สานความเชื่อมั่นสู่โลกที่ดีกว่า | อาคิม สไตเนอร์

สานความเชื่อมั่นสู่โลกที่ดีกว่า | อาคิม สไตเนอร์

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของมนุษยชาติ เรามีโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเร่งแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

แต่ความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนและภาครัฐซึ่งถูกสั่นคลอนโดยวิกฤตโควิด 19 กลับซ้ำเติมปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ บ้างก็กล่าวว่าการส่งต่อและสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน มีวาระซ่อนเร้น โดยสื่อและภาครัฐ อาจเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเงินและการเมืองโดยมิชอบ ทางออกเรื่องนี้อยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี

แม้ว่าในระดับโลก เราจะได้เห็นความก้าวหน้าด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และการศึกษา แต่เมื่อขาดความเชื่อมั่น ผู้คนก็อดวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตไม่ได้ รายงานที่จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเชื่อมั่นที่ลดลง และความรู้สึกไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนเชื่อใจกันน้อยลงถึงสามเท่า

พื้นที่การแสดงความคิดเห็นกำลังลดลงทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและที่อื่นๆ  ในการจัดอันดับเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็น หลายประเทศอยู่ในกลุ่มที่เสรีภาพ “ถูกปิดกั้น” “ถูกขัดขวาง” หรือ “ถูกควบคุม” ในห้าปีที่ผ่านมา หลายประเทศในเอเชียบังคับใช้มาตรการใหม่รวมทั้งสิ้น 47 รูปแบบเพื่อจำกัดพื้นที่เรื่องนี้  

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลเท็จและข้อความที่สร้างความเกลียดชัง เช่นในสังคมออนไลน์ ได้กลบทับข้อมูลข่าวสารที่มีหลักฐานและน่าเชื่อถือ นำไปสู่ความเข้าใจผิด การไม่อดทนอดกลั้น สร้างความขัดแย้ง ขณะที่ UNDP เดินหน้าเปิดพื้นที่เสรีเพื่อการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ดังนี้   

1) เราเสริมสร้างพลังให้ผู้คน โดยเฉพาะเยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาวชุมชนชายขอบ และชนพื้นเมือง ให้มีสิทธิ์มีเสียงและมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  UNDP ร่วมกับ UNICEF และพันธมิตรจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เยาวชนกว่า 2 ล้านคนในภูมิภาค และสร้างผู้นำเยาวชนที่เข้าใจปัญหาสังคมและพร้อมจะใช้สิทธิ์และส่งเสียงในประเด็นสำคัญ เช่น เรื่องสภาพภูมิอากาศ หรือเรื่องของอนาคต 

นี่เป็นภารกิจสำคัญเพราะร้อยละ 49 ของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เราได้พูดคุยด้วยเมื่อไม่นานมานี้มองว่า เทคโนโลยีมีส่วนทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง

UNDP จึงแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการ TechForDemocracy ที่นำโดยเดนมาร์ก เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ให้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างประชาธิปไตย ยกระดับความโปร่งใส สำนึกรับผิดชอบ และการเปิดกว้างเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย

เรายังมีโครงการ Youth Empowerment in Climate Action Platform ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกเยาวชนกว่า 12,000 คนที่มีบทบาทในการดำเนินตามความตกลงปารีส ด้วยการร่วมวางแนวปฏิบัติสำหรับประเทศของตนหรือที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมระดับประเทศ (Nationally Determined Contributions) รวมถึงโครงการ Youth Environmental Living Lab ในมาเลเซีย ที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการออกแบบและเป็นผู้นำทางความคิดด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น 

สานความเชื่อมั่นสู่โลกที่ดีกว่า | อาคิม สไตเนอร์

โครงการแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมในอินโดนีเซีย ปากีสถาน และไทยที่ช่วยผลักดันความร่วมมือรูปแบบใหม่ ๆ ระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐบาลในท้องถิ่นและภาคธุรกิจ เช่น ในปากีสถาน เราออกแบบเทคนิคการทำเกษตรบนที่สูง 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิต ยกระดับความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่

2) เราปกป้องนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อม ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกคุกคาม ข่มขู่ และใช้ความรุนแรง ในปี 2563 นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนถึง 56 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถูกสังหาร บางคนเป็นผู้เปิดโปงการค้าไม้เถื่อนหรือการทำเหมืองแร่ผิดกฎหมาย 

ทางแก้ปัญหาคือการเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับหลักสิทธิมนุษยชน เราจึงให้การสนับสนุนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Institution) ให้สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพหากได้รับคำร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ นอกจากนี้ UNDP ยังให้ความช่วยเหลือนักข่าวและนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกดำเนินคดีโดยผู้มีอำนาจเพื่อให้หยุดเคลื่อนไหว และเรายังอบรมนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากการทำงาน

3) เราต่อต้านวาทะที่สร้างความเกลียดชัง เช่น การแบ่งขั้ว และการส่งต่อข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด โดยส่งเสริมให้สังคมรู้จักความอดทนอดกลั้น เข้าใจความหลากหลาย และนำเสนอข้อมูลที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง UNDP ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์โดยตรงเพื่อพัฒนานโยบายต่อต้านวาทะสร้างความเกลียดชังและข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด 

เช่น โครงการ United Creatives ที่ชักชวนให้ผู้นำเยาวชน อินฟลูเอนเซอร์ และครีเอเตอร์รุ่นใหม่ 40 คนมาสร้างสรรค์แคมเปญดิจิทัลเพื่อยุติปัญหาวาทะสร้างความเกลียดชังทางเพศและการตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ดึงเอาคนรุ่นใหม่ในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เข้ามาส่วนร่วมในการทำงานกับรัฐสภาเป็นต้น

เพื่อก้าวต่อไปที่ดีกว่าเดิม (build forward better) หลังวิกฤตโควิด 19 ทุกคนควรได้รับโอกาสในการกำหนดอนาคตของตนเอง ประชาชนและภาครัฐสามารถสื่อสารเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยี การฟื้นฟูความเชื่อมั่นคือสิ่งสำคัญในการสร้างโลกใบใหม่ให้ยั่งยืน สำหรับเราทุกคน.