ไทย-สิงค์โปร์ผนึกร่วมสร้าง ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ไทย-สิงค์โปร์ผนึกร่วมสร้าง  ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

การค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์ 8 เดือนแรกปีนี้ ม.ค.- ส.ค. 2565 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 436,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% ไทยส่งออกไปสิงคโปร์ได้ 240,000 ล้านบาท ขยายตัว 35% สินค้าที่ส่งออกไปสิงคโปร์สำคัญ

เช่น อัญมณี น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และอาหาร เช่น ไก่ ไข่ เนื้อสัตว์อื่นและเครื่องดื่มเป็นต้น ส่วนที่ไทยนำเข้าจากสิงคโปร์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ทองคำแท่ง เป็นต้น จากมูลค่าการค้าระหว่างไทย-สิงคโปร์ ได้แสดงนัยความสัมพันธ์ที่มากกว่าแค่เพื่อนบ้านที่ดีต่อกันเท่านั้น แต่ไทยอาจมีศักยภาพด้านความมั่นคงอาหารให้สิงคโปร์ได้ด้วย 

การประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore–Thailand Enhanced Economic Relationship หรือ STEER) ครั้งที่ 6 ระดับรัฐมนตรี ระหว่างดร.ตัน ซี เหล็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ผลสรุปร่วมกัน 5 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นที่หนึ่ง ไทยกับสิงคโปร์จะร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคที่ซื้อขายสินค้าบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยจะเร่งเจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูลและกำหนดแนวทางร่วมกันต่อไป

ประเด็นที่สอง สิงคโปร์จะพิจารณาการขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่และไข่นกกระทาออร์แกนิคให้ประเทศไทย โดยมอบหมายให้ อย.สิงคโปร์เจรจากับกรมปศุสัตว์ไทยต่อไป ประเด็นที่สาม สิงคโปร์ยินดีเข้าร่วมงานแฟร์ที่ประเทศไทยจัดขึ้นโดยจะเชิญนักธุรกิจและภาคเอกชนเข้าร่วม ประเด็นที่สี่ สิงคโปร์ยินดีที่จะหารือเรื่องการใช้เอกสารทำธุรกรรมทางธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น 

ประเด็นสุดท้าย การลงทุนและการทำธุรกิจเรือสำราญ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเร่งหารือกับผู้แทนฝ่ายสิงคโปร์ จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการลงทุนเรื่องท่าเรือ การท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญ เพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนของ 2 ประเทศ โดยตลาดเรือสำราญท่องเที่ยวมีตัวเลขสูงทั้งโลกประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนมี ส่วนแบ่งการตลาดแค่ 0.2% ยังมีโอกาสพัฒนา

นอกจากนี้ สองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ( MOU ) 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่หนึ่ง การลงนามระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยกับสิงคโปร์ เรื่องการไม่ตรวจสิทธิบัตรซ้ำซ้อน ฉบับที่สอง ระหว่างผู้ส่งออกไก่ของไทยกับผู้ค้าเนื้อไก่ในสิงคโปร์ ฉบับที่สาม ด้านทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งต้องการให้ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาไทยกับสิงคโปร์เป็นไปอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจดทะเบียนสิทธิบัตรของ 2 ประเทศ ให้มีการรับรองผลการตรวจสิทธิบัตรของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วให้ถือเสมือนผ่านการตรวจสอบอีกประเทศหนึ่งด้วย จะทำให้การจดทะเบียนสิทธิบัตรของ 2 ประเทศรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อน และฉบับที่สี่ บันทึกความเข้าใจสิงคโปร์จะให้คำปรึกษาด้านการผลิตภาคเกษตรของไทย ที่จะนำไปสู่การได้คาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น และฉบับสุดท้าย  ระหว่างปตท.ลงนามกับบริษัท สลีค อีวี จำกัด ของสิงคโปร์ เพื่อให้ปตท.เป็นศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ให้กับรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าที่ผลิตในสิงคโปร์

“นับเป็นเรื่องดีสำหรับทั้งไทยและสิงค์โปรที่มีการร่วมมือด้านอุตสาหกรรม และความยั่งยืนทางด้านอาหาร ไทยเองพร้อมสนับสนุน และสิงค์โปรพร้อมสนับสนุนทางด้านเกษตรกรรมของไทยให้ก้าวไปสู่การได้คาร์บอนเครดิต ตามโมเดล บีซีจี เพื่อความยั่งยืนต่อไป”