ช่องว่างการปล่อยมลภาวะ ‘คนรวย' กับ 'คนจน’

ช่องว่างการปล่อยมลภาวะ ‘คนรวย' กับ 'คนจน’

ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผมก็ออกไปสังสรรค์เฮฮากับเพื่อนๆ ทั้งเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ เพื่อนที่เพิ่งได้ร่วมงาน ครอบครัวและญาติ ผมชอบเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก หนึ่งในเรื่องชอบเล่ามากที่สุดคือ เรื่องราวของ ไคลีย์ เจนเนอร์

“ไคลีย์ เจนเนอร์ (Kylie Jenner)” ผู้ที่มีการติดตามในอินสตาแกรมมากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองอยู่เพียงแค่ คริสเตียโน โรนัลโด และ ลีโอเนล เมสซี เท่านั้น

นั่นหมายความว่าเธอเป็นผู้หญิงที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก 379.8 ล้านคน และมีทรัพย์สินส่วนตัวสูงถึง 750 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ไม่แปลกใจถ้าเธอจะชอบเดินทางไปเยือนที่ต่างๆ ด้วยเครื่องบินส่วนตัว 

เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวออกที่ฮือฮากันมากในโลกโซเชียลที่สหรัฐ เนื่องจากว่าเธอบินเครื่องบินส่วนตัวจากเมืองคามาลิลโร (Camarillo) รัฐแคลิฟอร์เนีย ไปยังเมืองฟาน นุยส์ (Van Nuys) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 นาที!

ช่องว่างการปล่อยมลภาวะ ‘คนรวย\' กับ \'คนจน’

จากเหตุการณ์นี้ก็ได้สร้างการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก มีอินฟลูเอนเซอร์ท่านหนึ่งใน Tik Tok บอกว่าทำไม ไคลีย์ เจนเนอร์ สามารถทำอย่างนี้ได้ ในขณะที่พวกเราต้องมานั่งรีไซเคิลกระป๋องและขวดพลาสติกเนี่ยนะ!

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอใช้เวลาในการบินน้อยกว่า 1 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยแล้วไคลีย์บินสัปดาห์ละ 5 ครั้งแล้วทุกครั้งจะบินต่ำกว่า 30 นาทีเสมอ 

ไม่ใช่เพียงแค่ไคลีย์ เจนเนอร์ คนเดียวที่เป็นคนรวยและใช้เครื่องบินส่วนตัวในระยะเวลาที่สั้น แต่มีนักร้องนักแสดงอีกจำนวนมากที่ใช้เครื่องบินส่วนตัวในระยะเวลาที่ต่ำกว่า 30 นาทีจนเป็นเรื่องปกติ 

ทั้งนักร้องแรปเปอร์ชื่อดังอย่าง เดรก (Drake) นักมวยอย่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ (Floyd Mayweather Jr.) ดาราอย่าง มาร์ก วอลเบิร์ก (Mark Wahlberg) หรือนักกอล์ฟในตำนานอย่าง แจ็ก นิคคลอส (Jack Nicklaus) เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติที่คนรวยที่มีอำนาจสามารถทำได้ในเงินส่วนตัวของเขา 

แต่ปัญหาคือว่า การที่เราบินจากที่หนึ่งไปอีกที่ด้วยเครื่องบินส่วนตัวนั้น ปล่อยมลภาวะในอากาศเป็นอย่างมาก การที่ดาราอย่าง มาร์ก วอลเบิร์ก นั่งเครื่องบินส่วนตัวจากเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ไปยังเมืองฟาน นุยส์ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ก็เท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับคนหนึ่งคนใน 1 ปีเลย

แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเครื่องบินส่วนตัวจะแค่เพียงร้อยละ 4 ของการปล่อยมลพิษทางอากาศทั้งหมด แต่เครื่องบินส่วนตัวก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากกว่า 33 ล้านตันต่อปี ซึ่งสูงกว่าประเทศเดนมาร์กเสียอีก

และเพราะว่าการบินด้วยเครื่องบินส่วนตัวสามารถจุคนได้น้อยมาก ทำให้การปล่อยมลพิษต่อบุคคลยิ่งสูงขึ้นกว่าเดิม โดยสูงกว่าการบินด้วยเครื่องบินโดยสารถึง 14 เท่าและด้วยรถไฟถึง 50 เท่า 

การบินด้วยเครื่องบินส่วนตัวในสหรัฐนั้นเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ความจริงแล้วนี่เป็นเพียงแค่ปลายของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีการปล่อยมลภาวะในรูปแบบอื่นๆ อีกเช่น การรับประทานอาหารอย่างฟุ่มเฟือย การขับรถสปอร์ต หรือการทำธุรกิจที่ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ทุกวันนี้ร้อยละ 10 ที่ร่ำรวยที่สุดของประชากรโลกเป็นผู้รับผิดชอบร้อยละ 50 ของการปล่อยมลพิษทั่วโลกทั้งหมด

อย่างเช่นตอนที่เจฟฟ์ เบโซส ไปเที่ยวอวกาศ 11 นาทีด้วยยานอวกาศ บลู ออริจิน ของบริษัทเขาเอง ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อผู้โดยสารเท่ากับคน 1 พันล้านคนปล่อยในช่วงชีวิตของเขา นั่นแปลว่าถ้าในยานอวกาศมีผู้โดยสารมีอยู่ 8 คนก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับคนทั้งโลกในทั้งชีวิตของเขาแล้ว

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเมื่อยิ่งห่างออกไป ก็ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละบุคคลก็ยิ่งห่างไปด้วย ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ คนปกติใช้พลังงานมากกว่าคนในประเทศจีนถึง 4 เท่า

ช่องว่างการปล่อยมลภาวะ ‘คนรวย\' กับ \'คนจน’

หรือแม้แต่คนในประเทศไนจีเรียก็ใช้พลังงานไม่เท่ากับคนอเมริกัน ชาวไนจีเรียโดยเฉลี่ยใช้ไฟฟ้าเพียงครึ่งเดียวสำหรับความต้องการทั้งหมดของพวกเขา เท่ากับทวีความละเอียดสูงเพียงเครื่องเดียวในบ้านของชาวอเมริกันที่ใช้ตลอดทั้งปี 

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมความพยายามใดๆ ที่จะลดจำนวนประชากรอาจไม่มีผลดีเท่าที่ปรากฏบนกระดาษ เพราะคนที่ใช้พลังงานมากที่สุดคือส่วนน้อยของประชากรโลก

สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายๆ ฝ่ายเริ่มออกมารณรงค์ในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซมลภาวะกันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเข้ามาของ ESG และ Carbon Credit รวมไปถึงหลายๆ ครอบครัวทั่วโลกเริ่มตระหนักกันมากยิ่งขึ้นว่าเราควรจะมีลูกไหม ในเมื่ออนาคตอันใกล้ โลกเราอาจจะเกิดมรสุมและภาวะโลกร้อนที่ร้ายแรงกว่านี้ 

ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นในทางการเงินยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ภาษี” ซึ่งอาจจะช่วยได้เล็กน้อยในการลดช่องว่างทางการเงิน แต่ถ้าเป็นเรื่องการปล่อยมลภาวะนั้น ตอนนี้ยังไม่มีเครื่องมือใดสามารถแก้ไขได้เลย

ดังนั้น เราจึงสามารถกำจัดผู้คนที่ใช้พลังงานน้อยที่สุดหนึ่งพันล้านคนในโลกได้ และยังคงมีผลกระทบน้อยกว่าการหยุด เจฟฟ์ เบโซส ไม่ให้เดินทางสู่อวกาศด้วยซ้ำครับ.

ทัศนะ คุยให้ “คิด”

ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

[email protected]