The Bright Group จับโอกาสด้านธุรกิจการศึกษารูปแบบอินเตอร์ พร้อมเป็นส่วนเสริมอนาคตเด็กไทย

The Bright Group จับโอกาสด้านธุรกิจการศึกษารูปแบบอินเตอร์ พร้อมเป็นส่วนเสริมอนาคตเด็กไทย

เมื่อโลกถูกโควิดดิสรัปฯ "The Bright Group" ชูจุดแข็งธุรกิจการศึกษารูปแบบอินเตอร์ผ่าน e-Learning เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ พร้อมลุยต่อเนื่อง จัดกิจกรรม "The Bright Challenge ประลองความรู้ สุดสร้างสรรค์สู่อนาคต" เฟ้นหาคนเก่งชิงความเป็นเลิศทั้งด้านภาษา วิชาการ และความคิดสร้างสรรค์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วยโรคระบาดทำให้โรงเรียนต้องเปลี่ยนมาใช้รูปแบบออนไลน์หรือ e-Learning จึงไม่ใช่แค่เพียงครูและนักเรียนที่ต้องปรับตัว แต่ธุรกิจเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาย่อมต้องปรับตัวตามไปด้วย ปัจจุบันมีสถานศึกษาหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมากขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปต่อยอดในระดับสากลได้ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาต่อหรือประกอบวิชาชีพ

The Bright Group หนึ่งในบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการจัดการฝึกอบรมการศึกษา และเชี่ยวชาญในการจัดทัศนศึกษาการท่องเที่ยว โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จำเป็นต้องปรับตัวหลังโควิดระบาดและโรงเรียนต้องเปลี่ยนมา เรียนออนไลน์ เนื่องจากงานหลักที่สำคัญของ The Bright Group คือการจัดการเรียนการสอนหรือวางหลักสูตรสำหรับโรงเรียนที่ใช้การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษหรือการเรียนแบบสองภาษาโดยการประสานงานกับครูเจ้าของภาษาโดยตรง

แม้ว่าการเรียนในบางวิชา เช่น Conversation หรือการสนทนา อาจจะมีปัญหาบ้างเนื่องจากต้องมีการพูดคุยกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งการเรียนแบบ On Site อาจได้ผลมากกว่า แต่สำหรับ The Bright Group ริเริ่มใช้ระบบการเรียนแบบ e-Learning มานานแล้ว ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาสู่ออนไลน์จึงได้เปรียบคู่แข่ง

The Bright Group จับโอกาสด้านธุรกิจการศึกษารูปแบบอินเตอร์ พร้อมเป็นส่วนเสริมอนาคตเด็กไทย

พรทิพย์ อัษฎาธร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือ The Bright Group กล่าวว่า ส่วนตัวประกอบธุรกิจด้านอุตสาหกรรมและได้เดินทางไปต่างประเทศค่อนข้างบ่อยจึงมองว่า ภาษาเป็นเรื่องสำคัญและเป็นตัวช่วยในการทำธุรกิจระหว่างประเทศให้สะดวกมากขึ้น รวมถึงทำให้มีพันธมิตรมากขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมา ตนเองมีประสบการณ์ในการหาโรงเรียนให้ลูกมาก่อน จึงศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการศึกษาไปควบคู่กับวัฒนธรรมของประเทศไทย และเกิดความคิดว่าถ้าเป็นการควบรวมกันระหว่างวัฒนธรรมของไทยและภาษาต่างประเทศเป็นภาษาที่สองหรือสามก็จะทำให้เด็กไทยมีโอกาสในเรื่องต่างๆ มากขึ้น รวมถึงมีเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้ เช่น การค้าขาย หรือตลาดแรงงาน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันให้เด็กไทยมีศักยภาพมากขึ้นเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นทั่วโลกได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ The Bright Group ในเวลาต่อมา

พรทิพย์ อธิบายเพิ่มเติมถึง "หลักสูตรสองภาษา" ที่มีอยู่ในเครือว่า ออกแบบมาตามมาตรฐานหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นเกณฑ์หลัก และเสริมด้วยทีมวิชาการในเครือและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยในขั้นต้นได้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมาก่อน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการอัปโหลดข้อมูลความรู้เข้าสู่ระบบการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าไปค้นคว้าเองด้วยช่องทางออนไลน์ ประสบความสำเร็จสูงเพราะเข้าถึงได้ง่ายมีข้อมูลหลากหลาย หลังจากนั้นจึงนำบทความหรือตำราเรียนจากต่างประเทศเข้ามาปรับใช้กับ e-Learning หลังจากใช้ทำการสอนแล้วก็ประสบผลสำเร็จ

The Bright Group จับโอกาสด้านธุรกิจการศึกษารูปแบบอินเตอร์ พร้อมเป็นส่วนเสริมอนาคตเด็กไทย

ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จึงมองเห็นโอกาสและได้จับมือกับบริษัท "แมคกรอว์ฮิลล์" ของสหรัฐเพื่อขอนำหลักสูตรดังกล่าวเข้ามาพัฒนาผู้เรียนในประเทศไทย โดยช่วงแรกใช้กับระดับมัธยมก่อนแต่ปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย

ทั้งนี้ พรทิพย์ยอมรับว่า ในช่วงเริ่มต้นที่นำหลักสูตรเข้ามา ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ปกครองกังวลว่าบุตรหลานจะได้แต่ภาษาแต่ไม่ได้วิชาการ จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและพัฒนาหลักสูตรจากต่างประเทศให้ตรงกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุดในบางรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่มองว่าเป็นผลดีที่สุดคือ การมีพันธมิตรที่ดี โดยเฉพาะการที่มีหนังสือหรือบทความออนไลน์ใน e-Learning ที่ช่วยให้ไม่ต้องสืบค้นเองสามารถเชื่อมโยงหลักสูตรกันได้กับต่างประเทศที่มีการค้นคว้ามาแล้ว ทำให้เป็นจุดแข็งในการทำ e-Learning มาตั้งแต่ 20 ปี ก่อน

ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ได้รับผลกระทบมาก แต่สำหรับธุรกิจการศึกษาของ The Bright Group สามารถไปต่อได้อย่างลื่นไหล แทบไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน มาถูกทางและมีความมั่นคง แม้ผลตอบแทนอาจจะต่ำกว่าธุรกิจการลงทุนด้านอื่น แต่ส่งผลด้านความยั่งยืนระยะยาวและสามารถขยายตลาดได้ทุกปี โดยเติบโตต่อเนื่องมาตลอด 12 ปี

สำหรับโอกาสของธุรกิจการศึกษาในประเทศไทย พรทิพย์มองว่า มีโอกาสเข้ามาเรื่อยๆ หลังจากเห็นผู้เรียนที่นำไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ ตั้งแต่การเรียนต่อมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและการได้ทุนการศึกษาในต่างประเทศไปจนถึงการงาน จึงเรียกได้ว่าโอกาสทางธุรกิจด้านการศึกษาตอนนี้น่าสนใจหลังจากประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ ทำให้น่าสนใจในการลงทุนเพราะตลาดขยายกว้างมากขึ้น

"ในแง่ลงทุนถือว่ามีความคุ้มค่า ยิ่งคุ้มค่ามากที่สุดเมื่อเจอยุคโควิด มองเห็นเลยว่าสิ่งที่เมื่อก่อนโดนหลายคนมองว่ามีเงินไม่มาทำเรื่องการศึกษาหรอก ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่เมื่อโควิดมา เรานอนมามากกว่าคนอื่น เราไม่มีเลย์ออฟ ทุกคนทำงานได้หมด เก็บเงินลูกค้าได้ตามปกติ คิดว่านี่คือ สิ่งที่ยั่งยืน แต่กว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้ เมื่อผ่านมาเกือบสิบกว่าปี ถึงจะเริ่มเห็นว่าออกดอก" พรทิพย์กล่าว

พร้อมเผยถึงแนวคิดการปรับตัวเพื่อการศึกษายุคใหม่ โดยระบุว่าในทุกปีการศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะเด็กแต่ละยุคแตกต่างกันออกไป รวมถึงเรื่องของยุคสมัยซึ่งปัจจุบันอยู่ในยุคดิจิทัล แต่ทาง The Bright Group ทำเรื่องนี้มาก่อนแล้ว ทำให้ตอนนี้ค่อนข้างนิ่งแต่ก็ยังมีการปรับการอบรมครูและบุคคลากรให้ทันสมัยขึ้นในทุกปิดเทอม โดยเฉพาะครูต่างชาติให้เข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น เพื่อจะได้มีความสุขทั้งครูและผู้เรียน รวมถึงจำเป็นต้องพัฒนาสื่อการเรียนการสอนตลอดซึ่งมีพันธมิตรที่ดีจากต่างประเทศอยู่แล้ว

นอกจากเรื่องของหลักสูตรการเรียน ล่าสุด The Bright Group ยังได้จัดกิจกรรม "The Bright Challenge ประลองความรู้ สุดสร้างสรรค์สู่อนาคต" เพื่อเฟ้นหานักเรียนระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรสองภาษาทั่วประเทศเข้าแข่งขันชิงความเป็นเลิศทั้งด้านภาษา วิชาการ และความคิดสร้างสรรค์

โดย นิโคลัส โทมัส นีเวล กรรมการผู้จัดการ บริษัทในเครือ The Bright Group กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาทีมนักเรียนที่จะได้เป็นที่หนึ่งของประเทศจากระบบการเรียนแบบสองภาษาหรือนานาชาติ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือการใช้ความคิดแบบเป็นเหตุและผล โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถและศักยภาพได้อย่างเต็มที่

อีกหนึ่งวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อประชาสัมพันธ์การเรียน หลักสูตรสองภาษา ในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบัน "ภาษาอังกฤษ" เป็นหนึ่งในความคาดหวังจากผู้ปกครอง และส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติและหลักสูตรสองภาษาถูกจับตามอง แต่การเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติระดับแถวหน้านั้นมีค่าใช่จ่ายสูงมากหากเทียบกับโรงเรียนที่เป็นหลักสูตรสองภาษา ซึ่งการเรียนในทั้งสองรูปแบบนี้ไม่ได้ให้เด็กได้แค่ภาษาเท่านั้นแต่ยังได้เรื่องของวิชาการด้วย

The Bright Group จับโอกาสด้านธุรกิจการศึกษารูปแบบอินเตอร์ พร้อมเป็นส่วนเสริมอนาคตเด็กไทย

สำหรับรูปแบบการแข่งขันของกิจกรรมในปีนี้จะแตกต่างจากปีก่อนๆ คือเปิดโอกาสให้นักเรียนจากทุกโรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์ข้างต้นเข้าแข่งขันได้ โดยนักเรียนจะต้องส่งผลงานเข้ามาพรีเซนต์ จากนั้นจะคัดเลือกให้เหลือ 40 ทีม เพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกันในวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่หอประชุมปัญญาภิวัฒน์ ก่อนจะคัดเลือกให้เหลือ 4 ทีม และแข่งขันต่อให้เหลือผู้ชนะ

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต้องเป็นนักเรียนผู้กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และมีสัญชาติไทยเท่านั้น ในหลักสูตรโปรแกรม English Program, Mini English Program และ International Program โดยหนึ่งสถาบันการศึกษาสามารถส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันได้ 1 ทีม ทีมละ 3 คน สำรองได้ 1 คน มีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน และเมื่อผ่านการคัดเลือกระดับภูมิภาคสามารถเดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน ณ หอประชุมปัญญาภิวัฒน์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันที่ 18 มกราคม 2566 โดยให้นักเรียนคิดและนำเสนอโครงงานเป็นภาษาอังกฤษอย่างอิสระ ในหัวข้อ "Thailand2030" และส่งผลงานในรูปแบบคลิปวิดีโอไฟล์ MP4 หรือ MOV ที่มีความยาวไม่เกิน 3 นาที มาที่อีเมล : brightchallenge ของโครงการ The Bright Challenge