'เอสเอ็มอี' หวัง 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ปลุกกำลังซื้อ ช่วยชีวิตผู้ประกอบการ

'เอสเอ็มอี' หวัง 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ปลุกกำลังซื้อ ช่วยชีวิตผู้ประกอบการ

"ดิจิทัลวอลเล็ต" อีกหนึ่งความหวังช่วยผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่มสินค้าเอสเอ็มอี ปลุกกำลังการซื้อ กระตุ้นยอดขายให้เติบโต ทั้งยังกระจายรายได้ เพิ่มการจ้างงานในชุมชนได้มากขึ้น

สถานการณ์กำลังซื้อและเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐบาลเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกว่า 500,000 ล้านบาท ผ่านโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" ให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ราว 50 ล้านคน ภายใต้เงื่อนไขอายุเกิน 16 ปีขึ้นไป มีรายได้พึงประเมินไม่เกิน 840,000 บาทในปีภาษี 2566 ที่ผ่านมา และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท โดยประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนยืนยันตัวตนในไตรมาส 3 คาดเงินถึงมือประชาชนไตรมาส 4 สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน การบริการและซื้อของออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเพิ่มเติม 

นับเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับ "ร้านค้า" ในพื้นที่ระดับอำเภอ ซึ่งกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น รวมทั้งใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในผู้ประกอบการที่ถูกจับตาก็คือ ร้านค้าสะดวกซื้อ "เซเว่น อีเลฟเว่น" ที่มีเครือข่ายสาขา 14,000 แห่งทั่วไทยที่อยู่ในนิยามใช้ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ได้ด้วยนั้น บรรดาผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่มสินค้าเอสเอ็มอีที่จำหน่ายสินค้าผ่านเซเว่น อีเลฟเว่นมองว่า จะได้รับอานิสงส์จากดิจิทัลวอลเล็ต ช่วยกระตุ้นยอดขายเติบโต 20-30% 

\'เอสเอ็มอี\' หวัง \'ดิจิทัลวอลเล็ต\' ปลุกกำลังซื้อ ช่วยชีวิตผู้ประกอบการ

วันดี ไพรรักษ์บุญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านดอนทอง จ.นครปฐม เจ้าของสินค้าโอทอป 5 ดาว กล้วยหอมอบเนย กล้วยหอมกรอบ ภายใต้แบรนด์ "วี ฟาร์ม ตระกร้า" กล่าวว่า หากกำลังซื้อดีขึ้น ผู้บริโภคมีเงินจับจ่ายมากขึ้นผ่านโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล เชื่อว่าจะส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้น 

"ในฐานะผู้ประกอบการ เราไม่มีโอกาสเข้าโครงการนี้ เพราะต้องไปลงทะเบียน ซึ่งยอดเราน้อยประโยชน์ไม่คุ้ม แต่สิ่งที่คุ้มในวันนี้คือ สินค้าที่เรามีจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น เมื่อคนได้เงินดิจิทัลแล้วไปซื้อสินค้าในเซเว่น อีเวฟเล่น สินค้าเราอาจถูกเลือกจากลูกค้า หน้าที่ของเราก็จะประชาสัมพันธ์ต่อว่าซื้อกล้วยเราในเซเว่น อีเลฟเว่น แบรนด์วี ฟาร์ม ตระกร้า โดยใช้เงินดิจิทัลได้ ลูกค้าที่อยากกิน หรือเคยซื้ออยู่แล้วก็ซื้อได้เลย"

เมื่อยอดขายดี สิ่งที่ตามมาในฐานะผู้ผลิตนั่นคือ การรณรงค์ให้คนปลูกกล้วยมากขึ้น ชุมชน วิสาหกิจ มีการจ้างงาน สร้างแรงงานในชุมชน ส่งต่อให้ "เอสเอ็มอี" ทำการตลาด กระจายสู่ช่องทางขายโมเดิร์นเทรด เซเว่น อีเลฟเว่น สินค้าขายดี ก็ย้อนกลับมายังชุมชนผู้ผลิตเป็น "ลูกโซ่" ต่อไปเรื่อยๆ 

\'เอสเอ็มอี\' หวัง \'ดิจิทัลวอลเล็ต\' ปลุกกำลังซื้อ ช่วยชีวิตผู้ประกอบการ

วันดี กล่าวย้อนถึงการพัฒนาโปรดักต์เรือธง "กล้วยหอมอบเนย" ที่สร้างชื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านดอนทองว่า ด้วยความเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก เป็น "ดับเบิ้ลเอสเอ็มอี" สเกลไม่ถึงเอสเอ็มอีด้วยซ้ำ ยากที่จะเข้ามาในเซเว่น อีเลฟเว่น แต่ได้รับการติดต่อจาก "ซีพี ออลล์" ซึ่งได้นำพาเอสเอ็มอีอย่าง "วี ฟาร์ม ตระกร้า" มาทำงานร่วมกันทั้งด้านการพัฒนาสินค้า การตลาด และประสานกับเซเว่น อีเลฟเว่น 

"เมื่อโอกาสมาในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เราก็พร้อมจะสู้ต่อ เพราะด้วยตัวสินค้า (กล้วยหอมอบเนย) ไม่ด้อยกว่าใคร ขายดีมาโดยตลอด เมื่อมีการเตรียมพร้อม ผนวกกับจุดเด่นวัตดุดิบกล้วยหอมทองสายพันธุ์ไทยเนื้อเหลือง หอม มีความมัน ไม่ร่วนทำชิ้นบาง กรอบ ทำให้ไม่ติดฟัน ขายได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ กินได้หมด 3 ประสานร่วมกันปรับปรุงพัฒนาให้เข้ากับสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ จนนำพาความฝัน ความหวัง สู่ความจริง ที่มีหน้าร้านจำหน่ายเซเว่น อีเลฟเว่น สร้างความภาคภูมิใจให้กับแบรนด์ วีฟาร์มตระกร้า ที่มีชื่อวิสาหกิจชุมชนบ้านดอนทองปรากฏอยู่หลังซอง" 

\'เอสเอ็มอี\' หวัง \'ดิจิทัลวอลเล็ต\' ปลุกกำลังซื้อ ช่วยชีวิตผู้ประกอบการ

พร้อมตอกย้ำความสำเร็จที่ต่อยอดสู่ "เกษตรกร" ซึ่ง "ออร์เดอร์" ที่ชัดเจนจากเซเว่น อีเลฟเว่น สามารถวางแผนสนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรได้ง่าย มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีรายได้ขับเคลื่อนกิจการไปต่อ 

เช่นเดียวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่ออัดฉีดเงินเข้ามา นำเงินมาใช้จับจ่าย เงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท หากทุกคนที่ได้มานำมาใช้ทำให้การซื้อขายคล่องตัว หากไม่ใช้ก็หมดเวลาไม่มีประโยชน์ การใช้ยังเป็นการฝึกใช้เงินดิจิทัลใช้มือถือไปด้วยในตัว

\'เอสเอ็มอี\' หวัง \'ดิจิทัลวอลเล็ต\' ปลุกกำลังซื้อ ช่วยชีวิตผู้ประกอบการ

ชนานาถ ศุภกรกานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออลคิงส์วัน จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ากิฟต์ช็อปในเซเว่น อีเลฟเว่นมากว่า 13 ปี กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งวัตถุดิบ กลุ่มแม่บ้านชุมชนผู้ผลิตสินค้า รองรับการขยายตลาดรวมทั้งประเมินการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในอนาคต 

"ในฐานะเอสเอ็มอี โอกาสจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ประชาชนตัดสินใจซื้อสินค้าเราได้ง่ายขึ้น และทุกเอสเอ็มอีจะได้โอกาสจากยอดขายเติบโตถึง 30% เทียบจากการไม่มีรายได้เลย อยากซื้อสินค้าสักอย่างก็ต้องจัดสรรเงิน เมื่อมีดิจิทัลวอลเล็ตก็ทำให้ซื้อได้ง่ายขึ้นซึ่งเซเว่น อีเลฟเว่นมีเอสเอ็มอีจำนวนมาก"

\'เอสเอ็มอี\' หวัง \'ดิจิทัลวอลเล็ต\' ปลุกกำลังซื้อ ช่วยชีวิตผู้ประกอบการ

"ออลคิงส์วัน" วางจำหน่ายสินค้าในเซเว่น อีเลฟเว่น 5 รายการ ได้แก่ ยางมัดผม กิฟต์ติดผม ที่คาดผม ฯลฯ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ แม่บ้าน นักศึกษา วัยรุ่น ทุกเพศทุกวัย โดยกำลังพัฒนาอีก 3 รายการ อาทิ พวงกุญแจ ของที่ระลึก ประเมินยอดขายในช่วงมีการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตคาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% จากช่วงปกติ 

ชนานาถ เล่าย้อนว่ากิจการจากยอดขาย 200,000-300,000 บาท พัฒนาเป็น 500,000-600,000 บาท จากสินค้า 1 รายการ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยอดขยับเป็นหลักล้านบาท มาจากการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทฯ และจัดซื้อของเซเว่น อีเลฟเว่น ในการพัฒนาสินค้า บรรจุภัณฑ์ การปรับเปลี่ยนด้านต่างๆ สร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญให้กับออลคิงส์วัน ซึ่งเดิมทีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย ได้คำแนะนำจากเซเว่น อีเลฟเว่นให้ลองหา "งานฝีมือในไทย" มาพัฒนาสินค้าดัดแปลงให้ทันสมัย

"ฝีมือคนไทย มีความคงทน มีลายผ้าสัญลักษณ์ของไทย การใช้ฝีมือคนไทย เท่ากับไทยทำ ไทยใช้ ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน ซึ่งก่อนปรับใหญ่ยอดขายหดตัวเพราะคู่แข่งแยอะ หากไม่ปรับวันหนึ่งสินค้าเราก็ต้องตาย สู้คู่แข่งไม่ได้ โดยเฉพาะราคา" 

\'เอสเอ็มอี\' หวัง \'ดิจิทัลวอลเล็ต\' ปลุกกำลังซื้อ ช่วยชีวิตผู้ประกอบการ

เป็นที่มาของการเฟ้นหา "ฝีมือคนไทย" จนได้กลุ่มแม่บ้านจากราชบุรี และสระบุรี มาพัฒนานำสินค้าและนำเสนอกับ เซเว่น อีเลฟเว่น อีกครั้ง นำสู่การเติบโตของ เอสเอ็มอี จากรายได้น้อยสู่รายได้ที่มากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องการจ้างงานกับชุมชนมากขึ้น

"เราเติบโตจากยอดสั่งซื้อจากเซเว่น อีเลฟเว่นชุมชนเติบโตจากการจ้างงาน เป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้นและขยายวงกว้างในหลายจังหวัด"

ชนานาถ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันมีกลุ่มแม่บ้าน 2 กลุ่มหลักคือ ราชบุรีและสระบุรี กลุ่มละ 50 คนขึ้นไป เท่ากับเกิดการจ้างงานมากกว่า 100 คน ทั้งเป็นการถ่ายทอดทักษะการพัฒนาสินค้าสู่ชุมชนในมิติต่างๆ ร่วมกัน