'ไทยเบฟฯ' หนุน 'กรีนซัพพลายเชน' สร้างเครือข่ายสู่ ‘ความยั่งยืน’ 

'ไทยเบฟฯ' หนุน 'กรีนซัพพลายเชน' สร้างเครือข่ายสู่ ‘ความยั่งยืน’ 

การจัดการโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain Management) เป็นแนวทางที่องค์กรภาคธุรกิจหลายแห่งให้ความสำคัญ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเป็นองค์กรยั่งยืน โดยมุ่งที่การบริหารจัดการที่ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนที่เกิดขึ้นตลอดซัพพลายเชน

ดังนั้น Green Supply Chain จึงเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นนำถึงปลายน้ำตั้งแต่แหล่งที่มา และกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการ กระบวนการผลิต การบริการ รวมไปถึงกระบวนการขนส่งซึ่งไม่เพียงแต่ภายในองค์กรเท่านั้น ยังเชื่อมโยงไปถึงคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจด้วย  

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “Green Supply Chain” นอกจากการที่บริษัทยึดหลักการทำธุรกิจยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม “คู่ค้า” ก็ได้รับการผลักดันให้ดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ทั้งนี้ไทบเบฟฯ ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network) หรือ “TSCN” โดยร่วมมือกับคู่ค้ารายสำคัญของบริษัทก่อตั้ง เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ “TSCN” เพื่อผนึกพลังองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของประเทศไทย และร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และขยายธุรกิจไปในยังต่างประเทศหรือตลาดอื่นๆ รวมทั้งได้สร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในการจัดงานนิทรรศการเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Expo) ตั้งแต่ปี 2020 มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าสิ่งที่กลุ่มไทยเบฟฯ ทำในขณะนี้คือ เราพยายามสื่อสารไปยังคู่ค้า และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการรายต่างๆ ในไทย ที่ไปลงทุนในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ว่าการทำธุรกิจสามารถที่จะไปทำด้วยกันได้ จับมือกันเป็น Thailand Supply Chain Network ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยเบฟฯ เราต้องการผลักดันให้เกิดความยั่งยืนมาตลอด 10 ปี

เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมถึงคู่ค้า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการเชื่อมต่ออุปสงค์ และอุปทานในการทำธุรกิจไว้ด้วยกัน และเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งเครือข่ายภาคธุรกิจในประเทศไทย

'ไทยเบฟฯ' หนุน 'กรีนซัพพลายเชน' สร้างเครือข่ายสู่ ‘ความยั่งยืน’ 

ทั้งนี้ไทยเบฟฯ ให้ความสำคัญกับนโยบาย และมาตรฐานในการจัดหาวัตถุดิบ การรักษามาตรฐานด้านคุณภาพ การส่งมอบการบริการ กระบวนการตรวจประเมินคู่ค้า และการมีส่วนร่วมของคู่ค้า โดยกำหนดกลยุทธ์ และพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับความต่อเนื่องทางธุรกิจ และหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ

ฐาปน กล่าวว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ที่เราอยู่ในกลุ่มบริษัทที่ได้ Dow Jones Sustainability Index (DJSI) โดยไทยเบฟฯ ถือเป็นบริษัทที่เป็น “World Sustainability Reader” คือ ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีอยู่ในโลกนี้

“ประเด็นคือ สิ่งที่เราต้องคิดว่าสิ่งที่เราต้องทำต่อคืออะไร เพราะรางวัลที่ได้คือ มาจากธุรกิจที่เราทำเองเช่นเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ขวดที่เราออกแบบไว้สามารถเอากลับมารีไซเคิลได้ ซึ่งต่อไปก็ต้องคิดว่าต้องทำอะไรมากขึ้นในวัสดุอื่นๆ หรือการปรับให้มีการใช้ไบโอพลาสติกมากขึ้นด้วยในอนาคต”

สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในเรื่องของการจัดการซัพพลายเชนสำหรับการผลิตสินค้าไปสู่การเป็นแนวทางกรีนซัพพลายเชนนั้นจะเป็นข้อกำหนดที่เข้ามามีบทบาทกับภาคการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะเกี่ยวข้องในหลายด้านทั้งแหล่งผลิตวัตถุดิบ

แหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตสินค้าที่อนาคตต้องมาจากแหล่งพลังงานสะอาดเพราะบริษัทขนาดใหญ่เริ่มขยับในเรื่องนี้มากขึ้น และเมื่อประกาศว่ากระบวนการผลิต และขนส่งจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ตามที่กำหนดก็จะมากำหนดไปยังคู่ค้าที่อยู่ในซัพพลายเชนว่าต้องทำตามข้อกำหนดเดียวกันด้วย ปัจจุบันจากข้อมูลของ ส.อ.ท.บริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกจะใช้นโยบายดังกล่าว และในปี 2030 กว่า 170 บริษัทมีสาขาในประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนจึงต้องวางแผนรองรับ

ตัวอย่างเช่น โตโยต้า ลดระยะเวลาจากการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์จากเดิมในปี 2050 เปลี่ยนเป็นปี 2030 ซึ่งการประกาศนโยบายแบบนี้ก็ทำให้คู่ค้าต้องปรับตาม หากบริษัทไหนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะถูกยกเลิกคำสั่งซื้อได้

ความท้าทายของประเทศไทย ต่อเรื่องนี้ก็คือ ส่วนใหญ่ในประเทศไทยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็นส่วนที่รับจ้างผลิต (OEM)  จำนวนมาก อาจถูกผลกระทบจากการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายนี้เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน และผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้หากดูเฉพาะในส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มาจากบริษัทที่สั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยหากบริษัทเหล่านี้กำหนดให้เราต้องใช้พลังงานสะอาดในการผลิตเหมือนกับบริษัทแม่ หากคิดเฉพาะในซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมหลักของไทยที่มีการส่งออกอยู่ประมาณ 4 ล้านล้านบาท หากถูกผลกระทบ 10% เราจะกระทบประมาณ 4 แสนล้านบาท หากกระทบ 30% ก็เท่ากับเสียหาย 1.2 ล้านล้านบาท

“ผลกระทบในเรื่องนี้ร้ายแรงกว่าการย้ายฐานการผลิต เพราะเขาสามารถย้ายไปสั่งซื้อออเดอร์จากบริษัทอื่นๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องการผลิตตามเกณฑ์ความยั่งยืนที่เขากำหนดไว้ได้ทันที และผลกระทบต่อไปในอนาคตที่บริษัทที่เข้ามาลงทุนจะต้องซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์