มาตรฐานยูโร5 คืออะไร เข้าใจก่อนปรับรถใหม่เข้าเงื่อนไขปี67

มาตรฐานยูโร5 คืออะไร  เข้าใจก่อนปรับรถใหม่เข้าเงื่อนไขปี67

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2566 เห็นชอบปรับเปลี่ยนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร5 สำหรับรถยนต์ใหม่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป จากเดิมภายในปี 2564

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้ภาคเอกชนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาภายในปี 2564 ได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ออกไป พร้อมกันนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดแผนเพื่อบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์ใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะได้เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดได้และไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ การบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะทำให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในทางปฏิบัติ 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมบังคับใช้กฎหมายให้การผลิตรถยนต์ใหม่ต้องเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 และภาคเอกชนหลายรายสามารถผลิตรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว โดยบางส่วนอยู่ระหว่างลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต 

ส่วนมาตรการจูงใจนั้น กระทรวงการคลัง ได้กำหนดให้รถกระบะดีเซลที่มีค่า PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร (เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5) จะได้ลดภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 รองรับไว้แล้ว 

“มาตรฐานยูโร เป็นมาตรฐานเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียของยานพาหนะในทวีปยุโรป ทั้งนี้ มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 มีความแตกต่างจากมาตรฐานยูโร 4 หลายประการ อาทิ การเพิ่มมาตรฐานการวัดจำนวนอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (PN) และกำหนดค่ามาตรฐานออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และสารไฮโดรคาร์บอน (HC) (เป็นหนึ่งในสารที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5) ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เป็นต้น”

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า  มาตรฐานบังคับให้บริษัทรถยนต์ยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์จากยูโร 4 เป็นยูโร 5 ซึ่งจะลดฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ลงได้ถึง 5 เท่า และลดฝุ่นลงได้ถึง 37,000 ตันต่อปี หรือลดลงจากเดิม 80% ภายในปี 2564 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนรถยนต์ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด จะกำหนดมาตรฐานระดับยูโร 6 ซึ่งเป็นมาตรฐานน้ำมันสูงสุด จะลดไนโตรเจนออกไซด์ได้มากกว่ายูโร 5

ที่ผ่านมาไทยมีแผนจะยกระดับมาตรฐานน้ำมันห่างจากยุโรปไม่เกิน 2 ปี แต่เมื่อยุโรปใช้ยูโร 1 ปี 2535 ไทยใช้ปี 2539 และเมื่อยุโรปใช้ยูโร 2 ปี 2539 ไทยใช้ปี 2542 รวมทั้งเมื่อยุโรปใช้ยูโร 3 ปี 2543 ไทยใช้ปี 2548 และเมื่อยุโรปใช้ยูโร 4 ในปี 2548 ไทยใช้ ปี 2555 ตามหลัง 7 ปี และยุโรปใช้มาตรฐานยูโร 5 ปี 2552 ซึ่งค่ายรถในไทยจะใช้ปี 2567 จะตามยุโรปถึง 15 ปี

“ก่อนหน้าที่ จากการหารือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับบริษัทรถยนต์เรื่องการออกมาตรฐานบังคับรถยนต์ยูโร 5 สำหรับรถเก๋งและกระบะที่ใช้ดีเซลและเบนซิน ซึ่งค่ายรถยนต์ขอเวลาปรับตัว 4 ปี แต่จากสถานการณ์ฝุ่นที่รุนแรงขึ้นใช้กรอบเวลาเดิมไม่ได้ ส่วนรถบรรทุกจะยกระดับจากยูโร 3 เป็นยูโร 4 หลังจากบังคับรถยนต์เป็นยูโร 5 แล้ว เพราะเป็นรถเชิงพาณิชย์ที่ต้องให้เวลาปรับตัว”

       สำหรับ ขั้นตอนออกมาตรฐานบังคับยูโร 5 กรณีดำเนินการได้ 2 แนวทางคือ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฉบับปัจจุบัน ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา   และแนวทางที่2 ยกร่าง พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฉบับใหม่ จะเปลี่ยนจากการตราพระราชกฤษฎีกา มาเป็นการออกกฎกระทรวงอุตสาหกรรมได้เลย 

      สำหรับโรงกลั่นน้ำมันสามารถ ยกระดับการผลิตน้ำมันจากมาตรฐานยูโร 4 เป็นยูโร 5 ซึ่งจะ ลดปล่อยกำมะถันลงจาก 100 PPM ในมาตรฐานยูโร 4 เป็นให้เหลือ 10 PPM ในน้ำมันเบนซินและดีเซล และดีเซลจะลดปล่อยค่าสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนจาก 11% ในมาตรฐานยูโร 4 เป็นให้เหลือ 8%

       ปัจจุบันมีโรงกลั่น 6 แห่ง คือ ไทยออยล์ บางจาก พีทีทีจีซี เอสโซ่ ไออาร์พีซี และเอสพีอาร์ซี ซึ่งจะเร่งผลิตตามมาตรฐานยูโร 5 ให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งมีต้นทุนปรับปรุงโรงกลั่น 35,000 ล้านบาท