Data ไม่ต้อง Big แต่ต้อง Meaningful

Data ไม่ต้อง Big แต่ต้อง Meaningful

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล Thailand 4.0 ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ใครๆ ก็พูดถึง Big Data จนทำให้คำว่า Big Data เป็น Trend ที่กำลังมามาแรง จนหลายต่อหลายวงการ หลายองค์กร ต่างเพ้อหา ถึงกับเอ่ยว่า Big Data ไม่มี ไม่ได้แล้ว!

แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนเชื่อว่า Big Data เป็นเรื่องขององค์กรใหญ่ ธุรกิจเล็กๆ อย่างร้านขายของชำ ร้านอาหาร ฟู้ดสตรีท อย่างชายสี่หมี่เกี้ยว ทำ Big Data ไม่ได้หรอก จริงหรือ?

Big Data คือ อะไร?

Big Data คือข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่ในบริษัท ทั้งข้อมูลที่มีแหล่งที่มาจากภายในบริษัทเอง และข้อมูลที่มาจากแหล่งที่มาภายนอกอย่าง Social medias ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้หรือก็คือ ข้อมูลดิบ นั่นเอง

ทั้งนี้ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ด้วยวิธีการหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้งานด้านไหน ในปัจจุบันนิยมทำ Big Data Analysis เพื่อใช้ในการสำหรับการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต หรือ ก็คือเพื่อใช้ดูแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นเอง โดยหลักการ Big Data จะต้องเป็นข้อมูลที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

มีปริมาณมาก (Volume)

มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Velocity)

หลากหลายประเภทหรือแหล่งที่มา (Variety)

ยังไม่ผ่านการประมวลผล (Veracity)

ธุรกิจเล็กๆ จะทำ Big Data ได้ไหม?

ปัจจุบันมีธุรกิจขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย ถึงแม้ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กแต่ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้ในบริษัทนั้นไม่ได้เล็กตาม การนำข้อมูล มาช่วยในการจัดการธุรกิจจึงถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ

Big Data ไม่ได้เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่ว่าธุรกิจจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กอย่างไหร่ จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มี Market Cap เป็นหลักหมื่นล้าน แสนล้าน หรืออาจจะเป็นแค่ธุรกิจรายย่อย ร้านขายของชำเล็กๆ หรือแม้แต่ร้านอาหารตามสั่งทั่วๆ ไป ก็สามารถต่อยอดการใช้ประโยชน์จาก Data เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ หากผู้ประกอบการสามารถเก็บพัฒนาข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์เชิงลึกได้อย่างแม่นยำ ก็ช่วยในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญได้ และช่วยสร้างความแตกต่างทำให้ธุรกิจกลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นออกมาจากคู่แข่งได้อีกด้วย

การจัดเก็บและบริหารข้อมูลขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ อาจจะเรียกว่า เป็นการบริหารจัดการ Big Data แต่สำหรับข้อมูลที่เกิดขึ้นในธุรกิจรายย่อยต่างๆ ก็มีข้อมูลในมิติที่เป็น Small Data และสามารถจัดเก็บง่ายๆ ด้วยการจดบันทึก อย่างร้านขายของชำเล็กๆ ที่มีลูกค้าวันละ 100-200 คน ที่ไม่มีเครื่องเก็บเงิน Cash Register ก็มี Data ได้จากการขายประจำวัน นับตั้งแต่ ยอดขาย จำนวนลูกค้าที่มาจับจ่าย ประเภทของลูกค้าที่มาจับจ่าย

เมื่อมีข้อมูลมากระดับหนึ่ง เราก็จะสามารถนำมาวางแผนวิเคราะห์ว่า ลูกค้าหลักๆ เป็น ผู้ใหญ่ หรือ เด็ก ผู้ชาย หรือ ผู้หญิง ช่วงอายุ เราจะได้หาสินค้าได้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย วันที่ขายดีเป็นวันอะไร เสาร์-อาทิตย์ หรือวันธรรมดา จะได้วางแผนกำลังคนให้เหมาะสมกับลูกค้าที่มาจับจ่าย

เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น เช่น ถ้าร้านเรามีหลายๆ แพลตฟอร์ม ก็ลองเปรียบเทียบแต่ละช่องทางว่าช่องทางไหนขายดี สินค้าอะไรขายดีในช่องทางไหน หรือ สินค้าอะไรที่ลูกค้ามักซื้อคู่กัน เพื่อเป็นประโยชน์หรือต่อยอดในการทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายในอนาคตได้

Data ไม่ต้อง Big แต่ต้อง Meaningful

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ข้อมูล” เป็นสิ่งสำคัญในการนำไปสู่การจัดการบริหารธุรกิจ แต่ “ข้อมูล” จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราต้องเข้าใจลึกซึ้งและถ่องแท้ของสมมุติฐานของปัญหาให้ถูกต้อง Data ไม่ต้อง Big แต่ต้อง Meaningful การที่เรามี Data ที่ meaningful เราจะรู้ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไรและเราจะสามารถรู้ได้ว่าในอนาคตมันจะสามารถเกิดขึ้นอีกไหม

ธุรกิจไม่ควรติดกับดักเก็บข้อมูล และวัดผลแต่ “Big Data” ที่เป็นตัวเลข และสถิติเท่านั้น แต่ต้องทำความเข้าใจ Insight ที่อยู่เบื้องลึกในจิตใจ และความคิดของผู้บริโภค และความเป็นมนุษย์ (Depth of Insights) เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จมอยู่กับข้อมูล โดยที่ไม่สามารถหาคำตอบของปัญหาได้ ดังที่โบราณว่าไว้ว่า “ข้อมูลท่วมตัว พาหัวไม่รอด”