กองทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทางเลือกหลุมหลบภัยช่วงตลาดผันผวน

กองทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทางเลือกหลุมหลบภัยช่วงตลาดผันผวน

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวน การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเปรียบเสมือนหลุมหลบภัยให้กับนักลงทุน ช่วยบริหารความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตลงได้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเกิดปัญหาธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และ Credit Suisse ได้ส่งผลให้ ตลาดหุ้น ทั่วโลกเกิดความผันผวนขึ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคารทั่วโลก ที่ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับธนาคารที่มีปัญหาหรือไม่ ต่างก็ปรับตัวลดลงแรงหลังตลาดรับรู้ข่าวในช่วงแรก อย่างไรก็ดีหลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามารับรองเงินฝากของลูกค้าที่อยู่ใน SVB ทั้งหมดรวมถึงได้ออกโปรแกรมเงินกู้พิเศษ Bank Term Funding Program เตรียมไว้รองรับสำหรับธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐอื่นๆ ที่อาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกันในอนาคต ทำให้ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นและผันผวนลดลง

ด้านปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Credit Suisse แม้ต้นตอของปัญหาจะมีลักษณะต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหามีลักษณะใกล้เคียงกันคือ การเข้ามาช่วยเหลือของธนาคารกลาง Swiss National Bank ที่ออกมาประกาศพร้อมอัดฉีดสภาพคล่องให้กับ Credit Suisse ซึ่งหลังจาก Credit Suisse ตัดสินใจประกาศกู้เงินเป็นจำนวน $54 billion จาก Swiss National Bank ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Credit Suisse กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง +19.5% ในคืนวันเดียว และตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มก็ได้เริ่มคลายความกังวลลง

ถึงแม้ทั้ง 2 ปัญหาของธนาคารที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะถูกแก้ไขโดยธนาคารของทั้งสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์แล้ว แต่จะเริ่มเห็นได้ว่าจากผลกระทบที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีทิศทางเข้าสู่ภาวะถดถอย เริ่มทำให้เห็นปัญหาที่อาจมีตามมาอีกหลังจากนี้ ซึ่งนักลงทุนบางส่วนอาจเริ่มเกิดความกังวลว่า ควรจะปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรดีในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ ซึ่งที่จริงแล้วจากสถานการณ์ปัญหาธนาคารที่เกิดขึ้นได้ทำให้ตลาดเริ่มประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ อาจเริ่มชะลอความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยลง โดยตลาดได้ประเมินโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ผ่าน Fed Fund Futures ในการประชุมวันที่ 22 มีนาคมที่จะถึงนี้ โดยให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 25 Bps มากสุดที่ราว 80% และให้โอกาสการคงดอกเบี้ยอยู่ที่ 20% เปลี่ยนแปลงจากเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ตลาดให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ย 50 Bps มากที่สุด

รวมถึงอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทั้งอายุ 10 ปี และ 2 ปีต่างก็ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงต้นเดือนมีนาคม โดยอายุ 10 ปี ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดที่ราว 4% มาอยู่ที่ 3.5% และอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลงจากจุดสูงที่ราว 5% มาอยู่ที่ 4.16% (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2023) และจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง ได้ส่งผลให้หุ้นกลุ่ม Growth ที่มักจะแปรผกผันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนี Nasdaq ปรับตัวเพิ่มขึ้น +3.46% ในช่วง 5 วันทำการที่ผ่านมา ทำให้ที่จริงแล้ว ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อาจถือเป็นจุดเปลี่ยนของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเร็วตามทิศทางดอกเบี้ยของ FED

อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนที่ยังมีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและรับความเสี่ยงได้ไม่สูงมากนัก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีทางเลือกการลงทุนอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง รวมถึงเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ นั่นก็คือการลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นั่นเอง โดยในช่วงที่ตลาดผันผวนจะเห็นได้ว่ากองทุน ETF ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนี S&P500 ที่เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นสหรัฐโดยรวมยังคงผันผวน ส่วนหุ้นในกลุ่มการเงินในดัชนี S&P500 ปรับตัวลงมาแล้วกว่า 10% 

เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของ iShares US Treasury Bond ETF กับสินทรัพย์อื่นๆ

กองทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทางเลือกหลุมหลบภัยช่วงตลาดผันผวน

ในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้หาก FED แสดงท่าทีชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็มีโอกาสที่ราคาของ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะยังคงได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตลง การพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์การลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

ที่มา : Bloomberg ,CNBC & UBS

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds