ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการคว่ำบาตร : ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการคว่ำบาตร : ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?

กองทัพรัสเซียบุกโจมตียูเครน (24 ก.พ.65) ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game changer) การจัดระเบียบโลกใหม่ ส่งผลให้ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบปี

บทความนี้ นำเสนอสถานะสงครามรัสเซียยูเครน และเปรียบเทียบกับสงครามความขัดแย้งในอดีต แนวโน้มการใช้นโยบายคว่ำบาตร (Sanctions) ตอบโต้ระหว่างกัน และนัยต่อการจัดระเบียบโลกใหม่ (New world order)

สถานะล่าสุด สงครามรัสเซียยูเครน และ บทเรียนจากสงครามในอดีต

สถาบันวิจัยด้านกิจการทหารของสหรัฐฯ นำเสนอสถานะสงครามรัสเซียยูเครนล่าสุด (5 เม.ย. 65) จากรูป F1 พื้นที่สีแดงแสดงถึงพื้นที่การเข้ายึดครองแล้ว และการรุกคืบของกองทัพรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกของยูเครนเป็นหลัก 

โดยรัสเซียได้ยึดครองแคว้นไครเมีย (Crimea) ในปี 2014 และได้ยึดครองภูมิภาคลูฮันสก์ (Luhansk) (93%) และโดเนตสก์ (Donetsk) (54%) ไปก่อนหน้านี้แล้ว อันเป็นเขตยึดครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียสนับสนุน และเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งผลิตถ่านหินและเหล็กสำคัญของยูเครน ซึ่งไล่ตั้งแต่เมืองมาริอูโปล (Mariupol) ทางตอนใต้ไปจนถึงพรมแดนทางตอนเหนือ

เป้าหมายฝ่ายรัสเซียจะยังคงใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายหลักในการปกป้องตนเองจากภัยคุกคามของชาติตะวันตกกลุ่มนาโต

ทางด้านยูเครนยังคงก่อการต่อต้านอย่างเป็นระบบในพื้นที่ทางภาคเหนือของยูเครนในแคว้นเคียฟ (Kyiv) (พื้นที่สีฟ้าในรูป F1) และบางส่วนของเมืองมาริอูโปล ส่วนรัสเซียมุ่งเน้นที่ "การปลดปล่อย" ในภูมิภาค Donbas ทางตะวันออก 

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการคว่ำบาตร : ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?

ล่าสุดในการเจรจาสันติภาพ (Peace talk) ที่กรุงอิสตันบูล(29 มี.ค. 22) มีความคืบหน้าสำคัญ คือ รัสเซียประกาศลดปฏิบัติการรอบกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน และรอบเมืองเชอร์นิฮิฟ (Chernihiv) ส่วนยูเครนยอมเลิกล้มความต้องการเข้าเป็นสมาชิกนาโต

จากงานศึกษาในอดีต Center for Strategic and International Studies (CSIS)  สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1946 สรุปได้ว่า 
(1) เฉลี่ย 26% ของสงครามระหว่างรัฐทั้งหมด ยุติความขัดแย้งเกิดขึ้นภายใน 30 วัน และสู้รบกันเฉลี่ย 8 วัน 
(2) 25% จะยุติภายใน 1 ปี 
(3) 44% จะยุติด้วยข้อตกลงหยุดยิง หรือข้อตกลงสันติภาพ 
(4) ในสงครามระหว่างรัฐที่สู้รบกันนานระหว่าง 1 เดือนถึง 1 ปี จะยุติด้วยสัญญาหยุดยิง 24% และ 
(5) หากสู้รบกันนานกว่า1 ปี สงครามจะขยายเวลาเฉลี่ยกว่าทศวรรษและส่งผลให้เกิดการปะทะกันเป็นระยะ (Sporadic clashes) 
 

จากสถิติข้างต้น ผู้เขียนคาดว่า สงครามรัสเซียยูเครนน่าจะเป็นส่วนผสมของกรณี 4 และ 5 คือ ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันนานระหว่าง 1 เดือนถึง 1 ปี และจะยุติด้วยสัญญาหยุดยิง แต่จะมีการปะทะกันเป็นช่วงๆ ในแนวชายแดน

การใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร บังคับใช้บทลงโทษหรือมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) ต่อรัสเซียเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครน ที่สำคัญคือ สหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น ห้ามการลงทุนใหม่ในรัสเซีย และการคว่ำบาตรขั้นสูงต่อสถาบันการเงินของรัสเซีย 2 แห่ง ได้แก่ Alfa Bank และ Sberbank ขณะที่อังกฤษได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรธนาคาร Sberbank ที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย

ชาติพันธมิตรตะวันตกยังคว่ำบาตรทางการเงิน ที่สำคัญคือ “การแช่แข็งสินทรัพย์เงินสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซีย 630 พันล้านดอลลาร์ (470 พันล้านปอนด์)” และธนาคารบางแห่งของรัสเซียถูกตัดออกจากระบบชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก หรือ “ระบบ SWIFT” เพื่อหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่งผลให้การชำระเงิน 

การส่งออกพลังงานของรัสเซียลำบากขึ้น นอกจากนี้ จะแบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียด้วยทั้งหมด โดยสหภาพยุโรปซึ่งพึ่งพาน้ำมันหนึ่งในสี่และก๊าซ 40% จากรัสเซีย จะพยายามทำให้ยุโรปเป็นอิสระจากพลังงานจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2573

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการคว่ำบาตร : ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?

การใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยชาติพันธมิตรตะวันตกไม่ใช่เรื่องใหม่ จากงานศึกษาในอดีต มาตรการคว่ำบาตรช่วง 1950-2019 (รูป F2) ภาพรวมแนวโน้มการใช้มาตรการคว่ำบาตรทุกประเภทเติบโตต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ การคว่ำบาตรทางการค้า สัดส่วนมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 18% ในปี 2019 จากมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ขณะที่การคว่ำบาตรทางการเงิน (Financial sanctions) และการจำกัดการเดินทาง (Travel sanctions) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 31% และ 20% ตามลำดับ 

โดยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรมากที่สุดคิดเป็น 1 ใน 3 ของการคว่ำบาตรทั้งหมด รองลงมาคือ EU และ UN

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ และการคว่ำบาตร: ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?

ที่ผ่านมา ชาติพันธมิตรและ UN ใช้มาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นต่อประเทศต่างๆ เพื่อเป้าหมายทางนโยบายระหว่างประเทศในวงกว้าง ทั้งด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การต่อต้านก่อการร้าย และการเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศเป้าหมาย 

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการคว่ำบาตร : ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?

ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ปรับตัวสูงขึ้น (รูป F3) จากสงครามรัสเซียยูเครนและการใช้มาตรการตอบโต้ระหว่างกัน ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจเป็นตัวพลิกเกม (Game changer) นำไปสู่ระเบียบโลกใหม่ใน 3 ด้านหลัก ดังนี้

1) การลดระดับโลกาภิวัตน์ที่มีมานานในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อชาติพันธมิตรตะวันตกคว่ำบาตรหรือทำ "สงครามเศรษฐกิจ" กับรัสเซีย พยายามโดดเดี่ยวรัสเซียออกจากเศรษฐกิจโลก ยังทำให้เกิดการแบ่งขั้วของมหาอำนาจชัดเจนขึ้น  

IMF ชี้ว่า สงครามทำให้ต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ประเทศต่างๆ เผชิญกับความท้าทายการรักษาสมดุลระหว่างการคุมเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งพึ่งฟื้นตัวจากโรคระบาด โดยประเทศในเอเชียยังรับแรงกดดันของเงินเฟ้อได้บ้าง จากที่มีการผลิตในท้องถิ่นและการพึ่งพาข้าวมากกว่าข้าวสาลี แต่ยังมีปัญหาจากการนำเข้าพลังงานในสัดส่วนสูง

2) ระบบหลายขั้วอำนาจ (Multipolarity) เปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างขั้วอำนาจเดียว ที่นำโดยสหรัฐฯ สงครามนี้ทำให้รัสเซียและจีนร่วมมือกันผลักดันให้เกิดระบบหลายขั้วอำนาจทั่วโลก “เกิดความร่วมมือระหว่างจีน-รัสเซียที่ไม่มีขอบเขต” และจะเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาคและโลกในระยะข้างหน้าต่อไป 

3) นโยบายภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงาน อียูและอังกฤษพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับสูง เฉพาะก๊าซธรรมชาติในปี 2019 เฉลี่ยประมาณ 16 พันล้านคิวบิกฟุตต่อวัน สงครามนี้ทำให้อียูตัดสินใจเร่งกระบวนการ EU’s European Green Deal 2050 ที่เน้นไปใช้แหล่งพลังงานที่ปราศจากคาร์บอนและคาร์บอนต่ำ (Decarbonization of energy) 
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการคว่ำบาตร : ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)