"หัวเขาแดง" ปัญหาของคนทั้งประเทศ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

"หัวเขาแดง" ปัญหาของคนทั้งประเทศ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

สำหรับชาวสงขลา หัวเขาแดงไม่ได้เป็นเพียงหลักฐานทางประวัติศาสตร์จังหวัด ด้วยรูปร่างที่เหมือนกับจระเข้ตัวใหญ่นอนเฝ้าปากอ่าวเลยทำให้คนผ่านไปผ่านมาต้องหันไปมอง

วิถีชีวิตของคนสงขลามีความแนบแน่นกับหัวเขาแดงมาตั้งแต่เล็กจนโต บริเวณเชิงเขาเป็นท่าแพขนานยนต์ที่ชาวสงขลาใช้เดินทางข้ามไปมา ยามเย็นไปนั่งรับลมบริเวณสวนสองทะเลก็มองเห็นเขาแดงได้ชัดเจน

ชาวประมงจะออกเรือหาปลาก็ต้องผ่านหัวเขาแดง บางคนอาจจะเคยเดินขึ้นบันไดจนขาสั่นเพื่อไปชมวิวเมืองสงขลา ชมความงามของทะเลสาบสงขลาจากยอดเขา 

 

ด้วยความผูกพันกันระดับนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเมื่อคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปตัดถนน ขุดดินลูกรัง และครอบครองที่ดินซึ่งอาจอยู่ในเขตโบราณสถาน จึงโดนแรงด้านรอบทิศจากคนในพื้นที่ จนถึงขนาดคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับหัวเขาแดง เป็นการฉายหนังซ้ำของสิ่งที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานและสถานที่สาธารณะอีกหลายแห่งทั่วประเทศ

มันคือการปะทะกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวในกรอบความคิดเก่า กับบริบทของโลกใหม่ที่ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น มีช่องทางในการสอบสวนความไม่ปกติต่าง ๆ และสามารถรวมพลังกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพื้นที่ได้

    ผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนร่วมกันเคลื่อนไหว เพื่อปกป้องสถานที่ทรงคุณค่าแห่งนี้จึงเป็นเรื่องที่คนทั้งชาติต้องช่วยกันจับตามอง ช่วยกันออกแรงตรวจสอบ 

    หากมีผู้ทำผิดจริงแล้วผู้ทำผิดยังลอยนวลอยู่ ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบการตรวจสอบผ่านกลไกของรัฐย่อมสั่นคลอน หากข้อเท็จจริงออกมาว่าไม่มีการทำผิด โดยไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอมาชี้แจง ศรัทธาย่อมสั่นคลอนได้ไม่แพ้กัน

ยิ่งถ้ามีภาพออกมาว่าเกิดการ “เอื้อ” เพื่อช่วยหาทางลงให้กับผู้ทำผิดด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องนึกเลยว่ากลไกการตรวจสอบของรัฐจะด่างพร้อยแค่ไหน

    การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพย์สมบัติของส่วนรวม เพื่อตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของหน่วยงานของรัฐ เพื่อคอยคัดง้างกับกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ต้นทุนในการลุกขึ้นมาต่อสู้ไม่ได้มีแค่ค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่ยังรวมถึงความเสี่ยงต่อชีวิต ร่างกาย และจิตใจอีกด้วย 

   เมื่อฝ่ายจ้องหาประโยชน์โดยมิชอบมองเห็นว่าการลุกขึ้นสู้ของคนที่เกี่ยวข้องมีต้นทุนสูง รวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ยาก แถมโอกาสประสบความสำเร็จมีน้อย แค่หาทางลากเรื่องให้ยืดเยื้อยาวไปเดี๋ยวก็หมดแรงกันไปเอง เลยได้ใจเดินหน้าต่อโดยไม่เกรงกลัวต่อหน้าอินทร์หน้าพรหม 

โมเดลการใช้อำนาจเงิน อำนาจทางการเมือง และอำนาจมืดอื่น มาแสวงหาประโยชน์กับทรัพยากรในพื้นที่จึงกลายเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของคนคิดไม่ดี

\"หัวเขาแดง\" ปัญหาของคนทั้งประเทศ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

    อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีนี้ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของคนคิดไม่ดีเริ่มถูกสั่นคลอนด้วยการรวมตัวกันของภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐในพื้นที่บางหน่วยงาน ภาคธุรกิจ และหากมองให้ลึกลงไป กรณีไหนที่สื่อติดตามอย่างต่อเนื่อง ประชาชนทั่วประเทศให้ความสนใจ คนคิดไม่ดีทั้งหลายจะพบว่างานที่เคยเป็นเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากกว่าที่คิดไว้

    แต่ด้วยความที่ใช้กรอบคิดเก่า วิธีการตอบสนองต่อแรงกดดันจึงยังเป็นวิธีการเดิน คือ การใช้อำนาจให้มากขึ้น ใช้ความรุนแรงให้มากขึ้น หาวิธีบ่อนทำลายสร้างความแตกแยกในหมู่คนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง เพียงแต่วิธีการเหล่านี้นับวันจะยิ่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลลดน้อยลง 

    ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น การเติบโตเข้มแข็งของภาคประชาชนสอดคล้องกับ แนวคิดเส้นโค้งของคุซเน็ตส์ด้านสิ่งแวดล้อม

\"หัวเขาแดง\" ปัญหาของคนทั้งประเทศ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

แนวคิดนี้เสนอว่า ตอนที่คนยังยากจนข้นแค้น พวกเขาจะให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้องมากกว่าปัญหาสภาพแวดล้อม ช่วงนั้นใครจะบุกป่าถางพง ใครจะไปตัดถนนผ่านโบราณสถาน คนก็ไม่สนใจสักเท่าไหร่ แต่พอรายได้เขาเพิ่มขึ้น ลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น ก็จะเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องรอบตัว ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ออกมาต่อสู้ปกป้องพื้นที่ของตนเองมากขึ้น

    ยิ่งพอมาอยู่ในบริบทของโลกยุค 4.0 ที่ข้อมูลข่าวสารถึงกันไปหมด แค่ที่สงขลาเองก็มีเรื่องให้ตามกันหลายเรื่องแล้ว ทั้งเรื่องนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ กำแพงกันคลื่นเจ้าปัญหา นี่ยังมามีปัญหาการบุกรุกที่หัวเขาแดงอีก 

ตลอดเวลาที่ผ่านมาประชาชนต่อสู้กันจนเหนื่อย แต่ถ้าประชาชนสิ้นหวังกับการแก้ปัญหาระดับพื้นที่ ก็คงหมดหวังกับการแก้ปัญหาระดับชาติด้วย ในทางกลับกันชัยชนะเล็ก ๆ จากการรวมพลังกันของคนตัวเล็กหัวใจใหญ่

หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมส่งสัญญาณแห่งความหวังให้กับสังคม นี่คือเหตุผลว่าทำไมปัญหาหัวเขาแดงจึงเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ.