20 ปี "ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์" กับ "ฝุ่นควันภาคเหนือ" มิติปัญหา ที่มากกว่าการเผา

20 ปี "ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์" กับ "ฝุ่นควันภาคเหนือ" มิติปัญหา ที่มากกว่าการเผา

20 ปีที่ผ่านมา ภาคเหนือตอนบนของไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า สิ่งที่ตามมา คือ การเผาและ "ฝุ่นควันภาคเหนือ" แต่เมื่อมองมิติปัญหา จะพบว่า มีความซับซ้อนมากกว่านั้น และการแก้ไขต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย

มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ ฝุ่นควันภาคเหนือ ที่หลายคนมองว่ามีจุดเริ่มจากการเผาพื้นที่ ปลูกข้าวโพด แต่หากมองลึกลงไปถึงปัญหา จะพบว่า การบริโภคและส่งออกเนื้อสัตว์ รวมถึงนโยบาย “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ถือเป็นช่องทางให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าถึงแหล่งเงินทุน

 

ส่งผลให้ใน 20 ปี ที่ผ่านมา มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ภาคเหนือเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า ขณะเดียวกัน พื้นที่ลาดชันเนินเขา ทำให้การใช้รถไถเป็นไปด้วยความยากลำบาก กลายเป็นว่า สิ่งที่ง่ายที่สุด คือ จุดไฟเผา ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว แต่สร้างปัญหาฝุ่นควัน

 

ไทยส่งออกเนื้อไก่ อันดับ 3 ของโลก

 

มลพิษทางอากาศ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นวิกฤติคุกคามทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์ ผลวิจัย กรีนพีซ พบว่า พื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปลูกข้าวโพด มีมากถึง 1 ใน 3 และภายในช่วงเวลาเพียง 5 ปี (2558 – 2563) พื้นที่ป่าจำนวน 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด

 

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจและการเกษตร ระบุว่า ประเทศไทย มีกำลังการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 5 ล้านตัน โดยมีอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ อันดับ 3 ของโลก

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ กลับต้องแลกมาด้วยวิกฤติสภาพภูมิอากาศหมอกควันพิษข้ามพรมแดน การสูญเสียพื้นที่ป่า ปัญหาสุขภาพของคนไทย รวมถึงความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

 

20 ปี \"ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์\" กับ \"ฝุ่นควันภาคเหนือ\" มิติปัญหา ที่มากกว่าการเผา

20 ปี ภาคเหนือ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่ม 4 เท่า

 

หนึ่งในจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เชื่อมโยงกันระหว่าง มลพิษทางอากาศ ข้ามพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าในไทย คือ การปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ซึ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร ชนพื้นเมือง และประชาชนมากกว่าที่คิด

 

จากรายงานศึกษาของ กรีนพีซ ประเทศไทย เผยแพร่ในช่วงเสวนา ฝุ่นควันภาคเหนือ ปัญหาเขา ปัญหาเรา งานแถลงข่าว “อาเซียนร่วมใจ: ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร?” (ASEAN: One Vision, Shared Pollution) เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 65 เนื่องในสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน (MAEW – Mekong-ASEAN Environmental Week) ที่ห้อง SEA Junction ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

มีการศึกษาถึงแบบแผนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของ ไทย (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอนและพะเยา) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2545-2565) โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมทุก 5 ปี (พ.ศ. 2545 2550 2555 2560 และ 2565) มาวิเคราะห์จำแนกการใช้ที่ดิน/สิ่งปกคลุมดิน พบว่า

  • ระหว่างปี 2545-2565 ภาคเหนือตอนบน ของไทยมีพื้นที่ปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า)
  • โดยปี 2550 พื้นที่ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ขยายตัวแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปี 2545
  • พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยขยายตัวสูงสุดเป็น 2,502,464 ไร่ ในปี 2555
  • ช่วงเวลาที่พื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดคือปี 2545-2555 คิดเป็นพื้นที่ 2,176,664 ไร่

 

20 ปี \"ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์\" กับ \"ฝุ่นควันภาคเหนือ\" มิติปัญหา ที่มากกว่าการเผา

หลังจากปี 2550 อัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบน ของไทยค่อนข้างคงที่ การสูญเสียพื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน(ปี 2565) ประมาณ 9 ล้านไร่ นอกเหนือจากการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งต่อไปขยายไปยังประเทศ เพื่อนบ้านโดยเฉพาะรัฐฉาน(เมียนมา) และภาคเหนือของ สปป.ลาว แล้ว ยังมาจากการขยายตัวของพืช เศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก (commodity-driven deforestation)

 

ปลูกข้าวโพด ช่องทางเข้าถึงเงินทุน

 

“ชนกนันทน์ นันตะวัน” หัวหน้ากลุ่มเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า พื้นที่แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ปลูกข้าวโพดมากที่สุด 9 หมื่น – 1.2 แสนไร่ มีเศษชีวมวล และต้นข้าวโพดที่เหลือจากการปลูกซึ่งกำจัดได้ยาก หลังฤดูการเก็บเกี่ยว ฤดูแล้ง ทิ้งเศษซากเหล่านี้ไว้ในพื้นที่แปลงเกษตรในพื้นที่ราบมีการไถพรวน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดชัน การเอารถไถเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้น สิ่งที่ง่าย คือ จุดไฟเผา ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว แต่สร้างปัญหาฝุ่นควัน

 

“นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเสื่อมโทรมของหน้าดิน เมื่อฝนตกจะเกิดปรากฏการณ์ดินสไลด์ และดินที่ถูกไถพรวนจนหน้าดินบาง ทำให้ตะกอนดินไหลลงมา แหล่งน้ำธรรมชาติตื้นเขิน นำอุปโภคลดลง ส่งผลต่อระบบนิเวศอื่นๆ ด้วย”

 

หากมองในมิติคนอาศัยในพื้นที่ การปลูกข้าวโพดใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร สุขภาพแย่ มีโรคมะเร็งเยอะ และภาระหนี้สินครัวเรือน การมีนโยบายสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่คนในพื้นที่กลับมีปัญหาหนี้สิน เพราะการปลูกข้าวโพดเป็นใบเบิกทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใน “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ปลูกและขายได้ หากใครที่มีพื้นที่มากๆ อาจจะได้กำไรเล็กน้อย หากใครที่พื้นที่ไม่มากก็พอมีเงินหมุน ขณะที่ หน้าฝนปลูกหอม กระเทียม ชดเชยรายได้ แต่หอมกระเทียมไม่ได้เป็นตัวการันตีในการที่มีเครดิตในวงการไฟแนนซ์

 

“เกษตรกรทุกคนเห็นถึงผลกระทบ แต่ปัญหาใหญ่ เกินกว่าเกษตรกรจะต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นโยบาย ผู้บริโภค ที่เอื้อให้ปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่มีหลายพื้นที่ที่พยายามเปลี่ยน แต่เปลี่ยนลำพังไม่ได้ ต้องการเครือข่ายที่ซัพพอร์ต ผลักดัน รวมถึงนโยบายภาครัฐ”

 

มองปัญหารอบด้าน

 

“ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ” ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ อธิบายว่า ประเทศไทยอยู่ใน ป่าเขตร้อนมีเพียง 7% ของโลก มีความหลากหลายทางชีวภาพ คุณค่าสูง ทั้งอาหาร และยา เป็นพื้นที่สำคัญอย่างยิ่งของโลก และกำลังจะเสียหายมากมาย ประเทศไทยเริ่มมีฤดูใหม่ คือ ฤดูฝุ่นควัน โดยจุดเผาไหม้ในช่วงฤดูฝุ่นควัน ธ.ค. – เม.ย. โดยเฉพาะเดือนมีนาคมถือเป็นช่วงพีคที่สุด และไม่ใช่แค่ไทย แต่ยังรวมถึงเวียดนาม ลาว เมียนมา อีกด้วย สถิติจำนวนจุดไฟไหม้ 2564 – 2565 ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

 

จากการวิเคราะห์บทเรียนสถานการณ์วิกฤติฝุ่นควัน PM2.5 พบว่า ไม่ใช่แค่ชาวบ้าน ชนเผ่าที่ทำการเผา แต่เกิดจากการเผาไหม้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคมนาคมขนส่ง โรงงาน พื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลผลกระทบพื้นที่ป่า ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต อีกทั้ง ส่งผลกระทบสุขภาพ มีคนเสียชีวิตเนื่องจากฝุ่นควัน 40,000 คนต่อปี เศรษฐกิจสูญเสีย 100,000 ล้านบาท จากปัญหาฝุ่นควัน 5 เดือนทำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงที่จะมาเที่ยวภาคเหนือ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านมักถูกเป็นจำเลย และ โลกร้อน โลกรวน

 

วิเคราะห์สาเหตุและมองใหม่

 

ชัชวาลย์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซับซ้อน เชื่อมหลายเรื่องหลายหน่วย ต้องมองทั้งระบบ คำสั่งแบบบนลงล่างแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องเป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน สร้างการมีส่วนร่วม ไม่โทษกันไปมา ต้องลุกขึ้นมาจับมือกันแก้ปัญหา มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ต้องหาทางออกแบบ Win Win แก้ทั้งระบบในระดับท้องถิ่น / ประเทศ / อาเซียน / ระดับโลก แต่ให้ความสำคัญกับชุมชน และท้องถิ่นสำคัญที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่อยู่กับดินน้ำป่า คนในเมืองคิดดีแค่ไหนก็แก้ปัญหาไม่ได้ หากชุมชนท้องถิ่นไม่ลุกขึ้นมา

 

ห้ามเผา จุดเริ่มของการ แอบเผา

 

ชัชวาลย์ อธิบายต่อไปว่า จากที่รัฐใช้นโยบายห้ามเผาเด็ดขาด แต่หลังจากนั้นทำให้เกิดเหตุไฟไหม้หาต้นตอไม่ได้ เพราะทำให้การเผาไปอยู่ใต้ดิน ทำให้ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ ได้นำร่องการทำงาน ผ่านกลไกระบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น "ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสาน รัฐธุรกิจวิชาการภาคประชาสังคมเป็นฝ่ายหนุน" มีคณะกรรมการทุกพื้นที่ระดับตำบล และตัวแทนจากทุกหมู่บ้านเข้ามาร่วม โดยแบ่งการเผาที่จำเป็นและไม่จำเป็น

 

“เรากำลังมองว่าการเผาที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต มีความจำเป็นของชุมชนที่ต้องใช้ รวมถึงจัดการพื้นที่เสี่ยง ล่อแหลมในลักษณะของการป้องกัน สามารถเผาได้แต่ต้องแจ้งให้หน่วยงานทราบ ที่เชียงใหม่ ใช้ แอปพลิเคชั่น “FireD” หากชาวบ้านต้องการเผา ให้แจ้งมาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีคณะกรรมการช่วยพิจารณา ดูค่า PM2.5 กระแสลม การระบายตัวของอากาศเหมาะหรือไม่ โดยดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และสามารถพยากรณ์ได้อีก 3-5 วัน มาช่วยพิจารณาในการบริหารจัดการในพื้นที่ที่จำเป็น โดยชาวบ้านสามารถแจ้งเข้ามา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือ ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

 

เนื่องจากชุมชนอยู่ในพื้นที่ มีการใช้ไฟที่จำเป็น คือ การหุงต้ม หรือไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่ทำมาอย่างยาวนาน โดยจะปล่อยให้กิ่งใบไม้แห้งเต็มที่ มีแนวกันไฟ และเผาในช่วงเวลาบ่าย ใช้เวลาราว 30 นาที หรือในส่วนของป่าไม้บางจุดที่เป็นพื้นที่มีใบไม้สะสมเยอะมากจนอันตราย หากเกิดไฟแล้วจะทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างหนักหน่วง อาจจะต้องมีการเคลียร์พื้นที่ทำให้ชีวมวลลดลง ขณะที่ การเผาจุดที่ไม่จำเป็น คือ จุดสำคัญทั้งหมดของระบบนิเวศที่เราต้องดูแล

 

“แต่เดิมเราใช้กฎหมายห้ามเผาเด็ดขาด ดังนั้น กลายเป็นว่าต้องไปไล่จับ และกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่วิธีนี้ทำให้ทุกคนหันหน้ามาหากัน ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา โดยพื้นที่เชียงใหม่เป็นพื้นที่นำร่อง ดำเนินการมากว่า 2 ปี”

 

“ที่ผ่านมา เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านเบาลง เกิดความรู้มากขึ้นจากระบบแอปพลิชั่น ระบบบริหารจัดการ ประชาชนเข้าใจว่าอะไรจำเป็น ไม่จำเป็น รู้ค่าฝุ่นละออง กระแสลม ต้องใช้ข้อมูลในการพิจารณาทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจกันมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการผลักดันให้ครอบคลุมภาคเหนือตอนบนต่อไป” ชัชวาลย์ กล่าว

 

20 ปี \"ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์\" กับ \"ฝุ่นควันภาคเหนือ\" มิติปัญหา ที่มากกว่าการเผา

 

ข้อเสนอกรีนพีซ

 

“รัตนศิริ กิตติก้องนภาวงศ์” ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ยังขาดหายไปในกลไกทางกฎหมายและการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปสู่การปลูกข้าวโพดแบบอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คือ ภาระรับผิดของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และการได้ผลประโยชน์จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการประกอบธุรกิจ

 

“ถึงเวลาที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

 

ภาพปก : กรีนพีซ ประเทศไทย