สงครามการค้า - แผนผลิตของ OPEC+ ปัจจัยกดดันตลาดน้ำมัน

สงครามการค้า - แผนผลิตของ OPEC+ ปัจจัยกดดันตลาดน้ำมัน

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังคงต้องติดตามสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลังสหรัฐประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) รวมถึงการปรับแผนการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC+ ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยอยู่ที่ 71.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนมีนาคม 2568 และผันผวนหนักในกรอบ 63-75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนเมษายน 2568 จากทั้งสองปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลงเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) และชะลอการเติบโตความต้องการพลังงานโลก

สงครามการค้า รอบนี้ เริ่มจากวันที่ 2 เมษายน ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนําเข้าพื้นฐาน (Baseline) ที่ 10% มีผลวันที่ 5 เมษายน และเก็บภาษีนำเข้าอัตราสูงขึ้นจากประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลสหรัฐ มีผลวันที่ 9 เมษายน แต่สุดท้ายได้ตัดสินใจระงับการเก็บภาษีนำเข้าอัตราสูงเป็นเวลา 90 วัน (ยกเว้นจีน) และเก็บที่อัตราพื้นฐาน 10% แทน เพื่อเปิดโอกาสการเจรจาทางการค้า ขณะเดียวกัน จีนได้ตอบโต้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐที่ 125% ซึ่งสงครามการค้าส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกชะลอตัว

แนวโน้ม ราคาน้ำมันดิบ เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2568 มีความผันผวนอยู่ในช่วง 63-73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จาก สงครามการค้า ที่มีแนวโน้มผ่อนคลาย แต่ยังต้องจับตาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งสหรัฐมีการเจรจากับอิหร่านเพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์ โดยสหรัฐเตือนว่าหากการเจรจาล้มเหลว อาจร่วมมือกับอิสราเอลเพื่อโจมตีโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ขณะที่อิหร่านกล่าวหาอิสราเอลว่า พยายามขัดขวางกระบวนการเจรจา รวมถึงจับตาการเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน หากบรรลุข้อตกลง และสหรัฐถอนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านหรือรัสเซีย อาจทำให้อุปทานน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัย OPEC+ ปรับแผนการผลิตน้ำมันดิบสุทธิลดลง 84,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน 2568 ให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลง และจะปรับเพิ่มขึ้น 33,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนพฤษภาคม 2568 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูการประชุมของ OPEC+ ว่าจะปรับแผนการผลิตน้ำมันเดิบอย่างไรจากผลกระทบสถานการณ์ความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่อง ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อ ราคาน้ำมัน เช่น สงครามในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิสราเอล-ฮามาส และสหรัฐ-ฮูตี รวมถึง ธนาคารกลางสหรัฐ อาจลดดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับ เศรษฐกิจถดถอย จากสงครามการค้า