Carbon Capture 'ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน' เทคโนโลยีกู้โลกร้อน ก่อนโลกพัง

Carbon Capture 'ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน' เทคโนโลยีกู้โลกร้อน ก่อนโลกพัง

พาไปรู้จัก Carbon Capture "ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน" หนึ่งในเทคโนโลยีกู้โลกร้อน ก่อนโลกพัง ภารกิจสุดท้ายนำธุรกิจ SME ไทย สู่เป้าหมาย Net Zero

บทความนี้จะนำผู้ประกอบการก้าวสู่บันไดขั้นสุดท้ายใน Step ที่ 3 ของการไปถึงเส้นชัย Road to Net Zero เมื่อเราลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการนำ พลังงานหมุนเวียน มาช่วยในกระบวนการผลิตอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกไปได้ทั้งหมด จึงต้องชดเชยคาร์บอนโดยการซื้อคาร์บอนเครดิต และเมื่อถึงที่สุดแล้วยังหลงเหลือคาร์บอนอยู่ ต้องใช้เทคโนโลยีในการกักเก็บคาร์บอนที่ปล่อยออกมาให้กลายเป็นศูนย์ นั่นหมายความว่า เมื่อเราผลิตสินค้าแล้วปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ จะต้องดูดซับหรือดูดกลับคาร์บอน รวมถึงการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนให้ได้เท่ากับที่ปล่อยออกไป

ปัจจุบัน บริษัททั่วโลกได้เพิ่มระดับความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบริษัทที่มีความมุ่งมั่นมากถึงกับประกาศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งบริษัทต่างๆ สามารถทำได้โดยการกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ โดยกระบวนการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide Removal - CDR) โดย CDR นี้ หมายรวมถึงการปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าหรือการฟื้นฟูป่า ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี เช่น การผลิตพลังงานชีวภาพด้วยการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bioenergy with Carbon Capture and Storage - BECCS) หรือการดักจับคาร์บอนในอากาศโดยตรง ด้วยการกักเก็บ (Direct Air Carbon Capture and Storage - DACCS)

Carbon Capture \'ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน\' เทคโนโลยีกู้โลกร้อน ก่อนโลกพัง

เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลพิษเป็นศูนย์ได้ โดยจะดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่แหล่งกำเนิดและกักเก็บไว้ใต้พื้นดินอย่างถาวร

สำหรับขั้นตอนแรกของ CCS คือ การดักจับ ซึ่งมักติดตั้งบริเวณที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงฟอสซิล และโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตซีเมนต์หรือเหล็กกล้า ซึ่งโครงการเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ จะใช้ของเหลวเพื่อทำปฏิกิริยาเคมีกับฝุ่นควันปากปล่องเพื่อดักจับคาร์บอนก่อนที่จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ หลังจากนั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกกลั่นให้มีสภาพเป็นของเหลวเพื่อขนส่งไปยังพื้นที่ "กักเก็บ" ผ่านท่อที่คล้ายกับท่อส่งน้ำมัน เพราะหากขนส่งทางเรือจะใช้ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เมื่อถึงปลายทางคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของเหลวจะถูกฉีดกลับเข้าไปในช่องใต้พื้นดิน ช่องว่างดังกล่าวมักเป็นบ่อน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่ถูกขุดเจาะขึ้นมาใช้จนหมดแล้ว โดยระดับความลึกไม่น้อยกว่า 750 เมตร 

Carbon Capture \'ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน\' เทคโนโลยีกู้โลกร้อน ก่อนโลกพัง

นอกจากกระบวนการดักจับและกักเก็บแล้ว บริษัทบางแห่งยังหาหนทางในการนำคาร์บอนไป "ใช้งาน (Utilization)" โดยทางเลือกยอดนิยมคือ การใช้เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน (Enhanced Oil Recovery หรือ EOR) โดยฉีดกลับเข้าไปในบ่อน้ำมันที่ยังดำเนินการอยู่เพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันได้มากยิ่งขึ้น

แล้วจะกำจัดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ได้อย่างไร?

ด้วยปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การค้าโลกยุคใหม่ที่เข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันองค์กรธุรกิจตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีอีกหลายกิจกรรมของผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ได้ การกำจัดคาร์บอนจากอากาศ (Carbon removal) จึงเป็นทางออกสุดท้ายเพื่อช่วยชดเชยการปล่อยคาร์บอนที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เป็นศูนย์ ซึ่งการกำจัดคาร์บอนจากอากาศสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sequestration) คือการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ จากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของแข็งหรือของเหลว และนำมากักเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บตามธรรมชาติที่มีความสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ยาวนาน เช่น มหาสมุทร ดิน และชั้นหิน
  2. การดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) คือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล โดยเมื่อดักจับมาแล้ว จะนำไปกักเก็บที่แหล่งกักเก็บต่ออีกที บางครั้งจึงอาจได้ยินคำว่า การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage, CCS) แต่ถ้าเป็นการดักจับจากอากาศโดยตรง เรียกว่า Direct Air Capture (DAC) ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีโรงงาน Direct Air Capture อยู่ทั้งหมด 18 แห่ง สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 0.01 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทั่วโลกปล่อยออกมาปีละ 3 หมื่นกว่าล้านตัน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้กำลังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์และจำนวนโรงงานแบบนี้ก็กำลังเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ 
  3. คาร์บอนเทค (Carbontech) เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งหวังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกับคาร์บอนที่ดักจับมาได้เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า โดยนำคาร์บอนที่ดักจับมาไปต่อยอดกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น นำไปผสมในคอนกรีต หรือนำไปผลิตวัสดุที่มีคาร์บอนเป็นส่วนผสม นอกจากจะช่วยลดคาร์บอนได้แล้ว ยังสร้างมูลค่าได้อีกด้วย 

Carbon Capture \'ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน\' เทคโนโลยีกู้โลกร้อน ก่อนโลกพัง

ตัวอย่างองค์กรชั้นนำของไทยที่ใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน

หันมาที่บ้านเรา มีบริษัทชั้นนำหลายแห่งเริ่มนำเทคโนโลยีดับจับและกักเก็บคาร์บอนมาใช้กันมากขึ้นยกตัวอย่าง ปตท.สผ. เดินหน้าโครงการการดักจับคาร์บอน และนำไปกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage - CCS) ในชั้นใต้ดิน พื้นที่ปฏิบัติการของ ปตท.ในอ่าวไทย และประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะช่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ในปริมาณมาก นับเป็นการทำโครงการลักษณะนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นอกจากนั้น ปตท. ยังได้ศึกษาโอกาสและเทคโนโลยีที่จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization - CCU) โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรือวัสดุเพื่ออนาคต โดยการนำก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาทิ้งในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี CCS

Carbon Capture \'ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน\' เทคโนโลยีกู้โลกร้อน ก่อนโลกพัง

การกักเก็บคาร์บอนด้วยแหล่งธรรมชาติ (Natural Habitats)

ขณะที่ภาครัฐ มีเป้าหมาย Net Zero ให้ภาคป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งในการดูดซับก๊าซคาร์บอน เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เสื่อมโทรมอีกจำนวนมาก ตรงนี้เป็นจุดที่ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมกันฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่เสื่อมโทรม สิ่งสำคัญคือ ประเทศต้องมีการดูแลภาคป่าไม้ ที่ผ่านมาเอกชนมีข้อจำกัด เพราะเครดิตภาคป่าไม้จะถือว่ามีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้น้อยกว่าเรื่องอื่น เพราะถ้าเกิดไฟไหม้ป่าหรือใครมาบุกรุก คาร์บอนที่สะสมมาจะหายไป ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีการดูแล เพราะเอกชนดูแลไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าภาครัฐมีความตั้งใจให้เอกชนมาช่วยสนับสนุน จะเป็นโอกาสที่ดี

โดยแหล่งธรรมชาติสามารถเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน เพื่อลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแบ่งออกมาเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

  1. บลูคาร์บอน (Blue carbon) เป็นการดูดซับคาร์บอนในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นวิธีการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น พื้นที่ป่าชายเลน หรือป่าที่มีน้ำท่วมขัง ริมแม่น้ำ สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินลึกหลายเมตร มากกว่าป่าเขตร้อน 2-4 เท่า
  2. หญ้าทะเล (Seagrass) สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ที่ราก และเนื้อเยื่อเมื่อพืชตาย คาร์บอนจะอยู่ในโครงสร้างที่ซับซ้อนของหญ้าทะเล และสะสมรวมกันที่ก้นทะเล ทำให้ทุ่งหญ้าทะเลมีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอน และทำหน้าที่ลดความเป็นกรดในมหาสมุทร รวมถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในธรรมชาติ
  3. พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) สามารถกักเก็บคาร์บอนและสามารถให้ประโยชน์อื่นๆ แก่ระบบนิเวศ ไปพร้อมกัน คาร์บอนจากปากแม่น้ำหรือพืชจะถูกสะสมไว้หลังกระแสน้ำไหลผ่านและกลายเป็นชั้นตะกอนที่อุดมด้วยอินทรีย์คาร์บอน มีงานวิจัยในประเทศอังกฤษพบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำสามารถกักเก็บคาร์บอนในดินได้ 10,000 ตัน/ปี และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมและช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
  4. ป่าพรุ (Peatlands) มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเก็บคาร์บอนที่ขนาดใหญ่และสามารถดูดซับคาร์บอนได้ดี ในทางกลับกันหากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะเป็นการปล่อยคาร์บอนกลับสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งผลให้มีการสะสมคาร์บอนในบรรยากาศมากขึ้นด้วย

Carbon Capture \'ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน\' เทคโนโลยีกู้โลกร้อน ก่อนโลกพัง

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า หลักการ ESG สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วโลก มีความเป็นสากล อีกทั้งในมุมมองของนักลงทุน เชื่อว่าทุกคนหวังผลกำไรในการลงทุนที่ยั่งยืน หากเน้นแค่ด้านความยั่งยืน ไม่เน้นผลกำไรในอนาคต ธุรกิจจะไม่มีทรัพยากรมาใช้ เรื่องความยั่งยืนจึงเป็นที่มาว่าทำไม ผู้ประกอบการ SME จึงต้องเติบโตแบบ Quality Growth ควบคู่กับ Clean Growth ดังนั้น จึงต้องผสมผสานหลักการ ESG ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินไปข้างหน้าได้อยางแท้จริง

สุดท้ายจะเห็นว่า การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก สามารถทำได้หลากหลายวิธี ที่จะทำให้ธุรกิจของเราบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ในที่สุด โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังเยียวยารักษาโลกให้น่าอยู่ขึ้นอีกด้วย ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการนำขั้นตอนทั้ง 3 Step ไปปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ จะสามารถนำธุรกิจไปสู่หมุดหมาย Net Zero ได้อย่างแท้จริง 

สามารถติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่ เว็บไซต์

อ้างอิง :