ตอนที่ 3: แค่ข้อมูลการเงิน ไม่เพียงพอต่อโลกการลงทุน?

ตอนที่ 3: แค่ข้อมูลการเงิน  ไม่เพียงพอต่อโลกการลงทุน?

เวลาที่ไปโรงพยาบาลก่อนจะพบแพทย์ ผมต้องวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก เจาะเลือด จากนั้นก็รอผลการแสดงตัวเลขต่าง ๆ ที่วัดและประเมินสุขภาพเบื้องต้น แต่ผมไม่รู้หรอกว่าเลขพวกนั้นบ่งชี้ปัจจัยการเกิดโรคได้หรือเปล่า เช่นเดียวกับข้อมูลการเงินจะสามาระบ่งชื่อสุขภาพการลงทุน?

ทำให้ผมนึกถึงการตรวจสุขภาพองค์กรที่ต้องใช้ข้อมูลหลายด้านประกอบกัน จริงอยู่ที่ข้อมูลทางการเงินจะทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ไปถึงปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพธุรกิจได้ทั้งหมด โดยเฉพาะการอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต ตามที่ผมอุปมาในข้างต้น ดังนั้น “ข้อมูลที่ไม่ใช่การเงิน (Non-financial Information)” จึงควรนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการประกอบกิจการควบคู่กับข้อมูลเรื่องเงิน อย่างเช่น เป้าหมายธุรกิจ ลักษณะสินค้าหรือบริการ ความเสี่ยงในอุตสาหกรรม รวมถึงข้อมูลด้าน ESG ทั้งเรื่องการกำกับดูแลกิจการ การจัดการทรัพยากรคนและปัจจัยการผลิต ตลอดจนความสัมพันธ์ของธุรกิจกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กร

อยากให้ทุกท่านเข้าใจว่า คำว่า “ข้อมูลที่ไม่ใช่การเงิน” เป็นเพียงนิยามรูปแบบข้อมูลที่แตกต่างกับข้อมูลทางการเงิน แต่จริง ๆ แล้ว “ข้อมูลที่ไม่ใช่การเงินมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญ” เพราะการใช้พลังงานก็เป็นต้นทุน การพัฒนาคนก็เป็นการลงทุน หรือเหตุการณ์ที่เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมล้วนมีผลต่อเงินในกระเป๋าทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการรู้จักใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อหาแนวทางป้องกันและสร้างโอกาสที่จะพัฒนาองค์กรก็จะทำให้สุขภาพทางการเงินของธุรกิจแข็งแรงขึ้นด้วย

ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความสลับซับซ้อนมาก เจอทั้งการระบาดของโรค COVID-19 วิกฤติราคาน้ำมัน หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ จนเกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจไหนที่เคยหาเงินเก่งๆ ต่างสะดุดกับการเปลี่ยนแปลงจนตกเก้าอี้ สั่นไปถึงโลกการลงทุนที่เผชิญกับความไม่แน่นอนรายวัน ผสมปนเปกับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแลในตลาดทุน กล่าวกันเป็นเสียงเดียวว่าข้อมูลทางการเงินไม่เพียงพอต่อการทำนายธุรกิจหรือตัดสินใจลงทุนแล้ว ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นโอกาสของธุรกิจที่เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่การเงิน โดยเฉพาะข้อมูล ESG เพื่อให้ทุกคนมั่นใจในวิธีการปรับตัวและรับมือกับเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังช่วยดึงดูดให้ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าใจและเข้าถึงธุรกิจได้มากขึ้น จากผลสำรวจของ the Principles for Responsible Investment หรือ The PRI องค์กรที่ส่งเสริมการลงทุนด้าน ESG ของสหประชาชาติ พบว่าปี 2564 มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ใช้ข้อมูล ESG พิจารณาเพื่อการลงทุนสูงถึง 121 ล้านล้านดอลลาร์ โตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2554 กว่า 505 % ซึ่งตอนนั้นมีมูลค่าเพียง 24 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ผู้ลงทุนสถาบันในตลาดทุนบ้านเราก็นำข้อมูล ESG ไปเป็นทางเลือกลงทุนผ่านกองทุน CG และ ESG Funds ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 52,451 ล้านบาท ตอนนี้ผู้ลงทุนทั่วโลกยอมรับว่าข้อมูล ESG ช่วยทำนายสุขภาพ ความเสี่ยง และความมั่นคงของธุรกิจ ตอกย้ำว่า ESG ไม่ใช่แบรนด์การลงทุนของคนดีเท่านั้น แต่เป็นนวัตกรรมที่สร้างผลตอบแทนการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างทางออกให้สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยใช้กลไกของตลาดทุนแก้ปัญหา

จากที่ผมเล่ามาความต้องการข้อมูล ESG สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย หลากหลายมาตรฐาน ธุรกิจไม่ค่อยนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณที่มีโครงสร้างชัดเจน เลยทำให้เปรียบเทียบกับข้อมูลทางการเงินยาก ทำให้ตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งในโลกพยายามใช้เทคโนโลยีมาจัดการข้อมูล ESG เพื่อประโยชน์ของธุรกิจและผู้ลงทุน เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ได้พัฒนาระบบ ESG Data Platform ให้เป็นศูนย์กลางรองรับความต้องการข้อมูลด้าน ESG ของผู้ใช้ข้อมูล และเป็นเครื่องมือการจัดการข้อมูลด้าน ESG ของธุรกิจที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยผมจะมาเล่าถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการขยายระบบนิเวศด้านความยั่งยืนของตลาดทุนไทยด้วยข้อมูล ESG ในฉบับต่อไป รอติดตามอ่านกันนะครับ