อนาคตเมือง อนาคตคนไร้บ้าน

 อนาคตเมือง อนาคตคนไร้บ้าน

สถานการณ์สุดโต่งที่สุดของการอยู่อาศัยในเมืองคือ การไร้บ้าน แสดงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้านของสังคมเมืองในปัจจุบัน

บทความโดย  อนรรฆ พิทักษ์ธานิน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 แม้ว่าจำนวนคนไร้บ้านในประเทศไทยอาจดูว่ามีจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรกลุ่มอื่นๆ หากแต่ปรากฏการณ์นี้แสดงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้านของสังคมเมืองในปัจจุบัน อีกทั้งแนวโน้มด้านเศรษฐกิจสังคม เทคโนโลยีและนโยบายก็ต่างมีผลกระทบโดยตรงต่อรูปแบบและสถานการณ์การไร้บ้านในเมือง

ผู้เขียนในฐานะนักวิจัยโครงการคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กวาดสัญญาณถึงปัจจัยการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านและสรุปประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ไว้ 4 ประการ ดังนี้คือ

 

การไร้บ้าน: โจทย์สำคัญของเมืองในปัจจุบันและอนาคต

คนไร้บ้านเปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม โดยที่สถานการณ์ของคนไร้บ้านทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพชีวิตเป็นตัวบ่งชี้สำคัญในด้านประสิทธิภาพของนโยบายทางสังคมและการพัฒนาเมืองของประเทศนั้น  คนไร้บ้านในประเทศไทยมีอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตที่ 60 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยประมาณ 15 ปี แสดงถึงระดับคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่และความเสี่ยงจากภาวะไร้บ้าน

ทั้งนี้ สถานการณ์คนไร้บ้านมีความเกี่ยวพันกับประเด็นทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย แรงงาน สวัสดิการทางสังคม และระบบสาธารณสุข การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านหรือความเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านส่วนใหญ่เกิดมาจาก “ตาข่ายปลอดภัยทางสังคม (social safety net)” ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเท่าทันกับสภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เช่น การขาดเคหะสงเคราะห์ที่เพียงพอและมีคุณภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองที่ค่าครองชีพสูง หรือศูนย์พักพิงฉุกเฉินสำหรับผู้สูญเสียที่อยู่อาศัยจากการขาดรายได้หรือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางกายภาพของเมืองอย่างฉับพลัน การขาดระบบบริการทางสังคมและสุขภาพที่รองรับอย่างเท่าทันกับผู้เจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิตที่ขาดการดูแล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทของที่พึ่งเชิงวัฒนธรรมสำหรับกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะองค์กรด้านศาสนา

ความไม่เพียงพอและขาดแคลนตาข่ายปลอดภัยทางสังคมดังกล่าวนี้ ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงอย่างปั่นป่วนทางเศรษฐกิจสังคมส่งผลอย่างสำคัญให้ในอนาคตประชากรในเมืองจำนวนมากมีแนวโน้มกลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่ขาดความมั่นคงและหลักประกันทางชีวิต และกลุ่มเปราะบางจำนวนมากต้องประสบกับภาวะความเสี่ยงต่อการไร้บ้านและเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน

 

อนาคตเมืองที่คนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 

หลายประเทศในยุโรปได้ตั้งวิสัยทัศน์ว่าในอนาคตจะไม่มีประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้าน อันเนื่องมาจากระบบการสนับสนุนช่วยเหลือและสวัสดิการที่สามารถรองรับและเข้าถึงกลุ่มเปราะบางที่จะเข้าสู่ภาวะไร้บ้านได้อย่างครอบคลุมและเท่าทัน

แต่ในสหรัฐอเมริกาและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยเฉพาะในเอเชีย สถานการณ์คนไร้บ้านมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นในอนาคต  โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของเมืองใหญ่หลายแห่งอย่างรวดเร็ว ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยในเขตเมืองที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

แหล่งงานนอกระบบที่ลดลงจากการจัดระเบียบเมือง ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีที่นำไปสู่ความไม่มั่นคงในการทำงานโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ความเปลี่ยนแปลงของลักษณะครอบครัวและชุมชนที่นำไปสู่การขาดเครือข่ายความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

ผนวกกับการขาดหลักประกันทางสังคมทั้งการประกันการว่างงาน ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยทั้งทางกายและทางจิต หรือแม้แต่พฤติกรรมการบริโภคแบบ “รักษ์โลกที่ทำให้คนจนที่แต่เดิมหาของเก่าเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องขาดรายได้

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนที่อาจเพิ่มจำนวนของคนไร้บ้านในเมืองใหญ่และประชากรที่เปราะบางต่อภาวะไร้บ้าน

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะไร้บ้าน 

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต น่าจะทำให้อัตราการว่างงานและอัตราการทำงานระดับต่ำของแรงงานในเขตเมืองเพิ่มสูงขึ้น  นับตั้งแต่การย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานกึ่งฝีมือและไร้ฝีมือออกจากภาคมหานครและประเทศไทย รวมถึงความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีจากการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หุ่นยนต์ และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะส่งผลอย่างสำคัญต่อความมั่นคงทางรายได้ และจะเพิ่มความเปราะบางต่อภาวะไร้บ้าน (proto-homelessness) จากการขาดหลักประกันทางสังคมที่เพียงพอและการเข้าถึงระบบเคหะสงเคราะห์ที่ครอบคลุม

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการผลิตและอุตสาหกรรม ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของลักษณะความต้องการทางด้านแรงงานและภาวะไร้บ้าน เป็นสิ่งที่เคยปรากฏในสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนจากยุคการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism) สู่ยุคหลังการผลิตแบบฟอร์ดในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 ที่ความต้องการทางด้านแรงงานเปลี่ยนจากแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสู่แรงงานในภาคบริการ การค้า และการขนส่ง และภาคการเงิน

ทำให้ภาวะเปราะบางและจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเมืองใหญ่หลายแห่ง สภาพดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงในประเทศไทยเช่นกัน

 

อยู่โสด เกิดน้อย ไร้ชุมชน และความเสี่ยงต่อภาวะไร้บ้าน 

ชุมชนและครอบครัวเป็นตาข่ายปลอดภัยทางสังคมที่สำคัญของสังคมไทยและในหลายประเทศของเอเชีย ลักษณะทางวัฒนธรรมแบบพุทธ-ขงจื่อในหลายประเทศของเอเชีย ได้ช่วยสร้างตาข่ายปลอดภัยทางสังคมให้กับกลุ่มคนเปราะบาง และลดความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของลักษณะชุมชนและครอบครัวที่ผ่านมาและในอนาคตอาจทำลายข่ายความสัมพันธ์เชิงเครือญาติของชุมชนเมืองแบบเดิม นับตั้งแต่แนวโน้มการอยู่โสดหรือไม่สร้างครอบครัวของประชากรในเขตเมือง การอยู่อาศัยแบบปัจเจกมากขึ้น รูปแบบการอยู่อาศัยแนวสูงที่เน้นความเป็นส่วนตัวและปัจเจก รวมไปถึงปรากฏการณ์เจนทริฟิเคชั่น (gentrification) จากการพัฒนาพื้นที่เมืองที่คนจนต้องย้ายออกจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม

 ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อการลดบทบาทของชุมชนและครอบครัวในฐานะตาข่ายปลอดภัยและหลักประกันทางสังคมในเชิงวัฒนธรรม ที่ช่วยหนุนเสริมและอุดช่องโหว่ของความไม่ครอบคลุมหรือความไม่เท่าทันของระบบสวัสดิการ อันส่งผลต่อไปถึงความเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน (proto-homelessness) และการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของประชากรที่ประสบกับปัญหาทางที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจ 

 

จากที่กล่าวมามาทั้งหมด ปัญหาคนไร้บ้านและการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ รวมถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่จะปรากฏขึ้นในอนาคต ซึ่งถึงจะถูกเร่งโดยสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดความเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านในวงกว้าง

ในแง่นี้ปัญหาคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องเล็กที่รัฐบาลจะเพิกเฉยได้ เพราะปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ในสังคมที่ท้ายสุดก็มีผลต่ออนาคตการใช้ชีวิตของคนอื่นๆ ในเมือง.