สรุปสถานการณ์โควิด-19 ทำไม “จีน” ยังใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ?

สรุปสถานการณ์โควิด-19 ทำไม “จีน” ยังใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ?

เมื่อพูดถึง สถานการณ์โควิด-19 ใน “จีน” ช่วงนี้ หากเราถามคนจีนหรือดูตามสื่อจีน เราจะได้รับคำตอบว่า “รุนแรงมาก” จนมีการล็อกดาวน์มหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

สถานการณ์โควิด-19 การล็อกดาวน์มหานครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของ “จีน” บ่งบอกได้ถึงคำว่า “รุนแรง” ในความรู้สึกของจีน เพราะถ้าไม่รุนแรงจริง คงไม่กล้าที่จะล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ทั้งที่รู้ว่าคงมีผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจแน่ๆ  

เซี่ยงไฮ้ เจอผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน มากแค่ไหน ถึงเรียกว่ารุนแรงจน ล็อกดาวน์ ?

ในช่วงที่ประกาศ ล็อกดาวน์ เซี่ยงไฮ้ เจอผู้ติดเชื้อ โควิด-19 รายใหม่ หลายพันคนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ซึ่งทางจีนยังคงใช้นโยบาย โควิดเป็นศูนย์ แม้จะมีการปรับให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยเรียก โควิดเป็นศูนย์ ไดนามิก (zero-covid dynamic) แต่ก็ยังคงเป้าหมายเดิมคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด ลดการติดเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น การติดเชื้อต่อวันในหลักพันจึงเป็นสิ่งที่จีนไม่ปล่อยไปเฉยๆ 

เมื่อวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2565 ทางมหานครเซี่ยงไฮ้ ได้แถลงระดมตรวจโควิด-19 ทั่วทั้งเมืองรอบใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการล็อกดาวน์ และ ณ ขณะนี้ก็ยังคงล็อกดาวน์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพิ่งจะทำลายสถิติพุ่งทะลุ 22,000 ราย ภายใน 1 วัน เมื่อวันที่ 8 เมษายน แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการรายใหม่ในเซี่ยงไฮ้ 1,015 ราย และไม่มีอาการมากถึง 22,609 ราย ทางเซี่ยงไฮ้จึงต้องยิ่งลุยอย่างหนักเพื่อกดยอดติดเชื้อให้ลดลงให้ได้ ลุยตรวจให้เจอให้หมดทั้งเมืองและลุยให้จบ 

โดยตั้งแต่ล็อกดาวน์ การระดมตรวจของเซี่ยงไฮ้เข้มงวดมาก มีใช้กลยุทธ์ “เคาะประตูบ้าน” เรียกถึงหน้าบ้าน หรือห้องพักเลยทีเดียวในแต่ละชุมชน

ทำไม “จีน” ยังต้องเข้มงวดกับโควิด-19 ขนาดนี้ ?

เชื่อว่าคำถามนี้อยู่ในห้วงความคิดของทุกคน คนจีนเองก็มีไม่น้อยที่อดสงสัยไม่ได้ เราจึงได้เห็นทาง CDC หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน เผยแพร่บทความวิจัยผลกระทบต่อจีนหากไม่ใช้นโยบาย โควิดเป็นศูนย์ โดยเปรียบเทียบกับนโยบายใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ของอเมริกาและหลายประเทศ โดยเฉพาะในโลกตะวันตก 

บทความ On Coexistence with COVID-19 : Estimations and Perspectives ซึ่งเผยแพร่ใน China CDC Weekly แพลตฟอร์มทางการของ CDC จีน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ถูกนำเสนอโดยสื่อกระบอกเสียงทางการจีนอย่าง China Daily อีกครั้ง ในรายการออนไลน์ “China Daily Science Talk” ของ China Daily Online ซึ่งชื่อรายการของสื่อจีนรายใหญ่ บ่งบอกถึงอีกหนึ่งจุดยืนเรื่องโควิด-19 ที่จีนใช้มาต่อต้านกับกระแสเชิงลบจากประเทศอื่นๆ อย่างอเมริกา ในแนวทางที่ว่า “จีนยึดมั่นในการหาคำตอบโดยหลักฐานและวิถีทางวิทยาศาสตร์” จีนจึงพยายามสื่อสารถึงนานาประเทศเกี่ยวกับการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ผ่านบทความวิจัยเช่นกัน 

ในบทความระบุว่า “ถ้าจีนใช้นโยบายรับมือโควิด-19 เฉกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน ตัวเลขต่ำที่สุดที่เป็นไปได้ที่จีนจะต้องเจออยู่ที่มากกว่า 6 แสนราย และจะเจอเคสผู้ป่วยหนักมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน” ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่สอดรับกับความสามารถทางการแพทย์ที่จีนมี โดยเตียงดูแลผู้ป่วย อย่างสัดส่วนเตียงผู้ป่วย ICU หรือผู้ป่วยขั้นวิกฤติในจีนอยู่ที่ 4.3 เตียง ต่อคนจีน 100,000 คน เท่านั้น ถ้าปล่อยให้มีการติดเชื้อเพิ่มขนาดนั้น ระบบการแพทย์ในจีนจะล้มเหลว นี่คือสิ่งที่จีนยกมาเป็นเหตุผล

บทความที่เกี่ยวข้อง

นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของจีน ดีหรือไม่ดี ? 

ถ้ามองจากสื่อโลกตะวันตกและทางอเมริกัน แน่นอนว่าคำตอบต้องออกมาเป็น “ไม่ใช่หนทางถูกต้อง” เพราะจีนโดนวิจารณ์สิ่งนี้มาตลอด เอาแค่ช่วง ล็อกดาวน์ เซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ปลายมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทางรอยเตอร์สื่อชื่อดังระดับโลก ได้รายงานการคาดการณ์ทางเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Chinese university of Hong Kong มหาวิทยาลัยชิงฮว๋าของจีน (Tsinghua University) และสถาบันอื่นๆ ที่คาดไว้ว่า หากมีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบกับมหานครใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ จะส่งผลต่อการลดลง 4% ของ GDP จีน เรียกว่ากระทบต่อเศรษฐกิจเต็มๆ

ไม่ใช่แค่นั้น ผลกระทบเชิงลบจากนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” นำมาซึ่งการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทาง จำกัดการใช้ชีวิต ส่งผลถึง “การเข้าถึงยารักษาโรค” ไม่ใช่แค่ยารักษาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทว่าโรคอื่นๆ ด้วย โดยคนที่ป่วยได้รับยาช้ากว่าปกติ ไม่สามารถไปเอายาได้ ด้วยสถานพยาบาลต้องระดมสรรพกำลังไปลุยป้องกันและควบคุมโควิด-19 ประกอบกับภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่เหมือนช่วงก่อนล็อกดาวน์ เนื่องจากมีการกักตัวของพนักงานจัดส่งมากขึ้น ต้องฆ่าเชื้อในโกดังต่างๆ ทำให้ระยะเวลาการส่งยาวนานขึ้น 

ปัญหาการเข้าถึงยาและการรับบริการทางการแพทย์ที่ช้ากว่าปกติ หรือไม่ได้รับการบริการ จนถึงขั้นเสียชีวิต มีให้เห็นในการล็อกดาวน์เมืองอื่นของจีนก่อนหน้านี้มาแล้ว อย่างเมื่อต้นปี 2565 ในเมืองซีอาน เคยมีเคสหญิงท้องแก่แท้งลูก เนื่องจากนั่งรอนานกว่าสองชั่วโมง แต่ไม่ได้รับบริการการแพทย์ตามปกติอย่างที่ควรเป็น เพียงเพราะหญิงผู้นี้ไม่มีผลการตรวจโควิดเป็นลบภายใน 48 ชั่วโมงมาแสดง ภายหลังเรื่องนี้ถูกเผยแพร่จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์อย่างหนัก และจุดกระแสเดือดของความสำคัญที่จะต้องมีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่อไปหรือไม่ โดยทางการจีนก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกมาขอโทษในเหตุดังกล่าว  

หลังจากเกิดการวิจารณ์และเคสเชิงลบหลายเคส จีน จึงพยายามปรับใช้นโยบาย โควิดเป็นศูนย์ ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น (แบบค่อยเป็นค่อยไป) และการแก้ปัญหาล่าสุดของเซี่ยงไฮ้ ก็สื่อให้ถึงคำว่า “ยืดหยุ่น” ได้พอสมควร โดยคณะกรรมการสุขภาพประจำแต่ละชุมชม-ย่านที่พักอาศัย การร่วมมือกับสถานพยาบาล-สถาบันการแพทย์ในท้องที่นั้น เพื่อรวบรวมข้อมูลของประชาชนในพื้นที่ และจัดเตรียมอาสาสมัครเพื่อดูแลเรื่องยาสำหรับผู้ที่มีโรคทั่วไปหรือโรคเรื้อรัง

ขณะที่ในการพบแพทย์ ทางเซี่ยงไฮ้ได้เตรียมระบบโรงพยาบาลออนไลน์ เชื่อมโยงสถานพยาบาลต่างๆ ใน เซี่ยงไฮ้ เพื่อให้ผู้ป่วย ไม่ว่าจะโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ได้ติดต่อกับแพทย์ พร้อมกรอกความต้องการยาผ่านทางออนไลน์ได้ และจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลตามพื้นที่ต่างๆ ในเซี่ยงไฮ้ เพื่อใช้มาตรการป้องกันและควบคุมที่แตกต่างกันตามระดับความเสี่ยง ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ?

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่