เฟดประเมินความเสี่ยงเงินเฟ้อต่ำไปหรือไม่ | บัณฑิต นิจถาวร

เฟดประเมินความเสี่ยงเงินเฟ้อต่ำไปหรือไม่ | บัณฑิต นิจถาวร

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด อาทิตย์ที่แล้วเป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาด ตอกย้ำว่าเฟดให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อและพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งปีเพื่อลดเงินเฟ้อ ซึ่งถูกต้อง

เงินเฟ้อปีนี้อาจมาแรงกว่าที่เฟดคาดเพราะสงครามทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นทั่วหน้า และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวมากขึ้น ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจต้องกระชับและแรงกว่าที่ประเมินขณะนี้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดเป็นไปตามคาด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2018 แต่ที่น่าสนใจคือเหตุผลที่เฟดให้ในการตัดสินใจคราวนี้ที่จะสร้างความเข้าใจว่าธนาคารกลางสหรัฐมองปัญหาเงินเฟ้อขณะนี้อย่างไร รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต
 

ซึ่งเท่าที่วิเคราะห์ ประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้


หนึ่ง เฟดมองเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้เข้มแข็งและไม่ได้พูดถึงโควิด19 เลย แสดงว่าไม่ได้มองการระบาดของโควิด19 ว่าเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และที่เฟดให้ความสำคัญมากคราวนี้คือความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ มองว่าอัตราเงินเฟ้อได้เร่งตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม 

โดยเป็นผลจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานที่มีมาก่อนจากดิสรัปชั่นที่โควิดมีต่อการผลิต แต่ได้ถูกซ้ำเติมด้วยการปรับขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์จากผลของสงคราม ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาก ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 7.9 สูงสุดในรอบ 40 ปี

สอง เฟดมองสงครามระหว่างกับรัสเซียกับยูเครนว่าจะสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับเศรษฐกิจสหรัฐในแง่เงินเฟ้อ และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะปรับลงในที่สุดแต่จะใช้เวลา คือลดลงมาที่ระดับร้อยละ 2 ต่อปี 

โดยเป็นผลจากนโยบายการเงินที่เข็มงวดขึ้น ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับขึ้นต่อเนื่อง 6 ครั้งในปีนี้ และอย่างน้อยอีก 3 ครั้งปีหน้า ดึงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 2.75 กลางปีหน้า
 

 เฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้มแข็งพอที่จะรองรับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ พร้อมประเมินว่าการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นเป็นไปตามภาวะในตลาดแรงงานไม่ได้เป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อ

สาม เฟดย้ำความสำคัญของเสถียรภาพราคาว่าเป็นเป้าของการดำเนินนโยบายการเงิน ย้ำว่าถ้าไม่มีเสถียรภาพราคาก็จะไม่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจ และพร้อมทำมากขึ้นที่จะดูแลเงินเฟ้อ โดยจะเริ่มลดสภาพคล่องในระบบการเงินผ่านการขายพันธบัตรที่เฟดถืออยู่ คือลดขนาดของสินทรัพย์ เพื่อปูทางไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดประเมินว่าปีนี้อัตราเงินสหรัฐจะเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.3 และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง เป็นขยายตัวร้อยละ 2.8

เห็นได้ว่าเฟดยอมรับความเสี่ยงเงินเฟ้อ ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพราคา และพร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องในแง่นโยบายการเงิน 

เฟดประเมินความเสี่ยงเงินเฟ้อต่ำไปหรือไม่ | บัณฑิต นิจถาวร

โดยเฟดมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในอนาคตด้วยการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แต่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ตลาดการเงินและภาคธุรกิจปรับตัว ลดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจให้ลงมาใกล้กับระดับการผลิตที่ลดลง เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ เป็นตัวอย่างของการสื่อสารด้านนโยบายที่ชัดเจนให้ตลาดการเงินและภาคธุรกิจรับทราบทิศทางของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อการเตรียมตัว

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อกังวลเหมือนนักเศรษฐศาสตร์หลายคนว่า จังหวะก้าวหรือ pace ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เฟดวางแผนไว้หนึ่งปีข้างหน้าอาจช้าไปหรือไม่ทันกับการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้น ทำให้การทำนโยบายของเฟดอาจเป็นแบบตามหลังสถานการณ์มากกว่าที่จะดักหน้าสถานการณ์อย่างที่ควรจะเป็นเพื่อแก้ปัญหา เหตุผลของผมมีดังนี้

หนึ่ง เงินเฟ้อคราวนี้ไม่ธรรมดา มีสาเหตุทั้งจากด้านอุปสงค์คือการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณที่มาก และด้านอุปทานที่การผลิตมีข้อจำกัดจากโควิดทำให้ขยายตัวไม่ทันความต้องการที่สูงขึ้น

 แต่ที่สำคัญ สงครามทำให้การผลิตในเศรษฐกิจโลกส่วนหนึ่งหายไปเพราะทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตสำคัญของเศรษฐกิจโลก กล่าวคือ รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกสำคัญของก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุและปุ๋ย ขณะที่ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวไรย์ เมล็ดทานตะวัน มันฝรั่ง ข้าวสาลี ไข่ไก่ เหล็ก และแร่ธาตุต่างๆ 

เมื่อการผลิตมีไม่พอ ราคาพลังงาน อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ก็ปรับสูงขึ้น ล่าสุด ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ปรับสูงขึ้นไปแล้วมากกว่า 26 เปอร์เซนต์ตั้งแต่ต้นปี และอัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มเป็นร้อยละ 7

เฟดประเมินความเสี่ยงเงินเฟ้อต่ำไปหรือไม่ | บัณฑิต นิจถาวร

ตัวเลขเหล่านี้ถ้าดูขณะนี้อาจเหมือนตัวเลขในกระดาษ แต่อีกเดือนสองเดือนเราก็จะเห็นราคาของสิ่งที่เราซื้อประจำวันปรับสูงขึ้นตาม และเงินเฟ้อจะยืนอยู่ในระดับที่สูงตราบใดที่การผลิตยังไม่กลับสู่ปรกติ 

ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐจะเร่งตัวมากขึ้นไปอีก กระทบการคาดหวังของประชาชนเกี่ยวกับเงินเฟ้อในอนาคต ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อยิ่งแก้ยาก 

ด้วยเหตุนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดทุกหกอาทิตย์ครั้งละ .25 อย่างที่เตรียมไว้จะช้าไป ไม่ทันการ และจะไม่สามารถตรึงอัตราเงินเฟ้อคาดหวังของประชาชนไม่ให้เพิ่มขึ้น

สอง เป็นเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ คือการแก้เงินเฟ้อต้องการอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่เป็นบวก คืออัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อลดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตรงข้ามกลับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการระดับของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ 

ดังนั้น ถ้าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ในระดับ7-8 เปอร์เซนต์อย่างปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยคงต้องปรับสูงขึ้นมากถ้าจะให้ผลต่อการใช้จ่ายและเงินเฟ้อ ทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างที่ตั้งใจไว้อาจไม่เพียงพอ อาจต้องยอมให้เศรษฐกิจถูกกระทบมากกว่านี้ ถ้าต้องการลดเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพราคา

ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าในระยะเดือนสองเดือนข้างหน้า เราเห็นอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐและทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับแผนการขึ้นดอกเบี้ย คือต้องทำเร็วขึ้นและมากขึ้น ซึ่งจะกระทบทั้งเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงิน 

สำหรับประเทศเราอัตราเงินเฟ้อก็จะเร่งตัวมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้ทำนโยบายต้องคิดให้ทะลุ เอาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ว่าจะให้ความสำคัญกับอะไรก่อน ระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดอัตราเงินเฟ้อ.

เฟดประเมินความเสี่ยงเงินเฟ้อต่ำไปหรือไม่ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]