เลือกอนาคตให้ไทย ไร้มลพิษ | วาระทีดีอาร์ไอ

เลือกอนาคตให้ไทย ไร้มลพิษ | วาระทีดีอาร์ไอ

การพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองที่ค่อนข้างเข้มข้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เนื่องจากต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ทั้งขยะมูลฝอย น้ำเสีย และมลพิษทางอากาศ

ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสภาพการจราจรหนาแน่น และจังหวัดทางภาคเหนือที่ประสบปัญหาหมอกควันจากไฟป่าและการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร  

การมุ่งพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจโดยหลงลืมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาจทำให้เราไม่สามารถจินตนาการได้ว่าประเทศไทยจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศและความเป็นอยู่ของผู้คนที่ดีขึ้นได้อย่างไร หรืออีก 20 ปีข้างหน้าเราจะนำคุณภาพน้ำและอากาศที่ดี ปราศจากขยะมูลฝอยกลับมาได้หรือไม่ 

เพื่อหาคำตอบและนำไปสู่การจัดทำนโยบายการบริหารจัดการด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้เขียนและทีมวิจัย ทีดีอาร์ไอ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงวิเคราะห์ภาพอนาคต ทางด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ที่รวมถึง ด้าน“มลพิษ”  

ภายใต้ปัจจัยขับเคลื่อนทางด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และด้านการเมือง พร้อมสถานการณ์และความเสี่ยงด้านมลพิษในกรอบระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า 

เพื่อให้เห็นภาพอนาคตที่พึงปรารถนา (Desirable Scenario) และภาพอนาคตที่เป็นไปได้ (Plausible Scenario) สำหรับประเทศไทยในด้านมลพิษ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 น้ำเสียชุมชน และขยะมูลฝอยชุมชน

การศึกษาพบว่า สถานการณ์ปัญหา “มลพิษ” ของประเทศไทยในสภาพปัจจุบัน ทั้งฝุ่น PM2.5 น้ำเสียและขยะมูลฝอยชุมชนนั้น มีระดับของปัญหาต่างกัน (H1 ในภาพ) แต่ก็ตกอยู่ในสภาพเข้าใกล้ภาพอนาคตที่ “จมกับมลพิษ” ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครพึงปรารถนา

หากมองไปในอนาคต การตกในสภาพ “จมกับมลพิษ” จึงเป็นหนึ่งในภาพอนาคตที่เป็นไปได้ (Plausible Scenario - PS ในภาพ) ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้าหากประเทศไทยไม่มีการดำเนินมาตรการจัดการมลพิษใด ๆ เพิ่มเติมที่เข้มข้นกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

เลือกอนาคตให้ไทย ไร้มลพิษ | วาระทีดีอาร์ไอ

รวมทั้งขาดการจัดการด้านมลพิษที่ดีและขาดประสิทธิภาพในการรองรับการขยายตัวของเมือง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขาดจิตสำนึกและความตระหนัก รวมถึงไม่มีส่วนร่วมในการจัดการมลพิษ
 

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยไม่มีการดำเนินมาตรการใด ๆ เพิ่มเติม ผลการศึกษาพบว่า ยังมีภาพอนาคตที่เป็นไปได้ (Plausible Scenario - PS ในภาพ) ที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญอีก 2 ภาพ ได้แก่

ฉากทัศน์ “ขาดการสนับสนุนด้านนโยบาย” และ ฉากทัศน์ “สภาพแวดล้อมดี” ซึ่งขึ้นกับว่าประเทศไทยจะเร่งปรับนโยบาย กำหนดมาตรฐานและบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและจัดการมลพิษได้อย่างเต็มที่หรือไม่ 

เลือกอนาคตให้ไทย ไร้มลพิษ | วาระทีดีอาร์ไอ

เพราะถึงแม้ประเทศไทยมีการจัดการเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองที่ดีและเหมาะสม ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีจิตสำนึก ความตระหนัก และมีส่วนร่วมในการจัดการมลพิษแล้วก็ตาม แต่หากนโยบายด้านการจัดการมลพิษยังขาดความต่อเนื่องและไม่ชัดเจน ไม่มีมาตรฐานควบคุมมลพิษที่เข้มงวด

อีกทั้งไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เราจะไม่สามารถไปสู่ ภาพอนาคตที่พึงปรารถนา (Desirable scenario ) หรือฉากทัศน์ “สภาพแวดล้อมดี” (H3 ในภาพ) ได้เลย


ดังนั้น ความท้าทายสำหรับประเทศไทยคือ ภายในระยะเวลา 20 ปี เราจะก้าวไปสู่ฉากทัศน์ “สภาพแวดล้อมดี” ได้อย่างไร ซึ่งผลการศึกษา มีข้อเสนอให้มีการดำเนินมาตรการแบ่งออกตามห้วงเวลา ได้แก่

มาตรการระยะสั้น (5 ปี) มาตรการระยะกลาง (10 ปี) และมาตรการระยะยาว (15-20 ปี) ที่ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น (5 ปี) ประเทศไทยต้องมีการใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนลดมลพิษ เช่น มาตรการทางภาษีที่จัดเก็บจากผู้ปล่อยมลพิษ

ส่วนมาตรการที่ควรเริ่มทำได้เลยในระยะสั้น (5 ปี) และควรดำเนินการต่อเนื่องไปถึงระยะกลาง (10 ปี)  เช่น การดำเนินมาตรการจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด เช่น การห้ามเผาในที่โล่ง การยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษในภาคยานยนต์ ไปพร้อมกับการถ่ายทอดความรู้และสร้างความตระหนักให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อให้เห็นความสำคัญของผลกระทบจากมลพิษ

เลือกอนาคตให้ไทย ไร้มลพิษ | วาระทีดีอาร์ไอ

อีกทั้งจะต้องมีการปรับปรุงหรือทบทวนกฎหมายให้มีความทันสมัย และลดช่องว่างของอำนาจการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการวางระบบ Zoning เมืองใหม่ โดยกำหนดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มการนำน้ำทิ้งและขยะกลับมาใช้ประโยชน์

สำหรับมาตรการที่ควรทำตลอดตั้งแต่ ระยะสั้น (5 ปี) ระยะกลาง (10 ปี) และในระยะยาว (15-20 ปี) เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหามลพิษ และการส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านมลพิษ 

การเร่งแก้ปัญหาตามมาตรการทั้งหมดนี้ ครอบคลุมทั้งเรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 น้ำเสียและขยะจากชุมชน ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อไปสู่ภาพอนาคตด้านคุณภาพอากาศที่พึงปรารถนา

แต่หากเราปล่อยให้ระยะเวลา 20 ปีผ่านไปโดยไม่ทำอะไร ปัญหามลพิษจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และภาพอนาคตที่ไม่น่าพึงปรารถนาย่อมรอเราอยู่ข้างหน้า.
คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส
ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยอาวุโส