การฟอกเขียว (Greenwashing) … อุปสรรคเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

การฟอกเขียว (Greenwashing) …  อุปสรรคเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

ท่ามกลางปัญหามากมายที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งรับมือ แก้ไข และป้องกันจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงรอบด้านอยู่ตลอดเวลา ความไม่พร้อมอาจส่งผลเสียมหาศาลในทุกมิติ

ฉะนั้นการเตรียมพร้อมรับมือ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงจากวิกฤติเป็นสิ่งจำเป็น 

แต่รอภาครัฐหรือเอกชนทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ผู้บริโภคเองเป็นอีกส่วนสำคัญ การร่วมมือกันจึงเป็นหนทางเดียวในการลดผลกระทบในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) และเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไปทั้งประเทศ โดยตลาดทุนถือเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เนื่องจากมีทุนมากพอที่ทำให้เกิดการปฏิบัติจริง และมีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้นตลาดทุนควรให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนมากที่สุด รวมถึงจัดสรรเงินลงทุนจากองค์กรภาคธุรกิจ และนักลงทุนรายย่อยในกิจกรรมที่ถูกต้อง และเกิดการลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมจริง

เมื่อทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ภาคธุรกิจต้องผนวก ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจเดิมขององค์กร ฝั่งผู้บริโภคคำนึงถึงการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ทว่ารายย่อยบางส่วนอาจมองว่า ESG เป็นเพียงกระแสและให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลน้อยกว่าที่ควร เมื่อนักลงทุนไม่เรียกร้องข้อมูลจากธุรกิจมากนัก ข้อมูลที่เปิดเผยจึงเป็นเพียงข้อมูลผิวเผิน ซึ่งง่ายต่อการปกปิด และบิดเบือน ดังนั้นแล้วเวลาที่นักลงทุนตัดสินใจลงทุน ข้อมูลที่มีมาตรฐานถูกต้อง และแม่นยำเพื่อประกอบการตัดสินใจเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญเสมอมา

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคใหญ่หนึ่งของการดำเนินธุรกิจ/ลงทุนด้าน ESG คือ ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผย มีการบิดเบือนหรือเปิดเผยไม่ครบตามจริง และนั่นคือ การฟอกเขียว หรือ Greenwashing

ทำไมถึงสำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องระวัง?

เป็นการให้ข้อมูลเท็จ เบี่ยงเบน และบิดเบือน ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือของระบบการเปิดเผยข้อมูล ความถูกต้อง และแม่นยำของข้อมูล ซึ่งล้วนเป็นกลไกที่แสดงถึงประสิทธิภาพของตลาดในการกำหนดราคา

ในระยะยาว บริษัทที่มีการดำเนินการเรื่อง ESG จริง อาจถูกผลักออกจากตลาด เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างว่าบริษัทไหนทำจริงหรือไม่จริง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะหน่วยงานส่งเสริม และขับเคลื่อนตลาดทุน ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนากลไกป้องกันเพื่อเป็นตัวอย่าง และแนวทางให้กับบริษัทจดทะเบียนทั้งใน และนอกตลาด และลดความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) โดยมุ่งเน้นคุณลักษณะใน 3 ด้าน คือ ข้อมูลสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ (Availability) เปรียบเทียบกันได้ (Comparability) และมีมาตรฐานซึ่งสามารถวางใจ และเชื่อถือได้ (Reliability)และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Greenwashing ในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูล (Accessibility) โดยเฉพาะข้อมูลด้าน ESG จึงจัดทำแพลตฟอร์มกลางที่ยึดโยงข้อมูลด้าน ESG ในตลาดทุน 

ด้วยสองหัวใจสำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG ที่ครบถ้วนถูกต้อง และโปร่งใส ทำให้ทั้งบริษัทจดทะเบียน และผู้ลงทุนเองมั่นใจได้ว่า Greenwashing จะลดน้อยลง และมีกิจกรรมที่สร้างผลกำไร และลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น และท้ายที่สุดเพื่อระบบนิเวศน์ของภาคตลาดทุนไทยที่เข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์