ร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรกับประชาสังคมภาคใต้ | สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

ร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรกับประชาสังคมภาคใต้ | สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 ระบบกลางทางกฎหมายได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ... จัดทำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจะดำเนินการไปจนถึงวันที่ 25 มี.ค.2565 อย่างไรก็ตาม ได้ปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมายก่อนกำหนด

ในส่วนขององค์กรภาคประชาสังคมในภาคใต้นั้น ได้จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ในระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมด้วยกันเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และเห็นว่ามีประเด็นจากการพูดคุยที่น่าสนใจที่ควรนำเสนอต่อสาธารณะ ดังนี้

ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเข้าใจและเรียกในชื่อสั้นๆ ว่า “ร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ” ซึ่งหากพิจารณานิยามความหมายของคำว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ที่หมายถึง “คณะบุคคลภาคเอกชนซึ่งรวมกลุ่มกัน จัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลรวมดำเนินงานเพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราว หรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง”

จะพบว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไร” มีความหมายที่กว้างมาก ไม่ได้มีความหมายเพียงการรวมกลุ่มของบุคคลเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดกิจกรรมการกุศลหรือกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่ไม่เป็นการเฉพาะคราวด้วย

ดังนั้น การเรียกร่างกฎหมายดังกล่าวว่า “ร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ” อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องผลกระทบของร่างกฎหมายดังกล่าวได้ องค์กรที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น สมาคมกีฬา ป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู กลุ่มเส้นด้าย เป็นต้น 

อาจจะยังเข้าใจว่ากฎหมายดังกล่าวไม่กระทบต่อตนเอง ทั้งที่หากพิจารณาจากร่างกฎหมายแล้ว องค์กรเหล่านี้ถูกนับรวมเป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ตามกฎหมายดังกล่าวทั้งสิ้น

ร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรกับประชาสังคมภาคใต้ | สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

ประเด็นที่น่าสนใจประการถัดมาก็คือ มาตรา 18 ของร่างกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้มีการผ่อนผันหรือยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้แก่องค์กรไม่แสวงหากำไรในลักษณะใด ที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจกรรมด้านประชาสังคมโดยเฉพาะ และไม่มีการดำเนินการในลักษณะที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจผ่อนผันข้างต้น โดยมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ค่อนข้างกว้าง จะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมได้ 

การให้อำนาจสร้างข้อยกเว้นดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณจากรัฐว่า หากองค์กรภาคประชาสังคมไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ เป็นองค์กรที่เป็น “เด็กดี” ของรัฐ หรือพินอบพิเทาต่อรัฐ ก็มีโอกาสที่จะได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่หากองค์กรใดอยู่ตรงข้ามกับรัฐ ก็อาจถูกบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเต็มที่

ข้อสังเกตข้างต้น หากพิจารณาในบริบทของจังหวัดชายแดนใต้ก็ยิ่งมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากองค์กรภาคประชาสังคมเป็นตัวแสดงที่มีความสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง หรือการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา หรืออดีตนักโทษในคดีความมั่นคง และมาตรา 18 นี้ได้สะท้อนภาพที่มีการพูดถึงในจังหวัดชายแดนใต้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น เมื่อมีการแบ่งแยกระหว่าง “เอ็นจีโอรัฐ” และ “เอ็นจีโอที่ไม่ใช่รัฐ”

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายนี้ยังกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรห้ามดำเนินการในหลายลักษณะ เช่น ห้ามดำเนินการที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ห้ามดำเนินการที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ห้ามดำเนินการที่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อห้ามที่เปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง

ทำให้มีข้อห่วงกังวลจากองค์กรจำนวนหนึ่ง ที่อาจจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่อาจกระทำความผิดตามกฎหมาย เช่น ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองไทยมาโดยผิดกฎหมาย ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี เป็นต้น

ร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรกับประชาสังคมภาคใต้ | สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

การดำเนินงานในลักษณะข้างต้นขององค์กรเหล่านี้จะถูกตีความว่าต้องห้ามดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งโทษของการฝ่าฝืนนี้อาจส่งผลให้องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องยุติการดำเนินงานได้

หากพิจารณาในบริบทของจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีข้อกำหนดให้ต้องยึดถือปฏิบัติประการหนึ่งที่เรียกว่า “ซะกาต” (Zakat) หมายถึงการบริจาคทานตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวมุสลิมทุกคนจำเป็นต้องบริจาคทานแก่กลุ่มคนที่มีคุณสมบัติตามที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ เช่น คนยากจน คนอนาถา คนมีหนี้สิน เป็นต้น

ร่างกฎหมายนี้ก่อให้เกิดความกังวลใจว่าจะกระทบต่อการบริจาคซะกาต และเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือผู้ยากลำบาก เช่น การช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้

การที่กฎหมายกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มีรายได้จากการรับเงินบริจาคจากบุคคลทั่วไป ต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและเปิดเผยบัญชีดังกล่าวต่อบุคคลทั่วไปให้เข้าถึงได้ง่ายนั้น จะกระทบต่อการตัดสินใจบริจาคซะกาต และทำให้การบริจาคซะกาตทำได้ยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกิจกรรมให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่รัฐอาจมองว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่อาจจะเป็นศัตรูกับรัฐ

การดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรนั้น มีกฎหมายหลากหลายฉบับที่ควบคุมการดำเนินงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายเกี่ยวกับสมาคม มูลนิธิ หรือกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน การเสนอร่างกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จึงอาจเกิดคำถามได้ว่ามีเหตุผลความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

เพราะสุดท้ายแล้วหากกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ คนที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ คนที่ขาดไร้ซึ่งโอกาสหรือคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ที่อาจไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะข้อจำกัดต่างๆ ในทางกฎหมาย ผู้มีอำนาจจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ.