'การคลังไทย' มั่นคง ไม่ถังแตก พื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า "รัฐบาลถังแตก" ในช่วงที่ตัวเลขเงินคงคลังลดลง แต่ความจริงแล้วฐานะการคลังไทยยังไม่เข้าข่ายวิกฤติ แต่อย่างไรก็ตามก็มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องระวัง
"รัฐบาลถังแตก" เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 1 ของแต่ละปีที่ตัวเลข เงินคงคลัง มักเหลือน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณขาดดุลในช่วงหลัง เช่น ปีงบประมาณ 2568 ที่ขาดดุลถึง 8.65 แสนล้านบาท ยิ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่านี่คืออาการของรัฐบาลหรือ การคลังไทย ที่กำลัง "ถังแตก" แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ประเทศที่เข้าข่ายว่าเศรษฐกิจ "ถังแตก" หรือ "ล้มละลาย" คือประเทศที่ชำระหนี้ไม่ไหวจนต้องผิดชำระหนี้ (sovereign default) จนเกิดวิกฤติ หนี้สาธารณะ ซึ่งอาจนำไปสู่การขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
สำหรับประเทศไทยเคยผ่านจุดนั้นมาแล้วใน วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 เมื่อค่าเงินบาทดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มูลค่าหนี้ต่างประเทศพุ่งสูงขึ้นมหาศาลจนรัฐบาลรับไม่ไหว ต้องกู้เงินจาก IMF และผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ยาวนานถึงปี 2550 ซึ่งยังคงมีการจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันการคลังของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ หรือ "ถังแตก" โดยข้อมูลล่าสุดปี 2567 ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม 2.36 แสนล้านดอลลาร์ รวมทั้งมีความสามารถรองรับการนำเข้าได้นาน 8 เดือน คิดเป็นประมาณ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจากตัวชี้วัดเหล่านี้ ถือว่าไทยมีเสถียรภาพทางการคลังในระดับที่ดี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพสูงในการดึงดูดการลงทุน สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนที่เข้าสู่ประเทศกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากกว่า 3.0-3.5% ซึ่งถือเป็นระดับปกติของภูมิภาค
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เน้นย้ำถึงเสถียรภาพการคลังของไทยในการประชุมกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของธนาคารโลก และ IMF ว่า ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พร้อมนโยบายชัดเจนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องระวัง ถึงแม้สถานะการคลังไทยยังมั่นคง แต่มีความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ
- หนี้สาธารณะสูง ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 63.28% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเพดานหนี้ที่ 70% ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
- หนี้ครัวเรือนสูง ปัจจุบันอยู่ที่ 89.6% ของ GDP ซึ่งอาจจำกัดการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
- การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพ อาจทำให้รายได้ภาษีไม่เพิ่มขึ้นตามที่คาดหวัง
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ สร้างภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ อาจกระทบเสถียรภาพการคลังในระยะยาว
สำหรับแผนรับมือของ กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังและรองรับความท้าทายในอนาคต ประกอบด้วย
- การรักษาและเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค โดยรักษาวินัยการเงินการคลังภายใต้กรอบความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาระบบการคลังล่วงหน้าระยะปานกลางและระยะยาว การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่โปร่งใสและยืดหยุ่น การพัฒนาเครื่องมือนโยบายใหม่ๆ รองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการเงิน ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และการประกันภัย
- การพัฒนาระบบและมาตรการทางภาษี รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม การพัฒนาระบบจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม การทำให้ประชาชนเข้าใจระบบภาษีได้ง่ายขึ้น การใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความมั่งคั่ง และการปรับปรุงมาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมให้เหมาะสม
- การบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบ ครอบคลุมจัดการหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะการเงินการคลังของประเทศ การคำนึงถึงความคุ้มค่าความสามารถในการชำระหนี้และความยั่งยืนทางการคลัง และการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อสร้างเส้นอัตราผลตอบแทนที่เป็นมาตรฐานอ้างอิง
- การบริหารทรัพย์สินของภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการจัดการที่ราชพัสดุเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม การปรับปรุงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบบัญชีและฐานข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง และการปรับปรุงผลการดำเนินงานเพื่อลดภาวะขาดทุนและภาระงบประมาณในอนาคต
สรุป : ไม่ถังแตก แต่ต้องระวัง
แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า "รัฐบาลถังแตก" ในช่วงที่ตัวเลข เงินคงคลัง ลดลง หรือมีการทำงบประมาณขาดดุล แต่ความจริงแล้วฐานะการคลังไทยยังไม่เข้าข่ายวิกฤติ การขาดดุลงบประมาณเป็นเครื่องมือปกติที่หลายประเทศใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามจำเป็น
ไทยยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและไม่เคยผิดชำระหนี้ จึงไม่อยู่ในภาวะล้มละลายเหมือนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ การคลังไทย ยังมั่นคง แต่ไม่ควรประมาท เพราะปัญหาโครงสร้างอย่างหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่สูงอาจกลายเป็นความเสี่ยงในระยะยาว หากเศรษฐกิจยังเติบโตช้าและรายได้ภาษีไม่ฟื้นตัวตามความต้องการใช้งบประมาณ
การใช้นโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจ ขนาดใหญ่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ควบคู่กับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน หากกระทรวงการคลังสามารถนำแผนยุทธศาสตร์มาใช้ได้จริง ก็เชื่อมั่นได้ว่าการคลังไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤติในอนาคต