เฟดส่งสัญญาณแรงสู้เงินเฟ้อ-ปีนี้ขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง

เฟดส่งสัญญาณแรงสู้เงินเฟ้อ-ปีนี้ขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง

เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2561 วางแผนกร้าวดันต้นทุนการกู้ยืมให้ถึงระดับ ที่กำหนดในปีหน้า ถือเป็นจุดเปลี่ยนจากต่อสู้การแพร่ระบาดของโควิดไปรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจผลพวงเงินเฟ้อสูงและสงครามในยูเครน

เมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50%  ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ เป็นเจ้าหน้าที่เพียงรายเดียวที่ลงมติให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% 

 เจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งๆละ 0.25% ในช่วงที่เหลือของปี 2565   ซึ่งหมายความว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งหลังจากนี้ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ พร้อมคาดการณ์ว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2566 แต่จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2567

ทั้งนี้ เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2561

เฟดยังส่งสัญญาณปรับลดขนาดงบดุลในการประชุมในอนาคต โดยงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) มูลค่ารวมเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์
 

แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า สงครามในยูเครนและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งในระยะใกล้ ปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และเป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจ แต่การปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

ขณะเดียวกัน เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 4.0% และคงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2566-67 ที่ระดับ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ขณะที่คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวในระยะยาวที่ระดับ 1.8%

 หลังเสร็จสิ้นการประชุมเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดแถลงข่าวแสดงมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก และอยู่ในสถานะที่ดีพอที่จะรับมือกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน

“การที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างมีเสถียรภาพนั้น อาจต้องใช้เวลานานกว่าคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น แต่เรายังคงมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ”

 พาวเวลเตือนว่า ผลกระทบจากการที่รัสเซียใช้กำลังทหารโจมตียูเครนนั้น ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญความไม่แน่นอนในระดับสูงมาก นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการรุกรานยูเครนนั้น จะเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อสหรัฐในระยะใกล้นี้

 พาวเวลยังกล่าวด้วยว่า ภาวะติดขัดด้านอุปทานเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดหลายระลอกของโรคโควิด-19 ทั้งในสหรัฐและทั่วโลก นอกจากนี้ แรงกดดันด้านราคายังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อราคาสินค้าและการบริการ

ซีมา ชาห์ หัวหน้านักกลยุทธ์บริษัทพรินซิเพิลโกลบอลอินเวสเตอร์ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เฟดรับรู้ัชัดเจนว่าจำเป็นต้องกลับมาจัดการสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งไม่ง่ายเลยที่เฟดจะนำพาเศรษฐกิจสหรัฐไปได้อย่างปลอดภัยจากเงินเฟ้อที่สูงขนาดนี้ไม่ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่อาจทำให้เส้นทางของเฟดปั่นป่วน “แต่ตอนนี้เฟดต้องให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของราคาเป็นอันดับแรก”

แถลงการณ์เฟดที่เคยอ้างถึงการระบาดของโควิด-19 มาตลอดว่าเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจใหญ่สุดที่สหรัฐต้องเผชิญ รอบนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดการทำสงครามกับโควิดอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากสองปีที่ผ่านมาเฟดสร้างความเชื่อมั่นกับครัวเรือนและภาคธุรกิจในการเข้าถึงสินเชื่อ แต่รอบนี้เฟดใช้คำมั่นว่า “การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง” ก็เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี

แนวทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่หนักหน่วงกว่าคาด สะท้อนความกังวลว่าเงินเฟ้อเพิ่มเร็วและอาจอยู่นานกว่าที่เคยคิดกันไว้ ความหวังของเฟดในการถอนนโยบายฉุกเฉินที่เคยใช้รับมือความเสียหายจากโควิดอาจทำไม่ได้ง่ายๆ

หลังแถลงการณ์เฟด ดัชนีหุ้นสำคัญของสหรัฐขยับขึ้น ดัชนีเอสแอนด์พี 500 บวก 2.2% ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุสองปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.002% ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ทะลุ 2.246% สูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ทั้งสองตัวก่อนจะร่วงกลับลงมาที่ 1.948% และ 2.188% ตามลำดับ

หุ้นเอเชียวานนี้ (17 มี.ค.) ขึ้นตามหุ้นวอลล์สตรีท ตลาดโตเกียวปิดบวกกว่า 3% เช่นเดียวกับไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย และเวลลิงตัน ส่วนตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์ โซล มุมไบ และมะนิลาขยับขึ้นกว่า 1%

ด้านหุ้นยุโรปขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด ด้วยนักลงทุนคาดหวังกันมากว่าธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันเพื่อรับมือเงินเฟ้อสูงสุดในรอบหลายสิบปี

ดัชนี FTSE100 ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ขยับขึ้น 0.5% มาอยู่ที่7,330.57 จุด ในยูโรโซน ดัชนี DAX ตลาดแฟรงค์เฟิร์ต เพิ่มขึ้น 0.4% มาอยู่ที่14,500.41 จุด ดัชนี CAC 40 ตลาดหลักทรัพย์ปารีส บวก 0.6% มาอยู่ที่6,628.88 จุด

ทั้งนี้ บีโออีมีกำหนดประกาศอัตราดอกเบี้ยในเวลา 19.00 น. วันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) หนึ่งวันหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ