'คอนเทนต์สร้างสุข' พลิกมุมมอง สาระก็สนุก บันเทิงก็มีความรู้

รับชม 7 คอนเทนต์ 7 ความสุขไม่ซ้ำกัน ที่จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นแบบไม่น่าเบื่อ ได้ทั้งความสนุก และสาระจัดเต็ม
ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนมุมมมองเสียใหม่ เพราะวันนี้กำลังจะได้เจอกับ 7 รายการทีวี 7 รสชาติ ซึ่งมาใน 7 รูปแบบไม่ซ้ำกัน ทุกคนสามารถเลือกเสพได้ตามความชอบและตามอัธยาศัย แถมยังได้ความรู้เรื่องสุขภาพประดับสมองจาก คอนเทนต์สร้างสุขเหล่านี้
เปลี่ยนนำสื่อดีเป็นสื่อสนุก (แต่ต้องเข้าถึงนะ)
ว่ากันว่าในประเทศใดที่มีเปอร์เซนต์ของ "สื่อน้ำดี" เป็นสัดส่วนยิ่งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนในประเทศนั้นๆ มีศักยภาพ และการพัฒนาสูง นำไปสู่การมีสังคมคุณภาพ
รับรู้กันอยู่แล้วว่า ไม่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปเพียงใด แต่พลังของ "สื่อ" ก็ยังคงมีอิทธิพล และมีบทบาทในการที่จะ Shape Up หรือชี้นำสังคม เป็นเสมือนเข็มทิศที่คอยนำทางความคิดมวลชนให้ไปในทิศทางที่ต้องการ แต่บ่อยครั้งที่สื่อน้ำดีมักถูกมองว่าขาดสีสัน ไม่มีแรงจูงใจให้คนเข้าถึงเนื้อหาสาระที่นำเสนอ ที่สำคัญหากทำคอนเทนต์ดีแค่ไหนแต่ไม่มีคนดูก็อาจดูไร้ประโยชน์ และไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นหากลองคิดมุมกลับ เพียงจับเอาเนื้อหาสาระเครียดๆ มานำเสนอผ่านสื่อสายสนุกสนานได้ ก็น่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไปหรือไม่ ?
จากความเชื่อที่ว่า การมีความตระหนักรู้จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนได้ ทำให้วันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเปิดโครงการ คอนเทนต์สร้างสุข มีเป้าหมาย สร้างความตระหนักรู้เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพ ซึ่งหากย้อนไปมองกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สสส. ใช้เครื่องมือสื่อสารนำพาสังคมไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างวัฒนธรรม สร้างวิถีชีวิต นำเสนอความรู้และแรงบันดาลใจที่ได้ส่งต่อไปสู่สังคม ซึ่งช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมได้ไม่น้อย
แต่ในวันนี้ เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์และรสนิยมของพี่น้องประชาชนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเพิ่มการเข้าถึง และการตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น จึงทำให้สสส. กำลังวางหมุดหมายใหม่ของการสื่อสารความรู้สุขภาพในแบบที่เข้าใจและเข้าถึงมากขึ้น
สสส. จึงสานพลังสื่อโทรทัศน์ 4 สถานี และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data-Driven Society) พัฒนารายการโทรทัศน์ 7 รายการ ภายใต้โครงการคอนเทนต์สร้างสุข มุ่งเป้าหมาย 3 ประเด็น ดังนี้
- ขยายความร่วมมือกับองค์กรสื่อของรัฐและเอกชน
- นำเสนอข้อมูลสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนเข้าใจโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่ถูกต้องและชัดเจน
- ประชาชนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงนวัตกรรม เครื่องมือ นำไปสู่การปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยงโรค NCDs มีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. เปิดใจถึงที่มาโครงการว่า เพราะปัญหาใหญ่ของสุขภาวะของคนไทยในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องการมีความรู้อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความตระหนักรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง จริงๆ แล้ว มันเป็นการผสานระหว่างส่วนที่เรียกว่าศาสตร์และศิลป์ หรือว่าวิชาการบวกกับศิลปะ ซึ่งตรงนี้สําคัญมาก เพราะว่าถ้าสื่อสารในรูปแบบเดิมๆ ในลักษณะวิชาการตรงๆ คนอ่านข่าวเดิมๆ อาจไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ แต่ถ้าเราหากระบวนการใหม่ที่ใช้ศิลปะมากขึ้น ใช้กระบวนการที่สื่อสาร แต่ยังคงยืนยันว่าข้อมูลต้องถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งที่ผ่านมาทางสํานักสื่อสารทางการตลาดเพื่อสังคม มีการทํางานกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ อย่างหนักมาโดยตลอด เพื่อให้การยืนยันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และวิชาการก่อนนําข้อมูลเหล่านี้ถ่ายทอดสื่อสารไปสู่ผู้คน ทั้งพี่น้องประชาชนอย่างมีศิลปะ
นพ.พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มว่า คนเราอาจจะแพ้ใจเราเอง ทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น อาจจะทานมากเกินไป อาจใช้สารเสพติด ไม่อยากออกกําลังกาย แต่ถ้าเรามีความตระหนักมากขึ้น โดยการได้รับหรือเข้าถึงความรู้ผ่านกระบวนการสื่อสาร ทั้งเกม รายการ หรือในละครที่ตนชอบ ก็คาดหวังว่าประชาชนทุกคนจะซ่อม หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองได้ แล้วมีสุขภาวะที่ดีไม่มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การที่สสส. ร่วมกับผู้ผลิตสื่อในการผลิตคอนเทนต์แนวบันเทิงเหล่านี้ เพราะตระหนักดีว่าบางคนอาจจะไม่ชอบรายการข่าว หรือไม่ชอบการหาความรู้ในลักษณะที่เป็นนักวิชาการ
"สสส. พยายามจะค้นหาวิธีการในการที่ทํางานร่วมกับสื่อต่างๆ ในการที่จะสื่อสารผ่านวิธีการง่ายๆ ที่คนสามารถรับรู้ได้ อาจจะเป็นเกม ละคร ข่าว หรือรายการต่างๆ ที่สามารถทําให้คนเข้าใจเรื่องสุขภาพที่บางทีอาจเป็นความรู้เชิงวิชาการ หรือสามารถทําให้คนเข้าถึงได้ และก็สามารถที่จะช่วยยืนยันได้ว่าข้อมูลต่างๆ ที่นำเสนอออกไปได้ถูกกรองโดยผู้เชี่ยวชาญ องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อจะนําข้อมูลความรู้นี้ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
เพราะสื่อสร้างสรรค์ ต้องเข้าถึงเป้าหมาย
สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นการรวมพลังจากผู้ผลิตสื่อชั้นนำระดับประเทศ ช่วยกันออกแบบการทำงานสื่อ คอนเทนต์สร้างสุข โดยการเปิดตัวรายการโทรทัศน์ใหม่ 7 รายการ
"จริงๆ ต้องบอกว่าสื่อมวลชนให้ความร่วมมือกับสสส. มาตลอดกว่า 22 ปี เราได้สื่อมวลชนมาช่วยเหลือกัน แต่ครั้งนี้จะมีความแตกต่างตรงที่มันถูกออกแบบ เรามีการออกแบบเรื่องราวเนื้อหาเพื่อคิดหรือหาวิธีการที่จะทําให้ง่ายและกระชับขึ้น เพราะงั้นก็เลยเชื่อว่าการออกแบบในรูปแบบต่างๆ ของรายการในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสไตล์ต่างๆ น่าจะทําให้กลุ่มเป้าหมายสนุกได้มากขึ้น" สุพัฒนุช กล่าว
ชักจูงคนไทยเข้าใจ NCDs ผ่านสื่อ
นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายในการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และหลากหลายเนื้อหาที่นำเสนอ
สุพัฒนุช กล่าวเพิ่มว่า เราพยายามให้เข้าถึงทุกกลุ่ม ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด และยังในหลากหลายวิธี แล้วก็ในหลากหลายช่วงวัย ในส่วนของคอนเทนต์ความรู้เรื่องสุขภาพที่สสส. ต้องการนำเสนอ แน่นอนว่า NCDs เป็นเป้าหมายหลัก แต่ว่านอกเหนือจาก NCDs จะพบว่าการที่เราจะมีความสุขหรือมีสุขภาวะได้อาจไม่ใช่แค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่ยังมีมิติเรื่องรอบตัว ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเราพยายามจะทําให้คนที่เห็นว่าเรื่องรอบตัวเรา เช่น สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องที่แม้เหมือนจะไม่เกี่ยวกับเรา แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เรา ก็มีความสัมพันธ์และทําให้เรามีความสุข มีสุขภาพดีได้ด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องราวก็จะมีความหลากหลายนอกเหนือจากเรื่อง NCDs ด้วย
นพ.พงศ์เทพ กล่าวเสริมความเห็นในเรื่องนี้ ถึงเหตุผลที่ทำไมถึงโฟกัสประเด็นเรื่อง NCDs เป็นหลักว่า เพราะวันนี้ทุกคนกําลังสู้กับโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และที่สําคัญสู้กับใจเราเอง ความน่ากลัวของโรค NCDs ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย คนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน ในปี 2566 มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรค NCDs ก่อนอายุ 60 ปี ประมาณ 400,000 ราย และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจะเอาชนะสมรภูมิสุขภาพจากพฤติกรรมเสี่ยงที่เร่งเร้าให้คนทุกข์ ป่วย และพิการมากขึ้นได้นั้น ไม่สามารถชนะได้ด้วยยาหรือเทคโนโลยี แต่การพัฒนาองค์ความรู้ สร้างความตระหนักรู้การป้องกันโรค NCDs ให้แก่ประชาชนที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ โดยสื่อสารผ่านการป้องกันจากการขยายผลความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชน ขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการตื่นตัว รู้จัก เข้าใจโรค NCDs และร่วมมือจัดการปัญหา ช่วยลดการตายจากพฤติกรรมของตนเองได้ตรงจุด
"อีกประเด็นหนึ่งที่ขอเสริม ส่วนหนึ่งที่ทำรายการเพราะอยากจะส่งกําลังใจของเราไปยังภาคีของสสส. ที่เขาอาจจะทํางานในพื้นที่ ซึ่งเขาก็ทํางานในชุมชนต่างๆ ช่วยในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งบางรายการจะมีการนําเรื่องราวของคนทํางานกลุ่มนี้มาสื่อสารเพื่อสามารถจะให้ภาคีต่างเรียนรู้ร่วมกันด้วย และอีกส่วนหนึ่งให้สังคมรับรู้ได้เห็นด้วย ซึ่งสามาถมาทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายกับ สสส. ได้ในการขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
7 คอนเทนต์ 7 ความสุข
- เกมสร้างสุข รายการวาไรตี้ เกมโชว์ สร้างสรรค์รายการผ่านคำถามพิชิตสุขภาพ ได้ทั้งความรู้ ความบันเทิง ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ดำเนินรายการโดย ปัญญา นิรันดร์กุล ทุกวันพุธ เวลา 19.00 น. ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23
- หกฉากครับจารย์ รายการซิทคอมสื่อสารกับกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ผ่านนักแสดงตุ๊กกี้ รับบทครูเพ็ญศรี และอาร์ม กรกันต์ สุทธิโกเศศ รับบทครูสุข ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.00 น. ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23
- SUPER100 อัจฉริยะเกินร้อย รายการสร้างแรงบันดาลใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากคนต้นแบบในชุมชน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23
- มาตาลดา มากับสสส. ละครสั้นสร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องใกล้ตัว 14 ตอน ถ่ายทอดผ่านนักแสดง เต้ย จรินทร์พร รับบทมาตาลดา และชาย ชาตโยดม ในบทพ่อเกรซ ทางช่อง 3
- กิตติ สะกิดใจ ข่าวสั้นเล่าประเด็นสุขภาพอย่างง่าย สนุก 20 ตอน ดำเนินรายการโดย กิตติ สิงหาปัด และป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ ทางช่อง 3
- ซีรีย์ "รัก OVERDOSE" 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวของคู่รัก ป๊าต๊อบ-ปีใหม่ ผ่านนักแสดงหญิงรักหญิงที่ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปัญหาครอบครัว และยาเสพติด ทางช่องวัน 31
- คนสานสุข รายการที่นำนวัตกรรมด้านสร้างเสริมสุขภาวะสานสร้างให้คนไทยสุขภาพดี ดำเนินรายการโดย ดร.สง่า ดามาพงษ์ ทางช่องไทยพีบีเอส