'ไฮโดรเจน' พลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ เร่งไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

'ไฮโดรเจน' พลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ เร่งไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

"ไฮโดรเจน" กำลังเป็นกระแสพลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งทั่วโลกอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้งานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และเริ่มมีการนำมาใช้ในภาคการขนส่งของไทย ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวในงานสัมมนา "ไฮโดรเจน : พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ตอบโจทย์สภาวะโลกร้อน?" จัดโดย คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 66 ว่า บีไอจี มี Air Products เป็นบริษัทแม่ในสหรัฐ ที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและปราศจากคาร์บอนของโลก

ทั้งนี้ บีไอจีได้ดำเนินธุรกิจ ไฮโดรเจน ในไทยมากว่า 35 ปี โดยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมหลัก เช่น โรงกลั่น ปิโตรเคมี น้ำตาล และกระจก ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ต่างมุ่งไปที่การดูแลสังคมว่าจะทำอย่างไรให้สังคมและโลกดีขึ้น โดยบีไอจีเห็นว่าการใช้ไฮโดรเจนภาคขนส่งเป็นสิ่งสำคัญจึงร่วมมือกับ กลุ่ม ปตท. และ โตโยต้า พัฒนาและผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง

การใช้ไฮโดรเจนให้เป็นรูปธรรมจำเป็นมากที่ภาครัฐต้องสนับสนุน โดยภาคเอกชนมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไฮโดรเจน รวมทั้งการที่จะไปสู่เป้าหมาย Net Zero ที่ไทยประกาศไว้ปี 2565 ได้นั้นการใช้ไฮโดรเจนจะมีส่วนสำคัญ เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ทั่วโลกยอมรับว่าถ้าไม่ผลักดันไฮโดรเจนอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย อีกทั้งการลงทุนก่อสร้างต้องใช้เวลา 4-5 ปี เพื่อไทยจะพึ่งตัวเองให้ได้และลดการนำเข้า จึงต้องเริ่มอย่างรวดเร็ว เพราะหากเสียเวลาเพียง 2-3 ปี จะช้าไปอีก ถ้าทุกภาคส่วนเห็นด้วยก็จะไปด้วยกันได้ทันที

"ขณะนี้ภาครัฐนำ ไฮโดรเจน เข้าไปในแผนพลังงานชาติ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง จึงต้องเริ่มทำให้เป็นแผนพลังงานก่อน และจะมีแผนและยุทธศาสตร์อย่างไรให้ไทยบรรลุเจตนารมณ์ตามนโยบาย 30@30 และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต ซึ่งในไทยใช้ไฮโดรเจนอยู่แต่เป็นรูปแบบภาคีเครือข่าย และการจะบรรจุในแผนพลังงานชาติจะต้องสอดรับกับภาคีเครือข่ายด้วย"

\'ไฮโดรเจน\' พลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ เร่งไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

นอกจากไฮโดรเจนจะใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งแล้วยังใช้ในภาคพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ด้วย จากปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งการผลิตไฟฟ้าไม่ต้องการปล่อยคาร์บอน และต่างประเทศเริ่มนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนสูงกว่าและไม่ปล่อยคาร์บอน โดยจะเห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ศึกษาการนำไฮโดรเจนมาผลิตไฟฟ้าเช่นกัน

นายปิยบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรีนไฮโดรเจนยังมีราคาแพง และการจะลดต้นทุนต้องมีปริมาณการใช้จำนวนมากขึ้น ซึ่งหลายภาคส่วนเริ่มที่จะอยากใช้แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจะช่วยกระตุ้นการใช้งานอย่างแพร่หลายได้คือ 1) การออกกฏระเบียบเพิ่มไฮโดรเจนเป็นพลังงาน และ 2) การออกมาตรการจูงใจ ปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการด้านภาษีเฉพาะผู้ลงทุนกรีนไฮโดรเจน แต่เมื่อต้นทุนยังสูงก็ยังไม่มีผู้ผลิตลงทุน ดังนั้น ภาครัฐต้องทำให้เกิดความต้องการในการใช้ก่อน เหมือนมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

"แนวโน้มการเติบโตของการใช้ ไฮโดรเจน นั้น หากรัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังจะช่วยให้เกิดขึ้นเร็ว เพราะเทรนด์ไฮโดรเจนจะมาเรื่อยๆ โดยปัจจัยภาษีคาร์บอน อุตสาหกรรมจะต้องคิดแล้วว่า มีกี่ทางเลือกที่จะทำให้คาร์บอนลดลง ซึ่งไฮโดรเจนก็จะเป็นหนึ่งทางเลือกที่ยั่งยืน" นายปิยบุตร กล่าว

การจัดงานสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในด้านความเข้าใจอย่างไรบ้าง 

  1. การสนับสนุนของภาครัฐ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าภาครัฐ โดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา เข้ามาผลักดันสนับสนุนจะเป็นแรงผลักที่ดี
  2. การให้ความรู้ข้อเท็จจริงของไฮโดรเจน เพื่อที่สังคมจะได้ไม่เกิดข้อสงสัย เพราะหลายคนบอกว่าไฮโดรเจนอันตราย ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วทุกเชื้อเพลิงอันตรายหมด แต่จะจัดการอย่างไรให้ปลอดภัยแล้วใช้ประโยชน์จากตรงนั้น การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสำคัญ รวมถึงแนวทางมาตรฐานเทคโนโลยีไฮโดรเจนในไทยเป็นอย่างไร อิงตามมาตรฐานประเทศไทยหรือไม่ ทั้งในด้านการผลิต ขนส่ง และการใช้งาน
  3. การสร้างความร่วมมือ บีไอจี ผลิตไฮโดรเจนกว่า 35 ปี แต่หากโตโยต้าไม่มีรถเข้ามาก็ไม่เกิดการใช้งาน หรือหาก ปตท. ไม่อำนวยความสะดวกนำเข้าไปอยู่ในสถานีก็ไม่เกิด จะเห็นว่า 3 ปาร์ตี้มาร่วมมือกันจึงเกิด Ecosystem ในอีกหลายปาร์ตี้ เพราะไฮโดรเจนทำคนเดียวไม่ได้ ซึ่งอนาคตภาครัฐจะเข้ามาอย่างไรถือเป็นอีกพาร์ทเนอร์ไลฟ์ของธุรกิจไฮโดรเจน

ส่วนแนวคิดของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่จะมีโครงการนำร่องพื้นที่ใช้จริง เช่น การสร้างไฮโดรเจน วัลเลย์ ในพื้นที่ใช้งานอย่างแพร่หลาย อาทิ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นต้นแบบกระบวนการจัดหา กำกับ ใช้ ทดสอบ จะแสดงผลจริงนั้นมองว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะเป็นคลัสเตอร์ของการใช้งานที่ดีที่มีทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดการปล่อยคาร์บอน และไม่ต้องกังวลการปล่อยคาร์บอน

\'ไฮโดรเจน\' พลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ เร่งไทยสู่เป้าหมาย Net Zero