การบุกรุก"โบราณสถานหัวเขาแดง" (ที่ง่ายดายไม่น่าเชื่อ)

การบุกรุก"โบราณสถานหัวเขาแดง" (ที่ง่ายดายไม่น่าเชื่อ)

ชวนอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ในมิติที่ไม่น่าเบื่อ..."หัวเขาแดง" ภูเขา"โบราณสถาน" ที่"สุลต่านสุลัยมาน"ผู้สร้าง"เมืองสงขลาเก่า" ใช้เป็นกำแพงป้องกันเมือง ในยุคนั้นผู้ครองเมืองมีวิธีคิดอย่างไร

ผมรู้จักสงขลาและหัวเขาแดงชนิดหลับตาเห็นภาพ เพราะเรียนและทำงานหาดใหญ่-สงขลาหลายปี เคยไปดูมรหุ่มสุสานของสุลต่านสุลัยมาน  ขึ้นไปดูป้อมโบราณเรียงรายตามแนวเขา จนเอามาเป็นฉากในนิยายของตัวเอง

เมื่อเห็นภาพข่าวเขาหัวแดง/เขาน้อย ถูกกระทำย่ำยี ไถถนนทางขึ้นยาวหลายร้อยเมตร เห็นแนวทำลายถนัดตาจากด้านล่าง ไม่น่าเชื่อว่ากล้าทำขนาดนี้

ภูเขาที่มีเรื่องราวสำคัญบ่งบอกที่มาของเมืองสงขลา ตั้งโทนโท่ริมถนนคนผ่านไปมา ยังสามารถไถขึ้นหน้าตาเฉย นี่ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาอย่างแน่นอน

 

หัวเขาแดงเป็นภูเขาโบราณสถาน  สำหรับคนที่ไม่คุ้นอยู่ถิ่นอื่น เขาลูกนี้ตั้งอยู่ปากอ่าวทางเข้าทะเลสาบสงขลา

อ้าว!แล้วไปเป็นโบราณสถานได้อย่างไร ?

ภูเขาก็เป็นโบราณสถานได้ครับ คนจำนวนไม่น้อย มีจินตภาพว่าโบราณสถาน ต้องเป็นซากอิฐซากปูนเจดีย์สิ่งก่อสร้างเท่านั้น  

การบุกรุก\"โบราณสถานหัวเขาแดง\" (ที่ง่ายดายไม่น่าเชื่อ)

ผู้ว่าราชการจ.สงขลา นำทีมตรวจสอบโบราณสถานเขาหัวแดง เนื่องจากมีการบุกรุกแผ้วถางป่า ( 5 มีนาคม 65) 

ราวๆ กลางอยุธยาตรงกับสมัยพระนเรศวร พระเอกาทศรถ 400 กว่าปีก่อนโน้น ผู้ปกครองสายตระกูลสุลต่านสุลัยมาน บรรพชนคนโบราณผู้สร้างเมืองสงขลาเก่าเขาหัวแดง ใช้ภูเขาทั้งลูก เพื่อเป็นกำแพงป้อมปราการ ตั้งป้อมและปืนใหญ่ให้กับเมืองที่อยู่ด้านหลัง ดังนั้นกรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนภูเขาทั้งลูกเป็นโบราณสถานไว้  

ประวัติเรื่องราวของสุลต่านสุลัยมานนี่มีเสน่ห์อลังการมาก แต่คนไม่ค่อยรู้ไม่สนใจกัน มันเป็นปัญหาของวิธีการเรียนประวัติศาสตร์ของประเทศเรา ที่เน้นหลักสูตรท่องจำจากส่วนกลาง และเน้นความเป็นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ไทย

อันที่จริงบรรพชนของเราเป็นมอญ ขอม เขมร ลาว และแขกด้วย อย่างสายตระกูลสุลต่านผู้ครองสงขลา-พัทลุงในช่วงกลางอยุธยา

ต่อมาก็ยังมีลูกหลานสืบต่อเป็นผู้ปกครองเมืองละแวกนี้ ลงมาเป็นขุนนางราชการสืบมาจนรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันด้วยซ้ำไป มีคนรวบรวมว่าแตกออกมากกว่า 100 นามสกุล หลักๆ ก็เช่น  ณ พัทลุง ศิริธร สุคนธาภิรมย์ รัตนพันธุ์ ฯลฯ เป็นต้น

 

การบุกรุก\"โบราณสถานหัวเขาแดง\" (ที่ง่ายดายไม่น่าเชื่อ)

โบราณสถานหัวเขาแดง ป้อมบนที่ราบและเชิงเขา จ.สงขลา

ตำนานหัวเขาแดง

ตำนานของหัวเขาแดง และเมืองสงขลาเก่าฝั่งสิงหนคร จึงเป็นตำนานยุคสงขลายิ่งใหญ่ เป็นรัฐสุลต่านขนาดย่อม ที่มีพื้นที่ปกครองของตนเอง และเป็นอิสระจากอำนาจปกครองอยุธยาจนกระทั่งสมัยพระนารายณ์ค่อยยกทัพมาตีแตก

พระนารายฯให้ฝรั่งเศสสำรวจและเขียนผังเมือง ที่ตั้งป้อมปราการต่างๆ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่นั้น  

คิดดูสิครับ เมืองภูเขาทั้งลูก มีป้อมปืนคุมทะเลอ่าวไทยบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ปากอ่าวทะเลสาบสงขลา

ด้านในเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์เป็นเมืองตอนในก็คือพัทลุง เขาชัยสน ตรงนั้นเขาเคยขุดพบทองคำและของโบราณยุคหยวนยุคหมิงด้วย

หัวเขาแดง-สงขลา-พัทลุง มีประวัติที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลกภายนอก อย่างที่ชวาราวๆ ต้นอยุธยานั้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจจากราชวงศ์ฮินดูพราหมณ์/พุทธมหายาน มาเป็นอิสลาม  

การบุกรุก\"โบราณสถานหัวเขาแดง\" (ที่ง่ายดายไม่น่าเชื่อ)

\การอพยพของกลุ่มอำนาจตระกูล ดาโต๊ะโมกอล บิดาของสุลต่านสุลัยมาน คงหนีภัยการช่วงชิงตั้งอาณาจักรอิสลามใหม่เป็นมะตะรัม Matarum ในช่วงต้นค.ศ. 1600 พอดี

ยุคนั้นโลกเริ่มเล็กลงแล้ว ฝรั่งโปรตุเกส เดินเรือมาถึงอยุธยา หงสาวดี อังวะแล้ว พระนเรศวรจึงมีพระแสงปืนใช้ยิง มีทหารแขกมัวร์ ล้วนมากับเรือฝรั่ง

ส่วนเรือแขกอิสลามนั้นมาก่อนหน้าอีก จึงไม่แปลกที่ตระกูลสุลต่านอพยพหนีการเมืองจากชวากลางมาถึงทะเลสาบสงขลา

เหตุใดสังคมเพิกเฉยกับการบุกเขาหัวแดง

ประวัติศาสตร์สงขลา และพัฒนาการของชุมชนรอบทะเลสาบจึงสนุกสนานและน่าสนใจมากๆ 

แต่ก็น่าเสียใจที่ หัวใจสำคัญของป้อมปราการเมืองโบราณ ซึ่งเป็นภูเขาตั้งป้อมปืนเรียงราย 18 ป้อม จู่ๆ ก็ถูกบุกรุกเอารถไถขึ้นไปหน้าตาเฉย และทำกันอยู่นานเพิ่งมีผู้ใจกล้า หืออือ ทักท้วงขึ้นมา

ผิดคิดว่า ไอ้เรื่องมีคนเห็นการบุกรุก ไถทำลายคงมีอยู่ล่ะ แต่สงขลานั้นเป็นเมืองนักเลงอิทธิพลบารมี และอันตราย จำคดีนายกเทศมนตรีนครสงขลาถูกยิงด้วยอาวุธสงครามหน้าบ้านตัวเองได้ไหมครับ ก็ปรากฏว่าคนที่ลงมือก็ว่านวงศ์นักการเมืองใหญ่

มารอบนี้ ตามข่าวที่เปรยมาถึง ก็ผู้มีบารมีที่พัวพันกับนักการเมือง (อีกแล้วครับท่าน)

ยังดีที่มีคนกล้า ที่ออกมาส่งเสียง จากคนแรกๆ กลุ่มแรกๆ เป็นเสียงดังขึ้น ล่าสุดทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดก็เข้าไปประกาศลุยเองแล้ว

นอกจากปัจจัยผู้มีอิทธิพลมากบารมีและนักเลงข่มเหงคน ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ยังมีประเด็นชวนฉุกคิดตามมาอีก

เอ๊ะ! เป็นเพราะเหตุนี้ด้วยหรือเปล่า ทำให้สังคมเพิกเฉยกับการบุกทำลายเขาหัวแดง ?

ประการแรก – หน่วยที่รับผิดชอบคือกรมศิลปากร ที่มีหน่วยเล็กๆ ในพื้นที่  ขู่ง่าย เจ้าหน้าที่ก็เป็นคนนอกถูกส่งมา ถ้าไม่หือไม่อือ ก็ไม่มีเจ้าภาพลุกขึ้นจัดการ  

ซึ่งนี่เป็นปัญหาของระบบราชการรวมศูนย์แบบแท่ง มีราชการส่วนกลางเป็นเจ้าของกำกับดูแล

มันจึงขาดความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นและท้องที่ รวมถึงประชาชนรอบๆ ที่ไม่ได้รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของภูเขาโบราณสถานแห่งนี้เลย

ประการที่สอง – หลักสูตรการเรียนการสอนให้ความรู้กับคนในท้องถิ่นให้มองเห็นความสำคัญของหัวเขาแดงว่ามันเป็นแลนด์มาร์คประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง  

จริงอยู่ที่ปัจจุบันมีหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สอนนักเรียนกล่าวถึงเมืองสงขลาเก่าที่หัวเขาแดง แหลมสน บ่อยาง ไล่ยุคกัน

แต่พอลงรายละเอียดของรูปธรรมของเมืองเก่า คนทั่วไปมองเห็นแต่ ป้อม กำแพง เช่น เจดีย์สองพี่น้อง ป้อมปืน(ที่ยังเหลืออยู่ 14 ป้อม) มรหุ่มสุสานของสุลต่าน อันล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างที่แยกส่วน ตั้งเรียงรายเป็นหย่อมๆ  

ไม่ได้มองเห็นว่าภูเขาทั้งลูกคือ ป้อมปราการธรรมชาติที่ถูกใช้ประโยชน์เป็นกำแพงขนาดมหึมา คุมการค้าและพื้นที่ตอนในทะเลสาบ

ขนาดที่อาณาจักรอยุธยาทำอะไรไม่ได้นานถึง 38 ปี ที่จริงแล้วการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงขลานั้นแยกไม่ออกจากพัทลุง

แต่ปัจจุบันหลักสูตรท้องถิ่นแยกจังหวัดใคร จังหวัดมัน ไม่เชื่อมโยงทั้งภายใน และไม่เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่จากยุคฮินดูพราหมณ์/พุทธมหายาน มาเป็นเครือข่ายการค้าโลกอิสลาม

ประการที่สาม- สังคมอุปถัมภ์ ทุน+การเมือง ส่งเสริมอำนาจอิทธิพลในต่างจังหวัดที่ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อ 3-4 ทศวรรษก่อน

เจ้าพ่อท้องถิ่นมีอยู่จริง แค่เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนนามสกุลสายตระกูลใหม่ไปตามยุคสมัย สมัยโน้นเจ้าพ่อกินหินทรายสัมปทานป่า แต่ยุคนี้ไม่ใช่แค่ป่าเฉยๆ .. ภูเขาโบราณสถานก็ยังฮุบหน้าตาเฉย

ขอบคุณผู้กล้าท้องถิ่นแถวแรกๆ ที่ออกมาส่งเสียง  !  

""""""""""""'

ภาพจากเฟซบุ๊ค สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา