รัฐมนตรีไล่ความเหงา | วรากรณ์ สามโกเศศ

รัฐมนตรีไล่ความเหงา | วรากรณ์ สามโกเศศ

ภัยต่อจิตใจมนุษย์คือการขาดความสุข เพราะขาดความมั่นคงในชีวิต อันเนื่องมาจาก ปัจจัยสี่ ขาดความรู้สึกอบอุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรู้สึกอ้างว้างเดียวดายเต็มไปด้วยความเหงา

ในช่วงเวลา 2 ปีกว่าของการอาละวาดของ โควิด-19 ผู้คนจำนวนมากในโลกเกิดมีความรู้สึกดังกล่าวมากขึ้นจนเป็นปัญหาสังคม      บางประเทศในโลกให้ความสนใจแก่ปัญหานี้อย่างมากจนถึงกับตั้งรัฐมนตรีคนหนึ่งรับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาโดยตรง โดยเรียกกันว่า Minister of Loneliness  หรือ  Loneliness Minister หรือ รัฐมนตรีไล่ความเหงา

    lonely เป็นความรู้สึกว้าเหว่อ้างว้างตัวคนเดียว(โดยไม่จำเป็นว่ามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากน้อยเพียงใด) มันเป็นความรู้สึกของการตัดขาดทางสังคม    สำหรับหลายคนแล้วมันเป็นความรู้สึกเหงาและไร้ความสุขใจอย่างยิ่ง

รัฐมนตรีอังกฤษภายใต้การนำของ Theresa May ตั้ง Baroness Barran เป็น Loneliness Minister คนแรกของโลกในปี 2018  หลังจากที่ Jo Cox สมาชิกรัฐสภาอังกฤษได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาหนทางที่จะลดความเหงาในอังกฤษ    

รายงานของ Jo Cox Commission ถึงมือรัฐสภาในปลายปี 2017  โดยเธอไม่มีโอกาสได้เห็นเพราะถูกยิงและแทงอย่างทารุณโดยฆาตกร ฝ่ายขวาตกขอบ ในขณะพบปะประชาชน

    หนึ่งในข้อเสนอของรายงานฉบับนี้คือ การมอบให้รัฐมนตรีคนหนึ่งรับผิดชอบการลดปัญหาความเหงาโดยมิได้สร้างกระทรวงขึ้นมารับผิดชอบ    หากเป็นการขยายงานของกระทรวง Sport and Civil Society  งานของรัฐมนตรีคือการสร้างความร่วมมือกับผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมและประชาชนโดยเน้นให้เห็นความสำคัญของปัญหาความเหงา

    รัฐบาลอังกฤษเป็นประเทศแรกในโลกที่มีแผนกลยุทธ์ลดความเหงาโดยเน้นการมุ่งมั่นร่วมกันทำงานของ 9 หน่วยงานของรัฐ   เช่น สนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า “social prescribing”  กล่าวคือ ผู้ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพที่สัมผัสคนไข้โดยตรง   ชี้แนะและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่ประสบความรู้สึกเหงาเพื่อรับการช่วยเหลือและการสนับสนุนผ่านบริการของชุมชน

ในประชากรของอังกฤษ 67 ล้านคน     มี 7.9 ล้านคนที่อยู่บ้านคนเดียว และในจำนวนนี้ 700,000 คนมีอายุเกิน 65 ปี     ร้อยละ 17 ไม่มีการติดต่อพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนฝูงในหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา และร้อยละ 11 ไม่มีการติดต่อในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนที่อยู่ในข่ายความเหงาเหล่านี้รู้สึกเลวร้ายยิ่งขึ้น โดยเกิดจากความหวาดหวั่นว่าจะเจ็บป่วย จากความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น และจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ      สภาพจิตใจที่บอบช้ำ จึงต้องการการบำบัดและการฟื้นฟูเพื่อมิให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

    งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 2021 เกี่ยวกับความเหงาพบว่าการระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดการ ระบาดของความเหงาหรือความรู้สึกตัดขาดทางสังคมในหมู่คนอเมริกันอย่างกว้างขวาง     ร้อยละ 36 ของบุคคลทั่วไปรู้สึกเหงาบ่อย ๆ หรือเหงาเกือบตลอดเวลา  

และสำหรับช่วงอายุ 18-25 ปี   มีถึงร้อยละ 61 ที่รู้สึกเหงาอย่างมาก  ที่น่าตกใจก็คือคนในวัยปลายวัยรุ่นและต้นวัยหนุ่มมีอาการของความวิตกกังวลและซึมเศร้าค่อนข้างสูง

         ในเดือนตุลาคม 2020 มีจำนวนคนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายทั้งเดือน มากกว่าคนที่ตายด้วยโรคโควิด-19 รวมกันของทั้งปี 2020    ถึงแม้การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมญี่ปุ่นมานานแต่การที่ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นในช่วงโควิด-19  โดยในช่วงกรกฎาคมถึงตุลาคม 2020 จำนวนคนฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 16    

เมื่อได้เห็นตัวอย่างของอังกฤษในการตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาแก้ไขปัญหาทางจิตอันเกิดจากความเหงา  ในตอนต้นปี 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตั้งขึ้นเป็นประเทศที่สองในโลกโดยมุ่งใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันความรู้สึกตัดขาดทางสังคมอันนำไปสู่ความเหงาและปัญหาทางจิตที่อาจตามมา  

งานแรกคือ งานให้บริการคำแนะนำปัญหาทางจิตตลอด 24 ชั่วโมงแก่บุคคลและครอบครัวผ่านทางโทรศัพท์และโซเชียลมีเดีย โดยมุ่งช่วยเหลือให้คนเหงาและคนรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายมีความรู้สึกเชื่อมสัมพันธ์กับคนในชุมชนด้วยกัน

      การสำรวจคนออสเตรเลียในเรื่องความเหงาพบว่าร้อยละ 50 รู้สึกเหงาหนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์    และร้อยละ 28 รู้สึกเหงา 3 วันหรือมากกว่านั้นในหนึ่งสัปดาห์     และสำหรับผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี   ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 13 รู้สึกเหงาว้าเหว่   เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้จึงเกิดแรงผลักดันจากสื่อและประชาชนให้มีรัฐมนตรีทำหน้าที่เช่นนี้บ้างเพื่อทำให้เกิดความสนใจในเรื่องความสุขด้านจิตใจของประชาชน

       มีบางประเทศในยุโรปที่มีแรงเชียร์ในลักษณะเดียวกันเช่นในเยอรมันนีและฝรั่งเศส    โดยเฉพาะในคานาดาการสำรวจพบว่าคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมีถึงร้อยละ 10 ที่รู้สึกเหงาอยู่เสมอหรือบ่อยครั้ง และร้อยละ 30 ระบุว่ารู้สึกเหงาเป็นบางครั้ง

      หันมาดูบ้านเราบ้าง    ข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องฆ่าตัวตายและความรุนแรงในครอบครัวขนาดฉกรรจ์มีแทบทุกวัน ( เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดและไม่เป็นข่าวเข้าใจว่ามีอีกหลายเท่าตัว)  และล้วนโยงใยกับเรื่องเศรษฐกิจอันเป็นผลพวงจากโควิด-19 และสภาพจิตใจที่บอบช้ำจากปัญหาสังคมและการระบาด    

ผู้ที่เชื่อว่าบอบช้ำที่สุดคือ ผู้สูงอายุ ที่โดยปกติก็ไม่อาจพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว     ต้องพึ่งพิงลูกหลานซึ่งบัดนี้ก็ไม่อยู่ในฐานะที่อาจพึ่งอาศัยได้   ไหนจะต้องกังวลเรื่องปากท้อง  ไหนจะรู้สึกหวาดหวั่นจากการติดโรคระบาดซึ่งตนเองเป็นเหยื่อที่อ่อนแอที่สุด  สภาพจิตใจอันเปราะบางจึงมีโอกาสบาดเจ็บสูง

      ไอเดียของการมี “รัฐมนตรีไล่ความเหงา”  เป็นเรื่องที่เมื่อฟังตอนแรกแล้วดูแปลก  แต่เมื่อพิจารณาอย่างคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเห็นว่าเป็นนวตกรรมทางความคิดที่เข้าท่าไม่น้อย

    ไม่ว่าจะมีรัฐมนตรีกี่คนหรือทั้งคณะรัฐมนตรีมาช่วยกันแก้ไขปัญหาทางจิตที่เกิดขึ้นในสังคมก็ไม่อาจแก้ไขได้ถ้าประชาชนและภาคส่วนต่างๆในสังคมไม่ร่วมมือกัน  แต่ถ้าแต่ละคนในสังคมพยายามถนอมน้ำใจกัน   เห็นอกเห็นใจ     เข้าใจความรู้สึกของกันและกัน  และมีความรักและเมตตาต่อกันแล้ว     รัฐมนตรีท่านนี้ก็จะว่างงานและสามารถใช้แรงงานและเวลาไปทำงานอื่นที่สำคัญเช่นเดียวกันได้.