Inverted Yield Curve รอบนี้น่ากลัวหรือไม่?

Inverted Yield Curve รอบนี้น่ากลัวหรือไม่?

Inverted Yield Curve คือสถานการณ์ที่อัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ใช้ผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี และ 10 ปี

มาเปรียบเทียบกัน Inverted Yield Curve เป็นสัญญาณให้เฝ้าระวังโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอลงอย่างมากและอาจนำไปสู่สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหรือ Recession เพราะในภาวะปกติ ดอกเบี้ยระยะยาวจะสูงกว่าระยะสั้น

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 การ Lockdown ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก วัคซีนทำให้คนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตปกติ ความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่อั้นไว้เริ่มกลับมา แต่ฝั่งผู้ประกอบการยังไม่พร้อม

เพราะมีทั้งปัญหาขั้นตอนและต้นทุนด้านปฏิบัติการ เช่น การตรวจเชื้อและการดูแลสุขอนามัยพนักงาน กำลังการผลิตที่ไม่เท่าเดิมเพราะขาดแคลนแรงงานรวมทั้งชิ้นส่วนและวัตถุดิบ ตลอดจนอุปสรรคในการขนส่ง ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานตึงตัว และราคาสินค้าแพงขึ้น สะท้อนในอัตราเงินเฟ้อ Core PCE ของสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2021 ที่ 4.89% (สูงกว่าเป้าหมายที่ 2%)

ในช่วงต้นปี 2022 นักวิเคราะห์คาดว่าปัญหาห่วงโซ่อุปทานจะค่อยๆ คลี่คลายได้ในราวไตรมาส 2 และ 3 แต่แล้วความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดความกังวลด้านอุปทานของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ แร่โลหะบางประเภท รวมไปถึงธัญพืชและปุ๋ย เพราะทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งส่งออกที่สำคัญ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมปรับสูงขึ้น เห็นได้จากดัชนี Bloomberg Commodity Index ที่เคยขึ้นสูงสุด +16% และลดลงเหลือ +8.3% (23 กุมภาพันธ์ - 1 เมษายน) ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ และล่าสุด Core PCE ณ กุมภาพันธ์ 2022 เพิ่มขึ้นมาที่ 5.4%

ภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ และหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของธนาคารกลางคือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ในรอบการประชุมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก หลังจากการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายในช่วงปี 2018 ที่ 0.25% และย้ำว่าพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นและต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทิศทางอันชัดเจนของเฟดทำให้นักลงทุนเทขายพันธบัตร ผลักให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 10 ปี เพิ่มขึ้นไปที่ 2.45% และ 2.38% (ณ 1 เมษายน) ตามลำดับ ผลที่ตามมาอีกหนึ่งเรื่องคือเกิด Inverted Yield Curve

การศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า

  • Inverted Yield Curve มักเกิดในช่วงที่แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น (Hiking Cycle)
  • Inverted Yield Curve รายวันไม่ใช่สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ในอดีต สัญญาณจะชัดเจนขึ้นเมื่อเกิดภาวะนี้ต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 1 เดือน แม้ในสถานการณ์นั้น เศรษฐกิจจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในทันที แต่มีเวลาโดยเฉลี่ยอีกราว 16 เดือน
  • Inverted Yield Curve ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นจะตกต่ำ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นและมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยราว +15% จนถึงจุดสูงสุด และใช้เวลาเฉลี่ยราว 1 ปีในช่วงความเคลื่อนไหวดังกล่าว

Inverted Yield Curve ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เกิดจากการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อจากเหตุการณ์พิเศษทั้งวิกฤตโควิดและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และเพราะเป็นการขยับขึ้นในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์รวมทั้ง Yield Curve แบนราบ (ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวแคบมาก) เพราะผลของนโยบายผ่อนคลายทางการเงินตลอดหลายปีที่ผ่านมา  

นักลงทุนยังไม่ต้องตกใจว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำอีก Inverted Yield Curve เป็นเพียงหนึ่งในหลายเครื่องมือที่ตลาดมักใช้อ้างอิง นอกจากนี้ มีการศึกษาเพิ่มเติมว่าความแม่นยำของเครื่องมือนี้ลดลง ประกอบกับหากดูด้านเวลาในเชิงสถิติจากอดีต ยังถือว่าเร็วเกินไป ทำให้มีเวลาติดตามข้อมูลหรือเตรียมตัวอีกพอสมควร ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนคือตัวเลขการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะยังเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่วนจะจบลงอย่างไร ตัวแปรหลักคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

ความผันผวนในตลาดจะสูงขึ้นจากหลายประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น นักลงทุนควรกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ผ่านกองทุนผสม เพื่อช่วยลดความผันผวนโดยรวม หรือกองทุนหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันและการกำหนดราคา มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูง มีการเติบโตรายได้และกำไรในระดับที่สูง เพื่อช่วยลดผลกระทบจากเศรษฐกิจในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และสุดท้ายกองทุนหุ้นที่จะเป็นผู้ชนะใน New Economy เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งในระยะยาว