คบคน 'พาน' พาลพาไปหาสุข พื้นที่ชุมชนต้นแบบคนไม่ดื่ม

คบคน 'พาน' พาลพาไปหาสุข พื้นที่ชุมชนต้นแบบคนไม่ดื่ม

อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย อดีตเป็นพื้นที่ที่มีคนติดสุราจำนวนมาก จนวันนี้ "คนพาน" สามารถ ลด ละ เลิก เครื่องดื่ม เหล้า-บุหรี่ ยกระดับเป็น "พื้นที่ต้นแบบคนไม่ดื่ม" ได้ สะท้อนแนวคิดที่ว่า "ถ้าคิดจะเปลี่ยน ก็ทำได้จริง"

"เชียงราย" ติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดดื่มเหล้าหนักสุดในไทย จึงกลายเป็นพื้นที่นำร่องสร้างชุมชนต้นแบบที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงคนในพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนประวัติศาสตร์ภาพจำเก่า ยกระดับสู่ "พื้นที่ต้นแบบคนไม่ดื่ม" โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย 

"พาน" ในวันวานคือพื้นที่ที่ได้ชื่อว่ามีคนติดสุราจำนวนไม่น้อย และยังมีชื่อเสียงเกรียงไกรในความ "ดื่มไม่เลิก" เรียกว่า ทุกกิจกรรมของชีวิตจำเป็นต้องมีเหล้าเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ "ยิ่งเวลามีงาน พอเริ่มตั้งแต่กางเต็นท์ทำอาหารก็ต้องดื่มเหล้า ไปจนถึงตอนเก็บของจบงานก็ยังมีแก้วเหล้าอยู่ด้วยไม่ห่างกาย" นี่คือหนึ่งคำบอกเล่าของ "คนพาน" ด้วยกันเอง

เมื่อ "คนพานไม่ทิ้งกัน"

เมื่อ "คนพานไม่ทิ้งกัน" เกิดจากการสานพลังของคนในพื้นที่ ที่เริ่มจากกลยุทธ์ 3 คีย์เวิร์ดสำคัญ นั่นคือ สร้างคน เชื่อมเครือข่าย และขยาย ที่เริ่มจากการสร้างแกนนำภายใน และดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่

ในการขับเคลื่อนมี "อำเภอ" เป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เป็นกองทัพมดที่มีพลังแห่งการขับเคลื่อนในพื้นที่โดยมีแรงหนุนคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่เป็นพี่เลี้ยงอยู่เบื้องหลัง ซึ่งล่าสุดทางสสส. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่ ติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าของการดำเนินโครงการที่อำเภอพาน

วุฒิกร คำมา นายอำเภอเมืองพาน จังหวัดเชียงราย เปิดใจ เราเคยเป็นชุมชนที่เหล้าจะเข้าไปแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นงานอะไรมีเหล้าเป็นตัวดำเนินการ โดยยังเผยถึงกระบวนการขับเคลื่อนปฏิบัติการลดนักดื่มเหล้าในพื้นที่ว่า เริ่มที่การส่งเสริมให้แนวทางแก่แกนนำและเครือข่ายในชุมชนถึงเป้าหมายการขับเคลื่อน การให้ความรู้แก่ อสม. ซึ่งเป็นคนที่ชวนพูดบอกเล่าแก่สมาชิกในชุมชน และยังส่งเสริมให้ประชาชนพูดคุยกันในการประชุม

"เราพยายามพูดถึงโทษ แล้วยังมีคลิปให้ดูว่าการดื่มเหล้าเสียสุขภาพ เกิดอุบัติเหตุไม่พอ เสียเงินอีก บางคนถูกจับแล้วก็เสียครอบครัวแตกแยก" วุฒิกร กล่าว

นอกจากการส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยังขยายเครือข่ายนักรณรงค์ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนเลิกเหล้าตลอดชีวิต ผ่านโครงการคนหัวใจเพชร การสร้างเครือข่ายนายอำเภอนักรณรงค์ เครือข่ายแกนนำชุมชนต่างๆ เครือข่ายผู้นำท้องถิ่น และเครือข่ายพระสงฆ์และผู้นำศาสนา ที่ทุกคนล้วนมาเป็นผู้นำการสื่อสารหนุนเสริมคนในชุมชนให้ "ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ" มีการตั้ง "กองทุนคนพานไม่ทิ้งกัน" ช่วยกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่และผู้สูงอายุ

ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานศพปลอดเหล้า-บุหรี่ สู่การปฏิบัติ 15 ตำบล 236 หมู่บ้าน มีสมาชิกชมรมคนหัวใจเพชร 117 คน และมีอสม. แกนนำคนหัวใจเพชร อำเภอพาน 143 คน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2565 จำนวน 2,017 คน จากการประเมินสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 200 บาทต่อคนต่อสัปดาห์

ท้ายสุด นายอำเภอกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า นอกจากความสำเร็จในเชิงรูปธรรม อีกสิ่งเพิ่มเติมที่ได้มาคือ การเป็นชุมชนที่มีความรักความสามัคคีเกิดขึ้น คบคน \'พาน\' พาลพาไปหาสุข พื้นที่ชุมชนต้นแบบคนไม่ดื่ม

หัวฝาย คนบุญ คนจริง

พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมเป็นแกนนำของชมรมคนหัวใจเพชร วัดหัวฝาย ว่าเกิดจากการเห็นสมาชิกในชุมชนติดสุรา ไม่เพียงทำลายสุขภาพ แต่ยังเป็นบ่อเกิดปัญหาในชุมชนมากมาย ทั้งอุบัติเหตุ ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท คดีอาชญากรรม โดยตั้งแต่ปี 2563 ได้รณรงค์ ชวน ช่วย ชม เชียร์ มอบเกียรติบัตรคนบวชใจเพชร และเข็มเชิดชูเกียรติคนหัวใจเพชรที่สามารถเลิกเหล้าต่อเนื่องได้ 3 ปี ปัจจุบันชมรมคนหัวใจเพชรมีความเข้มแข็งอย่างมากมายจากพลังคนในพื้นที่

พระครูปิยวรรณ กล่าวเพิ่มเติม ผลจากการขับเคลื่อน ตอนนี้คนหัวฝายกลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะว่าทั้งในงานประเพณี งานศพ งานเทศกาลต่างๆ สามารถลดการดื่มลงไปได้เยอะ ซึ่งในเรื่องของสุขภาพทุกคนก็มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ ปัจจุบันมีสมาชิกร่วมโครงการและเลิกเหล้าได้ 160 คน

ส่วนเทคนิคการชวนคนเลิกเหล้า ทางชุมชนจะสนับสนุนคนที่เข้าร่วม โครงการหัวใจเพชร ให้ได้รับโอกาสจากชุมชนให้มีอาชีพ เพิ่มรายได้ผ่านโครงการ "เลิกเหล้ามีอาชีพ" 

เป็ง ฟองคำ อายุ 75 ปี เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เคยเป็นนักดื่มตั้งแต่วัยรุ่น จนกลายเป็นผู้ป่วยที่มีสถานะเป็นผู้พิการทางการมองเห็น พบปัญหาสุขภาพจิต คิดฆ่าตัวตาย วัดจึงดึงเข้ามาร่วมโครงการฯ ให้ที่พัก ห้องน้ำ และอาหาร ปัจจุบันมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากนี้ในด้านการรณรงค์กลุ่มเยาวชน หรือบุคคลที่มีแนวโน้มจะเป็นนักดื่มหน้าใหม่นั้น ยังมีการขับเคลื่อนด้วยแนวคิดการใช้บาปบุญ ความเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5

"เรามีกลุ่มสัจจะ มีการประกาศตัวขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านผู้สูงอายุก็มีโครงการอุ้ยสอนหลานที่คอยแนะนำสั่งสอนเยาวชนและคนในพื้นที่ให้ทราบถึงโทษของแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังมี โครงการพี่ช่วยน้องกินเล่า เป็นการที่รุ่นพี่ชวนน้องมากินข้าว แล้วใครมีปัญหาในครอบครัวหรือปัญหาส่วนตัวก็เล่าสู่ให้กันฟังและนำมาร่วมกันแก้ปัญหา" พระครูปิยวรรณ กล่าว

ค้นคิดนวัตกรรม ONE by ONE

ณรงค์เดช ใจวงศ์ อีกหนึ่งตัวอย่างสมาชิกคนหัวใจเพชร อายุ 52 ปี เล่าถึงที่มาการเข้าร่วมเป็น อสม. คนหัวใจเพชรว่า ตนเองเริ่มดื่มเหล้า สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 12 ปี ดื่มหนักที่สุดคือวันละ 2 ขวด สูบบุหรี่วันละ 3 ซอง ปี 2554 ลูกชายขอร้องให้เลิกดื่มเหล้า จึงดื่มทิ้งท้ายก่อนทำตามคำขอของลูก ในวันเดียวกันขี่มอเตอร์ไซค์ชนต้นไม้ รักษาตัวที่โรงพยาบาลนอนไม่รู้สึกตัวนาน 40 วัน เมื่ออาการดีขึ้น จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตั้งใจเลิกดื่มในปี 2555 ต่อมาเข้าร่วมเป็น อสม. และเลิกบุหรี่ได้ในปี 2564 จากโครงการ HERO NO SMOKE ได้รับการบำบัดจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่องคต และคลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลพาน เลิกสำเร็จในปี 2565 พบว่ามีสุขภาพดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข ทำให้ในปี 2565 ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลต้นแบบคนหัวใจเพชร ทำหน้าที่ชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษาตามนวัตกรรม ONE by ONE

สำหรับนวัตกรรม ONE by ONE เป็นการต่อยอดแนวคิดจากโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โดยการชวนคนเลิกเหล้าที่โรงพยาบาลพานพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานชุมชน

ทพ.หญิง อรอนงค์ พูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพานและเลขาคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เล่าว่า ONE by ONE เป็นเทคนิคที่ทำง่าย ชวนง่าย ทุกคนทำได้สบาย เป็นการต่อยอดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พื้นที่ ซึ่งมองว่าดีกว่าการหาคนเลิกให้ได้ปริมาณเยอะ ยอดคนเยอะ แต่ไม่มีการติดตามผล หากแค่เราชักชวนคนในบ้าน คนข้างบ้าน หรือคนรู้จักมาเลิกดื่มเพียงปีละ 1 คน แล้วดูแลอย่างใกล้ชิดคอยติดตามผลย่อมส่งผลดี ซึ่งปัจจุบัน อสม.ในพื้นที่เรามีประมาณ 3,313 คน มีศักยภาพที่จะช่วยขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว

ลดหน้าใหม่ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง

ฤทธิรงค์ หน่อแหวน ผู้ประสานงานศูนย์พัฒนาศักยภาพคนทำงานปลอดบุหรี่ จังหวัดเชียงราย ร่วมบอกเล่าความสำเร็จของพานว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่า จังหวัดเชียงรายมีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ติดอันดับ 1 ของประเทศ ขณะที่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน พบอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงอยู่ที่อันดับ 3 ของประเทศ

ปัจจุบันประชาคมงดเหล้า จังหวัดเชียงราย ทำงานร่วมกับเครือข่ายเยาวชน Youth Stopdrink Network (YSDN) ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทดลองทำงานใน 6 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอ ได้แก่ แม่จัน เวียงชัย พาน แม่สรวย เทิง และเชียงแสน โดยจะมีพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริมให้เกิดการสร้างพลเมืองนักสื่อสารเรื่องเหล้า ช่วยจัดระบบการประสานงาน ให้คำปรึกษา วางแผนการทำงาน ประสาน ติดตามงาน สร้างระบบพี่เลี้ยงระดับอำเภอ ที่จะช่วยร่วมวางแผนทำงานระดับพื้นที่กับหน่วยงานต่างๆ และ พชอ. และวางระบบการทำงานเป็นทีมเพื่อพัฒนาศักยภาพ

"ที่ผ่านมาประชาคมงดเหล้าเชียงรายและผู้แทนเยาวชน YSDN แต่ละพื้นที่จัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ได้แก่ แบบสำรวจข้อมูลต่างๆ ใช้รูปแบบเดียวกัน มีแบบบันทึกลงนามงดเหล้าเข้าพรรษา ใช้ระบบคิวอาร์โค้ด และจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบในกลุ่มเยาวชนอายุ 12-15 ปี เพื่อนำข้อมูลไปใช้คืนข้อมูลระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน เป็นแนวทางสร้างสังคมให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงต่อไป" ฤทธิรงค์ กล่าว

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวถึงบทสรุปจากการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่ ติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าของการดำเนินโครงการที่อำเภอพานครั้งนี้ว่า การสานพลังของคนในพื้นที่วัดหัวฝาย สะท้อนให้เห็นความสามัคคี ที่หลายฝ่ายช่วยกันทำให้ชุมชนห่างไกลปัจจัยเสี่ยง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้คนทุกช่วงวัยมีกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดี ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ สสส. ต้องการสร้างสังคมให้มีสุขภาวะในการดำรงชีวิต อยากให้ที่นี่เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ สร้างนักสื่อสารเรื่องเหล้า สู่สังคมที่มีสุขภาวะ

"การทำงานกับชุมชน ไม่ใช่การฉีดยาเข็มเดียวแล้วหาย ต้องเป็นการสร้างสังคม ใช้ระยะเวลายาวนาน โดยยังขึ้นอยู่กับทุนใหม่ทุนเก่าที่มีในการขับเคลื่อน ซึ่งทุนเดิมที่มีอยู่ไม่ว่าเป็น ทุนสังคม ทุนพลังวิชาการ ทุนกฎหมาย ทุนแห่งความร่วมมือร่วมใจ หากเกิดการบูรณาการซึ่งกันและกัน จะนำมาสู่ความสำเร็จ" นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว ถึงวันที่พานไม่พึ่งเหล้าอีกต่อไป

อีกไม่นานใกล้จะถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์วันหยุดยาว ช่วงเวลาที่ประชาชนพากันเดินทางกลับบ้าน และยังเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราอุบัติเหตุสูงสุดต่อเนื่อง หากทุกคนช่วยกันตัดปัจจัยเสี่ยง โดยการ "ไม่ดื่ม" เชื่อว่าจะช่วยให้ไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญ นั่นคือ เราไม่ต้องเผชิญกับ "7 วันอันตราย" อีกต่อไป

คบคน \'พาน\' พาลพาไปหาสุข พื้นที่ชุมชนต้นแบบคนไม่ดื่ม คบคน \'พาน\' พาลพาไปหาสุข พื้นที่ชุมชนต้นแบบคนไม่ดื่ม