น และป้องกันปัญหาปุ๋ยเคมีขาดตลาด

ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพ ภายใต้แผนบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565 - 2569 ของกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรโดยมีมาตรการระยะสั้น ปี 2565 ผ่าน โครงการบริหารจัดการปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สมาชิกสถาบันเกษตรกร ปริมาณ 2.5 ล้านตัน

โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ในการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

 มาตรการแก้ไขปัญหาระยะกลาง (ปี 2565-2567) ประกอบด้วย ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศในส่วนของโพแตช และ เจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับประเทศมาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ โดยนำ Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation หรือข้อตกลงอาเซียนหรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในการเจรจา

มาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว (ปี 2565-2569) ประกอบด้วย จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ยเคมี และ เจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแตชเซียม ร่วมกับมาเลเซียและจีน ในฐานะประเทศผู้ผลิตแม่ปุ๋ยหลักในภูมิภาค

 นอกจากนี้ ไทยได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

โดยในแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความมั่นคงอาหาร และคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งครอบคลุมด้านปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร

ศักยภาพประเทศไทยในฐานะครัวโลกจะไม่ได้รับบทบาทเพียงผู้ส่งออกอาหารอีกต่อไป แต่จะต้องเป็นผู้ร่วมบริหารความมั่นคงด้านอาหารของโลกด้วย เพื่อรับมือกับปัจจัยท้าทายต่างๆเพราะหากบริหารจัดการไม่ดี โอกาสการค้าและการส่งออกสินค้าเกษตรอาจกลายเป็นแค่ความท้าทายที่ไร้ทางออกก็เป็นได้