เพิ่ม 'ระบบนิเวศ' ที่สมบูรณ์ แก่ท้องทะเลแสมสาร

เพิ่ม 'ระบบนิเวศ' ที่สมบูรณ์ แก่ท้องทะเลแสมสาร

มูลนิธิ อพ.สธ. มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กองทัพเรือ ประชาชนในพื้นที่ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมใจฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแนวปะการัง 'เกาะแสมสาร' เพื่อสร้างระบบนิเวศทางทะเลให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

"สัตว์น้ำทำให้เกิดกระบวนการสร้างระบบนิเวศ เป็นต้นทุนแห่งชุมชน ทรัพยากรคือต้นทุนธรรมชาติของคนในชุมชนและประเทศชาติเลยครับ” อัครเศรษฐ รักษ์สกุลสงสัย รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร กล่าวด้วยด้วยรอยยิ้ม เมื่อถามถึง โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ ที่กำลังเกิดขึ้น ท่ามกลางแดดแรงกล้าแห่งฤดูร้อน ลมทะเลที่พัดโชยเบาๆ ริมฝั่งทะเลสัตหีบ และผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมาเพื่อร่วมเตรียมวางปะการังเทียมใน และบ้านปลา

 

หมู่เกาะแสมสาร ถือเป็นพื้นที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพจากยอดเขาสู่ใต้ทะเลด้านอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เป็นแหล่งอาศัยของสาหร่ายทะเลกลุ่มต่างๆ และสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย อาทิ ปลิงทะเล ฟองน้ำทะเล เม่นทะเล หอยทะเล ปลาทะเลในแอ่งน้ำขัง การที่มูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ( มูลนิธิ อพ.สธ.) มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กองทัพเรือ ประชาชนในพื้นที่

 

และภาคเอกชนอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าร่วมและรวมใจฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแนวปะการัง เพื่อสร้างระบบนิเวศทางทะเลให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนใน “โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2566 นี้ จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสมบูรณ์เชิงนิเวศ และนำไปสู่การต่อยอดทางเศรษฐกิจของชุมชนในเชิงท่องเที่ยวอีกด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นประธานในพิธีวางปะการังเทียมเป็นปฐมฤกษ์ และได้กล่าวว่า “เมื่อ 25 ปีที่แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริแก่ผู้เกี่ยวข้องให้ “ดำเนินการทั้ง 9 เกาะ คือเกาะแสมสารและเกาะข้างเคียง ศึกษาตั้งแต่ยอดเขาจนถึงใต้ทะเล รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งพืชบนดิน พืชน้ำ รวมถึงสัตว์ต่างๆ โดยเน้นระบบนิเวศวิทยาแบบภาพรวมทั้งระบบ ให้ทำการสำรวจทั้งด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา แร่ธาตุ ไปพร้อมๆกัน”

 

ซึ่งพระราชดำรินี้ คือแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานด้านอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มาร่วมกันสนับสนุนใน “โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ” จนป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทั้งทิวทัศน์ หาดทรายที่สะอาดสวยงาม

 

สอดคล้องกับยุุทธศาสตร์เป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่ปี 2573 โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน 15 ประเด็น พร้อม 15 เป้าหมายหลัก และตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในนั้นคือแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเลแบบบูรณาการ เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์ รวมถึงโครงการปะการังเทียม 

 

 

ซึ่งก่อนหน้านี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้จัดวางปะการังเทียมจำนวน 2,000 แท่ง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และ จังหวัดนราธิวาส เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเลของไทย เนื่องจากแนวปะการังเป็นแหล่งระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนสูง ช่วยป้องกันความเสียหายต่อชายฝั่งจากคลื่นทะเลขนาดใหญ่ และสร้างรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยว

 

ในส่วนของโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเกิดขึ้นบนหมู่เกาะแสมสารครั้งนี้ ได้มีการจัดทำบ้านปลาบริเวณหาดเทียน และการวางปะการังเทียมต่อเนื่องเป็นแนวยาวขนานกับหาดเทียนบนพื้นที่วางรวม 200 ตารางเมตร โดยนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ

 

ถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการัง และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศปะการัง รวมถึงทรัพยากรทางท้องทะเลบริเวณเกาะแสมสารอย่างยั่งยืนต่อไป