NRF ปฏิรูปห่วงโซ่อาหาร เดินหน้า carbon negative ปี 2050

NRF ปฏิรูปห่วงโซ่อาหาร เดินหน้า carbon negative ปี 2050

NRF เดินหน้าสู่ Global clean food tech company หรือ บริษัทเทคโนโลยีอาหาร พลังงานสะอาด ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ ตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) ในปี 2050

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และ “อุตสาหกรรมอาหาร” ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก หากในปี 2026 หากทางสหภาพยุโรป มีการบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอาหาร หรือมาตรการทางภาษีอื่น ๆ อาจเกิดภาษีสินค้าขาเข้ามากถึง 40%

 

ขณะเดียวกัน หากไม่สามารถควบคุมความร้อนของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา เซลเซียส ได้จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากการที่สิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศที่คาดเดาไม่ได้รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง ทำให้กระบวนการผลิตวัตถุดิบ โดยเฉพาะการเกษตรมีต้นทุนที่สูงขึ้น คุณภาพต่ำปริมาณต่อการผลิตน้อยลง สวนทางกับความต้องการของตลาดและประชากรที่มากขึ้นในทุกๆ วัน

 

NRF ปฏิรูปห่วงโซ่อาหาร เดินหน้า carbon negative ปี 2050

 

อุตสาหกรรมอาหาร กับปัญหาโลกร้อน

 

ด้วยความเชื่อที่ว่า เราสามารถต่อกรกับสภาวะโลกร้อนได้ โดยใช้ระบบอาหาร Plant-based เป็นเครื่องมือ เพราะอาหารที่ผลิตจากพืชปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 ใน 10 ของอาหารที่ผลิตจากเนื้อสัตว์ แนวความคิดนี้ เป็นที่มาให้ “แดน ปฐมวาณิชย์” CEO บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกที่โดดเด่นของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT เครือข่ายท้องถิ่นของโครงการสำคัญของสหประชาชาติ ได้ประกาศเป้าหมายที่เดินหน้า NRF ให้เป็น Clean Food Tech Company และไปให้ถึงจุดที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) สะท้อนความมุ่งมั่นที่ต้องการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน

 

 

แดน อธิบายว่า อุตสาหกรรมอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก และปล่อยก๊าซมีเทนเกือบครึ่งหนึ่งต่อปี (ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก) อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก มีมูลค่าราว 7-8 ล้านล้านเหรียญ มีเกษตรกรที่ทำงานในอุตสาหกรรมอาหารราว 1.8 พันล้านคน ขณะเดียวกัน ปัญหาโลกร้อนยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 1.5-2 องศา

 

สำหรับเกษตรกร ทุก 1 องศาที่ร้อนขึ้น ทำให้ความชื้นเพิ่มขึ้น 7-8% แสดงว่าหากโลกร้อนขึ้น 2 องศา จะมีความชื้นเพิ่มขึ้นราว 16% ความชื้นประเทศไทยอยู่ระหว่าง 70-80% และในฤดูที่ความชื้นสูง หากบวกเพิ่มเข้าไปอีก 16% ถือว่าความชื้นกว่า 96% ช่วงนั้นเป็นไปไม่ได้ที่เกษตรกรจะทำนา เหมือนทำงานในซาวน์น่า

 

“อีกหนึ่งปัญหา คือ พื้นที่ที่สามารถปลูกการเกษตรได้ ไม่เพียงพอต่อโลกที่มีประชากรกว่า 10,000 ล้านคน ภายใน 2050 ทั้งหมดนี้หากนำมาประกอบกัน อุตสาหกรรมอาหารมีวิกฤติที่เกิดขึ้นแน่นอน ประเทศที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรม หากไม่เตรียมตัววันนี้จะปรับตัวยาก ยกตัวอย่าง เกษตรกรนาข้าว ปกติมี 3 ฤดู แต่หากขาดไป 1 ฤดู จะปลูกอะไรก็ไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีมาตรการตรงนี้ แต่ภายใต้วิกฤติ ก็ยังมีโอกาส สำหรับประเทศที่เตรียมตัว และอีกเรื่องสำคัญ คือ การบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) การเก็บภาษีบนสินค้าที่นำเข้ายุโรป ซึ่งเรื่องของอาหารภาคการเกษตรกำลังมีการพูดคุยกันอยู่”

 

NRF ปฏิรูปห่วงโซ่อาหาร เดินหน้า carbon negative ปี 2050

 

บริษัทเทคโนโลยีอาหาร พลังงานสะอาด

 

NRF ได้กำหนดวิสัยทัศน์และการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการลดโลกร้อน รวมถึง Net zero และเป็นโรงงานอาหารเดียวในประเทศไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) 3 ปีซ้อน และเป้าหมายในปีนี้ คือ การปฏิรูปสู่บริษัท Global clean food tech company หรือบริษัทเทคโนโลยีอาหาร พลังงานสะอาด โดยให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้

  • คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดห่วงโซอุปทาน
  • ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อลดคาร์บอนมากกว่าที่จะปล่อยมันออกมา และกำจัดคาร์บอนไปอย่างถาวร or negative emissions (คาร์บอนติดลบ)
  • ผลิตอาหารที่คุ้มค่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (อาหารจากพืช)
  • ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการทำบรรจุภัณฑ์และการตลาด ขายผลิตภัณฑ์ผ่านอีคอมเมิร์ซ ให้กับลูกค้าในแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

“3 กลยุทธ์หลัก คือ ทำอย่างไรให้ภาคการเกษตรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทน โดยวิธีการที่ดีที่สุด คือ 1. การลดคาร์บอนจากการเผาสินค้าการเกษตร แปรรูปเป็นปฏิกรชีวมวล (Biomass) ใช้พลังงานหมุนเวียนจากกระบวนการเผา ไม่ปล่อยมลภาวะ คาร์บอนชีวภาพสามารถขายและใช้ในห่วงโซ่คุณค่า NRF ได้

2. ทำอย่างไรให้ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือการต่อสู้โลกร้อน โดยมีการพูดคุยกับหน่วยงานในประเทศไทย ในการปลูกป่าชายเลน รวมถึงโครงการในอาเซียน และ 3. เทคโนโลยี ที่จะทำให้ภาคเอกชนหรือภาครัฐต่อสู้กับโลกร้อนได้” แดนกล่าว

 

ล่าสุด NRF ได้ลงทุนกับบริษัท Frontline BioEnergy ในสหรัฐ ซึ่งมีนวัตกรรมในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ กิ่งไม้ ซังข้าวโพด ฯลฯ แปรรูปออกมาเป็นพลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงเครื่องบิน สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเป้าของ NRF ในปีนี้ คือ การสร้างโรงงานกำจัดคาร์บอนในสหรัฐ 1 แห่ง และในประเทศไทย 1 แห่ง และหากเป็นไปได้ หวังว่าปีนี้จะเซ็นสัญญาสัมปทานปลูกป่าในไทยหรือต่างประเทศด้วย

 

NRF ปฏิรูปห่วงโซ่อาหาร เดินหน้า carbon negative ปี 2050

 

ตั้งเป้า Carbon negative ในปี 2050

 

แดน กล่าวต่อไปว่า กระบวนการจากเกษตรกรไปถึงโรงงาน จากโรงงาน สู่การแปรรูป ส่งออก วางขาย และถึงมือผู้บริโภค กระบวนการทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งที่ NRF พยายาม คือ ทำอย่างไรให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากับศูนย์ หรือให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในพื้นที่การเกษตร

 

ในปัจจุบัน NRF มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในระดับบริษัทมาแล้วกว่า 3 ปี ถือว่าเป็นบริษัทมหาชนบริษัทเดียวในอุตสาหกรรมอาหาร และคิดว่าหลังจากที่สร้างโรงงานกำจัดคาร์บอน และร่วมโครงการต่างๆ เช่น ปลูกป่า คาดว่าในระดับบริษัทจะมีการปล่อยคาร์บอนติดลบ (Carbon negative) ในปี 2050 และอีกส่วน คือ ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์

 

ที่ผ่านมา NRF ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท โดยประกอบด้วย เข้าไปลงทุนในบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีในการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ถัดมา คือ การให้เงินทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยทำวิจัย และในอนาคตคาดว่าจะมีเทคโนโลยีที่ครอบคลุมมากขึ้น

 

NRF ปฏิรูปห่วงโซ่อาหาร เดินหน้า carbon negative ปี 2050 NRF ปฏิรูปห่วงโซ่อาหาร เดินหน้า carbon negative ปี 2050

 

โลกร้อน – วิกฤติอาหาร ปัญหาที่รอไม่ได้

 

แดน กล่าวว่า ในตอนนี้อุตสาหกรรมอาหารค่อนข้างตื่นตัว จะเห็นว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี Passion และตั้งใจในการทำเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คิดว่าภาครัฐจะช่วยได้เพิ่มเติม คือ กระจายความรู้ให้เท่าเทียมกัน ทั้งในแผนระยะสั้น กลาง ยาว ให้ภาคเอกชนได้เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าขณะนี้ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนในเรื่องใด

 

ถัดมา คือ เรื่องของมาตรฐานคาร์บอนเครดิต และสิ่งที่อยากทำ คือ กระบวนการกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) อาจจะต้องเดินหน้าหาโซลูชั่นเรื่องความต่างของมาตรฐานในประเทศและต่างประเทศให้สอดคล้องกัน และสิ่งสำคัญ คือ การกระจายข่าวสารให้กับภาคเอกชนได้รับทราบ มีส่วนร่วม และแก้ไขความซับซ้อนระหว่างหน่วยงาน ให้เป็น One stop solution จบในที่เดียว

 

สุดท้าย คือ การที่ภาครัฐสนับสนุนเงินให้เปล่าสำหรับการทำวิจัย โดยยกตัวอย่าง บริษัทที่ NRF เข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา จุดกำเนิดเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เมื่อกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ สนับสนุนเงินประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไม่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ โดยนำชีวมวลที่เกิดจากอุตสาหกรรมเกษตรมาแปรรูปออกมาเป็นพลังงานได้

 

“วิกฤติอาหาร จะเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตโลกร้อน และประเทศไทยจะเผชิญในปี 2025 โดยเฉพาะการส่งออกจะค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายที่จะต้องขับเคลื่อนในเรื่องนี้ และทุกภาคส่วนต้องเร่งลงมือปรับตัวให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้” แดน กล่าวทิ้งท้าย